Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
On the Pitch - ออน เดอะ พิช
•
ติดตาม
13 เม.ย. 2020 เวลา 02:36
15 ปี “Glazer Out” (Part 2/2)
12 กุมภาพันธ์ 2004 การไล่ซื้อหุ้นของครอบครัวเกลเซอร์ยังคงดำเนินต่อไป พวกเขาเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 16.31%
24 มิถุนายน ปีเดียวกัน พวกเขาซื้อหุ้นเพิ่มอีก 2.41 ล้านหุ้น รวมมีหุ้นทั้งหมด 50.27 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 19.2%
สำหรับการเจรจาซื้อขายหุ้นครั้งต่อไป พวกเขาและทีมที่ปรึกษาทางการเงินจากเจ.พี.มอร์แกน (J.P. Morgan) บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินรายใหญ่ของสหรัฐฯ ต้องการเจรจาซื้อหุ้นของแม็กเนียร์และแม็กมานัสทั้งหมด เพื่อกำจัดคู่แข่งคนสำคัญและขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว หากพวกเขาทำได้ก็จะไม่มีใครสามารถมาขวางทางพวกเขาได้อีก
ถึงตรงนี้ผมขออธิบายเพิ่มเติมสักนิดนึงนะครับ การซื้อขายหุ้นโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 วิธี คือ
1. ซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้น ๆ นักลงทุนแต่ละคนไม่ต้องรู้จักกัน แค่ส่งคำสั่งซื้อขายเข้าไปในระบบ ราคาซื้อขายจะเป็นไปตามราคาตลาด แล้วระบบจะจัดการซื้อขาย โอนเงินกันให้เสร็จสรรพ ส่วนมากจะใช้ซื้อขายสำหรับดีลที่ไม่ใหญ่นัก
2. ซื้อขายผ่านการเจรจาโดยตรงกับผู้ถือหุ้นคนนั้น ราคาและปริมาณซื้อขายจะขึ้นกับการตกลงของทั้งสองฝ่าย โดยทั่วไปราคาเสนอซื้อจะสูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ฯ มักจะใช้สำหรับการซื้อขายในดีลใหญ่ ๆ ในกรณีนี้ครอบครัวเกลเซอร์ เริ่มจากการซื้อหุ้นผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ จากนักลงทุนรายย่อย จากนั้นค่อยเข้าเจรจากับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ... ไปต่อครับ
หลังการวางแผนมานานร่วมเดือน การเจรจาเริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2004 มัลคอล์ม พร้อมลูกชาย 2 คน โจล และอัฟราม เกลเซอร์ (ถือหุ้น 19.2%) เข้าร่วมโต๊ะเจรจากับสองเศรษฐีชาวไอริช (ถือหุ้น 28.7%)
ดูเหมือนฝั่งชาวไอริชจะถือไพ่เหนือกว่าจากสัดส่วนการถือหุ้นที่มากกว่า เหมือนชกมวยคนละรุ่น
พ่อลูกเกลเซอร์ไม่รอช้ายื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้นผีแดงที่ราคา 3 ปอนด์ต่อหุ้น มูลค่ารวมประมาณ 230 ล้านปอนด์ และชี้แจงว่าเงินที่นำมาซื้อสโมสรมาจากการกู้เงินเป็นหลัก
ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดี พร้อมน้ำเสียงที่หนักแน่นของสองดูโอ้ไอริช ที่ว่า “การลงทุนในแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดของพวกเราสองคน เป็นการลงทุนระยะยาว”
การเจรจาดำเนินไปอย่างตึงเครียด ยาวนานกว่า 11 ชั่วโมง ไม่มีฝ่ายไหนยอมลดราวาศอกกัน อีกทั้งบอร์ดบริหารของสโมสรยังแสดงความกังวลว่าเงินกู้ดังกล่าวจะสร้างภาระทางการเงินให้แก่ทีมในอนาคต ในวันนั้นการเจรจาก็สิ้นสุดลงพร้อมความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า
จากความล้มเหลวในการเจรจา พ่อลูกเกลเซอร์โกรธและเสียหน้ามาก พวกเขาต้องหาทางทำอะไรสักอย่างเพื่อดึงโมเมนตัมกลับมา
ในเช้าวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2004 มีรายงานว่าเงินสดมูลค่า 17 ล้านปอนด์ ถูกจ่ายเพื่อชำระค่าหุ้นของทีมผีแดง ส่งผลให้ครอบครัวเกลเซอร์ ถือหุ้นของทีม 28.11% ใกล้เคียงกับคู่หูชาวไอริชและเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้อีกฝ่ายว่าตอนนี้พวกเขาเลื่อนชั้นขึ้นมาชกในรุ่นเดียวกันแล้ว
