12 เม.ย. 2020 เวลา 13:23 • ประวัติศาสตร์
บันทึกการเดินทางตามรอยอดีตเมืองสงขลา ตอนที่ 3 นี้ เราจะไปชื่นชมมรดก สงขลาฝั่งแหลมสน
ซึ่งเป็นยุคที่ 2 ของเมืองสงขลา ต่อจากสงขลาหัวเขาแดง
หลังจากสงขลาหัวเขาแดง พ่ายแพ้ต่อกองทัพจากกรุงศรีอยุธยา ชาวสงขลาที่ยังเหลืออยู่ ได้อพยพออกจากเมืองหัวเขาแดง ที่ถูกเผาทำลาย
ภาพถ่ายชุมชนบริเวณวัดสุวรรณคีรี บริเวณสงขลาฝั่งแหลมสน
เมืองสงขลาแหลมสนตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา ซึ่งเป็นอีกฝากฝั่งของภูเขาเดียวกันกับเมืองสงขลาหัวเขาแดง
อำนาจเมืองสงขลาในยุคสมัยของสงขลาแหลมสน ถูกลดอำนาจลงเป็นเพียงเมืองบริวารของเมืองพัทลุง
ชุมชนสงขลาแหลมสนนี้ อาคารบ้านเรือนสร้างแต่เพียงให้อยู่อาศัย อย่างคนสร้างบ้านแปลงเมืองหลังเสร็จศึกสงคราม
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ต่อมาเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2
เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้น คิดแยกตนเป็นอิสระจากส่วนกลาง จึงตั้งชุมนุมของตนขึ้น เรียกขาน ชุมนุมเจ้านคร จากนั้นส่งคนของตนมาปกครองเมืองสงขลา
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเสด็จมาปราบเจ้าเมืองนครผู้นั้นสำเร็จแล้ว จึงแต่งตั้ง พระสงขลา (โยม)ขึ้นเป็นเจ้าเมืองสงขลา แทนคนของเจ้านคร
กาลต่่อมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเห็นว่า พระสงขลา(โยม) หย่อนในการปฏิบัติราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) ขึ้นเป็นเจ้าเมืองสงขลาแทน
หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ(เหยี่ยง แซ่เฮา) เจ้าเมืองสงขลา ต้นสกุล ณ สงขลา
หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง) เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ที่อพยพมาประกอบกิจการในสยาม นายเหยี่ยง เป็นผู้ได้รับสัมปทานรังนก บนเกาะสี่ เกาะห้่า ในทะเลสาบสงขลา ได้รับตำแหน่ง หลวงอินทคีรีสมบัติ นายอากรรังนกบนเกาะสี่เกาะห้า
ต่อมาได้รับพระราชทานเป็นหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองสงขลา จากพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นต้นสายสกุล ณ สงขลา
ตระกูล ณ สงขลา ปกครองเมืองสงขลาต่อมาอีก 8 รุ่น
ในสมัยเจ้าพระยาอินทคีรีศรีสมุทรสงคราม (บุญหุ้ย) เป็นเจ้าเมืองสงขลา ท่านได้มีความดีความชอบในการทำศึกปราบหัวเมืองทางปัตตานี
เจ้าพระยาอินทคีรีศรีสมุทรสงคราม (บุญหุ้ย)
เมืองสงขลาถูกยกขึ้นไปให้เป็นเมืองชั้นเอก ขึ้นตรงกับกรุงเทพมหานคร
เวลานั้น เมืองปัตตานีถูกแบ่งออกเป็น 7 เมือง ได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามันห์ เมืองยะหริ่ง เมืิองสายบุรี เมืองระแงะ และเมืองสตูล ทั้งหมดนี้ให้มาขึ้นกับเมืองสงขลา
ต่อมาเมืองไทรบุรีและตรังกานู ก็มารวมเข้าด้วย
เมืองสงขลาแหลมสนมีโบราณสถานมากมายที่หลงเหลือให้เห็นถึงความสวยงาม
วัดบ่อทรัพย์ อ. สิงหนคร (สงขลาแหลมสน)
บ่อน้ำขนาดใหญ่บริเวณหน้าวัดบ่อทรัพย์
วัดสุวรรณคีรี อ. สิงหนคร (สงขลาแหลมสน)
วัดบ่อทรัพย์และวัดสุวรรณคีรี วัดเก่าแก่คู่เมืองสงขลาแหลมสน สองวัดนี้ตั้งอยู่ใกล้กัน หากเดินทางมาสงขลาแหลมสน สามารถที่จะท่องเที่ยววัดเก่าแก่นี้ได้อย่างต่อเนื่องในคราวเดียว
พระอุโบสถ วัดสุวรรณคีรี
พระอุโบสถประจำวัดสุวรรณคีรีแห่งนี้ มีเอกลักษณ์โดดเด่น ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง เดินขึ้นบันไดไปจะพบพระอุโบสถที่โดดเด่นเคียงคู่กับหอระฆังและเจดีย์ทรงจีน
เบื้องหน้าพระอุโบสถเป็นพื้นหญ้าสีเขียวสบายตา
ระเบียงพระอุโบสถ วัดสุวรรณคีรี
ภาพทิวทัศน์ มองจากบริเวณเบื้องหน้าพระอุโบสถ
หากมาสงขลาแหลมสน อีกหนึ่งจุดเช็คอินที่พลาดไม่ได้คือบ่อเก๋ง ทราบมาว่าชุมชนชาวหัวเขาได้ร่วมแรงร่วมใจพัฒนาการท่องเที่ยวกันอย่างแข็งขัน หากพ้นวิกฤติโรคภัยครั้งนี้ คงต้องไปเยี่ยมชมกันครับ
ซุ้มประตูจีน บ่อเก๋ง
ซุ้มประตูจีน บ่อน้ำจืด และกำแพงเก่า สถานที่แห่งนี้เคยเป็นแหล่งน้ำจืดแห่งหนึ่งให้กับชุมชน สถาปัตยกรรมของซุ้มประตู เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมของหมิ่นหนาน หรือฮกเกี้ยน อันเป็นหลักฐานการตั้งชุมชน ของชาวจีนฮกเกี้ยน ในสงขลา
เมืองสงขลาแหลมสน ตั้งอยู่ได้จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เกิดเหตุขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการอุปโภค บริโภค และมีจำนวนประชากรที่มากขึ้น ประกอบกับไม่สามารถขยายเมืองออกไปได้อีก จึงเกิดการย้ายเมืองเป็นครั้งที่ 3 สู่เมืองสงขลาในปัจจุบัน.... สงขลาบ่อยาง
ตอนต่อไป เราจะข้ามฝากกลับไปดูร่องรอยมรดกของอดีต บนแผ่นดินสงขลาบ่อยางกันต่อครับ
โฆษณา