การซื้อขายครั้งนี้ถูกเปิดเผยโดย เจ.พี.มอร์แกน บริษัทที่ปรึกษาของเกลเซอร์เอง ซึ่งหนึ่งในทีมที่ปรึกษาในการเจรจาซื้อขายนี้ เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เอ็ด วู๊ดเวิร์ด (Ed Woodward) ที่ในอนาคตจะกลายร่างมาเป็น CEO ของปีศาจแดงแห่งรั้วโอลด์แทรฟฟอร์ด
อย่างไรก็ตามกฏการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหุ้นลอนดอนกำหนดให้ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเกิน 30% จะสามารถยื่นข้อเสนอ takeover ได้ ทำให้ข้อเสนอซื้อกิจการอย่างเป็นทางการของครอบครัวเกลเซอร์ยังไม่เกิดขึ้น
ก้าวต่อไปของเกลเซอร์เพียงแค่ไล่ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย ก็เป็นที่แน่นอนว่าจะทำให้พวกเขาถือหุ้นเกิน 30% ได้อย่างแน่นอน
กระนั้นการเข้าครอบครองกิจการของเกลเซอร์ถูกต่อต้านอย่างหนักจากสาวกผีแดง แฟนผีแดงบางส่วนเลิกซื้อตั๋วปี (Season ticket) ของสโมสร
บางคนให้สัมภาษณ์ออกสื่อว่า “เขาจะไม่ยอมให้เงินสักแดงแก่ครอบครัวเกลเซอร์”
และกลุ่มแฟนพันธ์ุแท้ของทีมภายใต้ชื่อ Manchester United Supporters' Trust หรือ Shareholders United เชิญชวนให้สาวกผีแดงร่วมกันซื้อหุ้นของสโมสรเพื่อป้องกันการถูก takeover ครั้งนี้
ในเดือนเมษายน 2005 บอร์ดบริหารของสโมสร นำโดยเซอร์รอย การ์เนอร์ และเดวิด กิลล์ CEO ของทีม ออกจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ถือหุ้นใจความว่า “บอร์ดบริหารของสโมสรมองว่าแผนธุรกิจของครอบครัวเกลเซอร์มีความเสี่ยงมากเกินไป จากการก่อหนี้ในระดับสูง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่การดำเนินธุรกิจของทีมได้” แน่นอนว่าจดหมายฉบับนี้ ไม่ถูกใจครอบครัวเกลเซอร์
แม้จะมีการต่อต้านจากลุ่มแฟนบอลและข้อกังวลจากบอร์ดบริหาร แต่แผนการครอบครองสโมสรของครอบครัวเกลเซอร์ก็ยังคงดำเนินต่อไป
โดยที่เส้นตายถูกกำหนดไว้ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2005 ทุกอย่างจะต้องเสร็จสิ้น
ก่อนการเปิดฉากการเจรจาครั้งสำคัญ พ่อลูกเกลเซอร์ ได้จดทะเบียนบริษัทใหม่ชื่อ “Red Football Limited” เพื่อเข้าถือหุ้นและบริหารงานของสโมสรในอนาคต
จากนั้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2005 ก่อนถึงกำหนดเส้นตายเพียง 5 วัน พวกเขาหันกลับไปเจรจากับสองนักธุรกิจไอริชอีกครั้ง
ครานี้จากสัดส่วนการถือหุ้นที่ทัดเทียมกันและการผิดใจกันกับท่านเซอร์อเล็กซ์ฯ ในเรื่องม้า ม้า (แน่นอนว่าบารมีของท่านเซอร์ฯ ยิ่งใหญ่พอที่จะทำให้บอร์ดบริหารและแฟนบอลพร้อมจะหนุนหลังบรมกุนซือได้อย่างไม่ยากเย็นนัก)
แรงกดดันถาโถมกลับไปทางฝั่งสองเศรษฐีไอริช อีกทั้งพ่อลูกเกลเซอร์และทีมงานได้นำเสนอแผนการฉบับใหม่ที่ลดสัดส่วนการกู้ลง เพื่อคลายแรงกดดันจากบอร์ดบริหารของทีม แต่ก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนการกู้ที่สูงอยู่
ทำให้ดูเหมือนไม่มีอะไรจะหยุดครอบครัวเกลเซอร์ได้ Red Football Limited แถลงความสำเร็จในการซื้อหุ้นของสองมหาเศรษฐีชาวไอริช ในราคาหุ้นละ 3 ปอนด์ (ราคาเท่ากับที่เสนอซื้อครั้งก่อน) ทำให้พวกเขามีความเป็นเจ้าของทีมผีแดง 56.9% และสองเศรษฐีไอริช ฟันกำไรจากดีลนี้ ไม่ต่ำกว่า 80 ล้านปอนด์
ในวันเดียวกันหลังบรรลุข้อตกลงกับสองชาวไอริช เกลเซอร์ได้บรรลุข้อตกลงคว้าหุ้นอีก 6.5% ของกลุ่มของแฮร์รี่ ด็อบสัน ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ของทีม
และอีก 7% ของผู้ถือหุ้นรายย่อย มาไว้ในครอบครอง ภายในวันนั้นครอบครัวเกลเซอร์มีสัดส่วนการถือหุ้นทะลุ 70% ขาดอีกเพียงไม่ถึง 5% ก็จะครบ 75% ก็จะทำให้พวกเขาจะสามารถนำหุ้นของสโมสรออกจากการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนได้ทันที
อำนาจเงินของครอบครัวเกลเซอร์สร้างความกังวลและความไม่แน่นอนในตำแหน่งของทีมบริหารของยูไนเต็ดไม่ใช่น้อย
ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2004 ขณะที่พวกเขาถือครองหุ้นอยู่ 28.11% เกลเซอร์จัดการปลดกรรมการบอร์ด 3 คนรวด เพื่อปูทางให้ลูกชายของเขาเข้ามามีบทบาทในสโมสรมากขึ้น
ภายหลังที่ครอบครัวเกลเซอร์ถือครองหุ้นกว่า 70% ของสโมสร เก้าอี้ของบอร์ดบริหาร CEO รวมไปถึงตำแหน่งผู้จัดการทีมของเซอร์อเล็กซ์ฯ ก็ไม่มีอะไรแน่นอนอีกต่อไป
ด้วยอำนาจเงินและสัดส่วนความเป็นเจ้าของที่ทิ้งห่างผู้ถือหุ้นรายอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น ณ ตอนนี้พวกเขามีสิทธิเต็มที่ในการกำหนดทิศทางของสโมสร จะเปลี่ยนชื่อสโมสรก็ยังทำได้ แต่ยังโชคดีที่เหตุการณ์ทำร้ายจิตใจแฟนบอลแบบนั้นไม่เกิดขึ้น
เพียงไม่กี่วันจากวันที่ 12 พฤษภาคม บอร์ดบริหารถูกเจ้านายใหม่สั่งให้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ถือหุ้นรายที่เหลือให้ยอมรับข้อเสนอของครอบครัวเกลเซอร์
ซึ่งในจดหมายระบุว่า “บอร์ดบริหารแนะนำให้ผู้ถือหุ้นทุกท่านรับข้อเสนอของครอบครัวเกลเซอร์ เนื่องจากพวกเขาได้ครอบครองหุ้นส่วนใหญ่ของสโมสรแล้ว แต่บอร์ดบริหารไม่ได้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อดีลนี้แต่อย่างใด”
แน่นอนครับในเดือนมิถุนายน หนึ่งเดือนหลังจากที่เกลเซอร์ครอบครองหุ้นส่วนใหญ่ของสโมสร เซอร์รอย การ์เนอร์ หนึ่งในบอร์ดบริหารที่เป็นแกนนำในการร่อนจดหมายถึงผู้ถือหุ้น ประกาศลาออกจากตำแหน่ง
โดยถูกแทนที่ด้วยลูก ๆ ของมัลคอล์ม เกลเซอร์ จากนั้นครอบครัวเกลเซอร์ก็เข้าถือครองหุ้นจนเกิน 75% ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก พร้อมเดินเรื่องขอนำหุ้นของสโมสรออกจากตลาดหุ้นลอนดอนในทันที
การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกดดันให้ผู้ถือหุ้นส่วนที่เหลือต้องขายหุ้นให้ครอบครัวเกลเซอร์เท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะขายหุ้นให้นักลงทุนคนอื่น ส่งผลให้ภายในเวลาอีกไม่ถึงเดือนครอบครัวเกลเซอร์ก็ได้ครอบครองหุ้นของทีมกว่า 98%
ภายหลังที่ฝุ่นควันของการ takeover เริ่มจางลง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องแบกรับภาระหนี้เงินต้นกว่า 559 ล้านปอนด์ ที่ครอบครัวเกลเซอร์กู้มาซื้อสโมสร พร้อมทั้งภาระดอกเบี้ยอีกกว่า 460 ล้านปอนด์ รวมเบ็ดเสร็จสโมสรต้องผ่อนจ่ายไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านปอนด์
แฟนบอลผู้ขายวิญญาณให้ทีมตราปีศาจสามง่ามทำแคมเปญต่อต้านเกลเซอร์อย่างหลากหลาย ทั้งเดินขบวนหน้าสโมสร เขียนป้ายสรรเสริญตระกูลเกลเซอร์
ตั้งทีมฟุตบอลใหม่ ชื่อ “Football Club United of Manchester” เพื่อจะมาแข่งกับทีมรักของพวกเขา
ร่วมกันใส่เสื้อทีมเหลืองเขียวเข้าไปเชียร์ในสนาม สีสัญลักษณ์สมัยก่อตั้งสโมสร เพื่อแสดงความรักในกีฬาฟุตบอลโดยไม่ได้หวังจะมาสูบเงินของสโมสรเหมือนเจ้าของใหม่
และเสียงตะโกน “Glazer out Glazer out Glazer out” ที่ดังกระหึ่มไปทั่วทั้งโรงละครแห่งความฝัน ได้เริ่มดังกึกก้องทั้งในสนามตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้กว่า 15 ปี ที่สาวกผีแดงทั่วทุกมุมโลกหวังว่า “Glazer Out” จะกลายเป็นจริง
- ถ้าชอบ กด Like + Share + Comment เป็นกำลังใจสำหรับเรื่องเล่าเรื่องต่อไปครับ
- FB: OnthePitchTH >>>
https://www.facebook.com/OnthePitchTH
- หวังว่าจะมีความสุขกับการอ่านนะครับ -
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย