Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คลังความรู้ by SpokeDark
•
ติดตาม
13 เม.ย. 2020 เวลา 06:18 • การเมือง
ทุนนิยมคืออะไร?
เริ่มกันที่คำจำกัดความ “ทุนนิยม” หรือ Capitalism แปลว่า “ระบบเศรษฐกิจที่ผลิตเพื่อทำกำไร เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล” ก็คือระบบที่ให้คนอย่างคนอย่างเราๆ นี่แหละ สามารถหาเงินและครอบครองทรัพย์สิน มีรถ มีบ้าน มีที่ดิน ได้ หรือครอบครองปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น ป้าแดงที่ขายข้าวตามสั่ง เขามีสิทธิ์เป็นเจ้าของเนื้อหมูสับ และเค้าก็เอามาผัดกะเพราขายเราเป็นเงินอีกทีนึง
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
“ทุนนิยม” เริ่มมองเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ในยุคสมัยที่ระบอบศักดินาเริ่มเสื่อมถอย แล้วระบอบศักดินาคืออะไร? ก็คือระบอบเจ้าขุนมูลนาย ลองจินตนาการถึงนิทานยุคอัศวิน ทั้งประเทศเป็นของๆ คนคนเดียวซึ่งก็คือพระราชา แล้วพระราชานั้นก็แบ่งที่ดินให้ลูกน้อง ซึ่งก็คือ ขุนนางหรือไม่ก็อัศวิน สิ่งที่มีค่าที่สุดในระบอบศักดินาก็คือ ที่ดิน
พระราชาใช้ที่ดินแลกกับความจงรักภักดี การสนับสนุนยามศึกสงคราม และ เก็บภาษีจากขุนนางด้วย ขุนนางก็ใช้ที่ดินนั้นเป็นแหล่งสร้างรายได้ และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ เพื่อส่งส่วยให้พระราชาต่อไปตรงนี้แหละที่พวก “Serf” หรือว่าไพร่ หรือ เรียกง่าย ๆ ว่าชาวบ้าน ก็จะมีบทบาท นั่นก็คือ จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็ต้องทำงานในที่ดินของขุนนาง คือ ทำการผลิตนั่นเอง
ถามว่าชาวบ้านหรือ Serf ได้อะไร ? ก็ได้ความคุ้มครอง ไม่ให้โจรผู้ร้ายมา จี้ปล้น เพราะในยุคกลางของยุโรปที่เป็นยุคศักดินาเฟื่องฟู หนทางอยู่รอดก็ต้องสวามิภักดิ์กับนักเลงที่จะคุ้มครองเราได้ อีกอย่าง พวก Serf หรือไพร่เหล่านี้ เป็นมนุษย์ติดที่ดิน คือ อยู่ตรงไหนก็ต้องอยู่ตรงนั้น ห้ามย้ายถิ่น ห้ามเก็บของย้ายไปขอขึ้นกับขุนนางคนอื่น เกิดมาอยู่ตรงไหนก็ต้องตายตรงนั้น ไม่ใช่ทาสแต่ก็ไม่ได้สูงกว่าทาสมากนัก
ระบอบศักดินาเริ่มล่มสลายเมื่อยุโรปเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ หรือ เรอเนสซองส์ ไพร่หรือ Serf เริ่มจะย้ายถิ่นฐานและครอบครองทรัพย์หรือเช่าที่ดินทำกินเองได้ การพัฒนาทางการเดินเรือ การธนาคาร และการค้าขายและเทคโนโลยีทางการผลิตที่บูมขึ้นทำให้เกิดชนชั้นใหม่ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากนั่นก็คือชนชั้นพ่อค้า หรือนายทุนนั่นเอง
เราอาจจะพอมองเห็นเลา ๆ แล้วว่า ทุนนิยมมันมาพร้อมกับเสรีภาพ พอคนมีเสรี ก็เริ่มเป็นเจ้าของสินทรัพย์ได้เองบ้าง ก็อยากทำงานมากขึ้น เกิดสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งก็คือจุดกำเนิดของทุกสรรพสิ่งนั่นก็คือ “แรงจูงใจ” (หรือเรียกอีกอย่างว่า กิเลส นั่นเอง) เป็นแรงกระตุ้นที่อยากจะมีกำไร ยิ่งทำเยอะก็ยิ่งรวย สามารถสะสมสินทรัพย์ของตัวเองไปต่อยอดได้อีก
เมื่อเวลามาถึงศตวรรษที่ 18 ที่ประเทศอังกฤษ มีการผลิตเครื่องจักรไอน้ำขึ้นมา เป็นประดิษฐกรรมที่พลิกประวัติศาสตร์ เราเรียกช่วงนี้ว่า “ยุคปฎิวัติอุตสาหกรรม” เพราะว่ามันเปลี่ยนโลกทั้งใบ เกิดเครื่องจักรที่ผลิตสินค้าได้ทีละมากๆ มีโรงงานระบบสายพาน มีของคุณภาพดีขึ้น จำนวนมากขึ้น เพียงพอกับทุกคน ของมีมากของก็ถูกลงได้มาก ทำให้คนอยู่ดีกินดีมากขึ้น มีงานทำ ไม่ต้องทำนาแล้ว ตัวอย่างอุตสาหกรรมที่สำคัญในยุคแรกก็คือสิ่งทอ โรงหล่อเหล็ก และก็รถไฟ ที่ทำให้โลกเราแคบลงไปมากอย่างนึกไม่ถึง
ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก็เข้ามาแทนที่ระบบเศรษฐกิจแบบศักดินา ทุกคนมีเสรีภาพในการที่จะหาเงิน หากำไร และเป็นเจ้าของทรัพย์ และ ทรัพยากรในการผลิต
ในปัจจุบันอาจจะฟังดูเฉย ๆ แต่คุณต้องระลึกไว้ด้วยว่า ก่อนนั้นคนเราเกิดมาตรงไหนก็ต้องอยู่ตรงนั้น มีหน้าที่ทำอะไรเช่น ปลูกข้าว หรือ เลี้ยงวัว หรือซ่อมหลังคา ก็ต้องทำแค่นั้น ห้ามคิดไปหาอะไรที่ดีกว่า และทุนนิยมจะมีไม่ได้เลยถ้าไม่มีเสรีภาพ เสรีภาพมันก็มีหลายระดับ แต่ถ้าคุณเริ่มต้นจากระบบไพร่ติดที่ดิน การสามารถย้ายถิ่นฐาน ย้ายตำบลอำเภอได้ มันก็ถือเป็นเสรีภาพแล้ว
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
“อดัม สมิธ” นักเศรษฐศาสตร์การเมืองตัวพ่อแห่ง “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม” อธิบายไว้ตั้งแต่ 200 กว่าปีก่อนว่า เขาเชื่อว่าจากเดิมที่บรรดาประเทศมหาอำนาจต่างๆ มีความคิดที่ว่ายิ่งรัฐบาลถือครองทองคำ เงินตรามากเท่าไหร่ก็แปลว่าประเทศมั่งคั่งเท่านั้น แต่อดัม สมิธมองว่าสิ่งที่เป็นตัวชี้ถึงความมั่งคั่งจริงๆ คือ “กำลังการผลิต” หรือ “ขนาดเศรษฐกิจ” ต่างหากที่จะเป็นตัวแทนของความมั่งคั่งที่แท้จริง
อธิบายง่ายๆ ก็คือประเทศควรจะต้องหาเงินผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจแบบเสรีถึงจะรวยจริง ไม่ใช่แค่รัฐบาลเก็บภาษีฝ่ายเดียวทำเป็นแค่ใช้เงิน แล้วซื้อเรือดำน้ำได้เป็นสิบๆ ลำ แบบนั้นไม่เรียกเจริญ
อดัม สมิธ ไม่ค่อยชอบการเข้ามาแทรกแซงเศรษฐกิจมากเกินไป เขาเชื่อว่าปล่อยให้คนค้าขายเองมันจะเจริญกว่า เขาอธิบายโดยสมมติว่าระบบเศรษฐกิจเสรีมันมี“มือที่มองไม่เห็น” อยู่
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดมีสินค้าชนิดนึงขาดแคลนขึ้นมา สมมติว่าเป็น กางเกงใน ถ้ากางเกงในขาดตลาด กางเกงในก็จะแพงขึ้น พอมันแพงคนก็จะซื้อน้อยลง หันไปใส่อย่างอื่นทดแทนกางเกงใน (หรือไม่ใส่เลย) พอปล่อยไว้แบบนั้น ปริมาณกางเกงในในตลาดก็จะเพิ่มขึ้น แล้วก็จะเกิดการแข่งขันของผู้ผลิตกางเกงใน ก็จะทำให้ราคาสินค้าตกลงมาเอง จนถึงระดับต้นทุนบวกกำไรนิดหน่อยแบบที่เหมาะสมของมัน นี่แหละมือที่มองไม่เห็น คือรัฐไม่ต้องกลัวว่ามันจะแพงไปเรื่อยๆ จนคนจะไม่มีกางเกงในใส่กันทั้งโลก ปล่อยไว้เดี๋ยวมันก็ดีเอง
ข้อดีของการใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หลักๆ เลยก็จะเป็นในเรื่องของการแข่งขันพัฒนาสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อจูงใจผู้บริโภค ทำให้เทคโนโลยีต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรม การแพทย์ การคมนาคม การสื่อสาร หรือแม้แต่ชีวิตประจำวันของเราพัฒนากันแบบก้าวกระโดด
ย้ำอีกครั้งการแข่งขันสำคัญจริงๆ ไม่มีมันเราด้อยพัฒนาแน่ๆ ดูตัวอย่างได้จากยุโรปในยุคศักดินา ซึ่งมีพัฒนาการต่ำตมมาก เพราะมีคนจำนวนมากไม่ทำอะไรเลยนอกจากรับใช้คนส่วนน้อย คนส่วนน้อยก็อยู่กันสบายแฮ ไม่มีการแข่งขัน ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนคิดพัฒนาอะไร คิดแค่เอาใจคนข้างบนต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อรักษาสถานะเท่านั้น จะอยากพัฒนาเพื่อ ?
แน่นอน เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างที่มีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย ถามว่าข้อเสียของระบบทุนนิยมคืออะไร? ปัญหาคลาสสิคก็คือ “รวยกระจุก จนกระจาย” ถ้าไม่มีการควบคุมเลย ปล่อยให้คนมือยาวสาวได้สาวเอาแบบสุดขั้ว จะทำให้เกิดปัญหาได้ คนจนก็จนเอาจนเอา ไต่เต้าไม่ได้แบบที่โม้ไว้ว่าเป็นระบบเสรี บางประเทศมีช่องว่างที่ใหญ่มาก!!! ชนิดที่ว่าคนรวย 1% กลับมีทรัพย์สินมากถึง 60-70% ของทรัพย์สินทั้งประเทศ ซึ่งก็ได้แก่ประเทศไทยนี่แหละ!
ถามว่าช่องว่างมาจากไหน? ก็เพราะว่าลูกจ้างต้องเป็นทั้งแรงงานผลิตให้นายทุน และเป็นผู้บริโภคไปด้วยพร้อมๆ กัน คือต้องทำงานเพื่อมีเงินซื้อของให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แต่ของที่ว่าก็เป็นของที่ผลิตโดยพวกนายทุนอยู่ดี แถมนายทุนก็อยากทำกำไร ก็เลยต้องกดค่าจ้างต่ำๆ อีก กลายเป็นว่างูกินหาง เงินก็ไหลไปกองอยู่กับนายทุนอยู่ฝ่ายเดียว ยิ่งจนยิ่งเก็บเงินไม่ได้ เพราะต้องบริโภคเรื่อยๆ เลยไม่มีทางรวยถึงแม้จะทำงานหนักมาก
และจะเลวร้ายยิ่งกว่า พอไม่เหลือใครที่มีเงินซื้อของของนายทุนได้อีกแล้ว นายทุนที่ขายของยากขึ้น ก็จะพยายามแย่งกันเข้าไปเป็นเจ้าของสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้จริงๆ เช่น บ้าน น้ำ ไฟฟ้า การรักษาพยาบาล ขนส่งมวลชน การศึกษา ทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยการคอรัปชั่น ขึ้นชื่อว่าทำโดยนายทุน มันต้องทำให้มันมีกำไร แต่ผู้บริโภคไม่มีเงินจะซื้อแล้วทำอย่างไรล่ะ? ง่ายๆ ก็ต้องไปกู้มา แล้วใครให้กู้!? ก็นายทุนไง! พังกันไปอีก พอไม่มีใครจ่ายหนี้ได้เลย ระบบก็พัง ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่าเศรษฐกิจล่มสลายนั่นเอง!
เพราะแบบนี้ในประเทศที่เจริญแล้ว (หรือยังมีความคิดอยากจะเจริญอยู่) ก็จะปกป้องให้กิจการอันเป็นเสาหลักในการดำเนินชีวิตเหล่านี้เป็นสวัสดิการรัฐ ไม่ว่าจะเป็น นำ้ประปา ไฟฟ้า การศึกษา การคมนาคม ต้องเก็บภาษีคนรวยเยอะๆ เพื่อเพื่อนำมาอุดหนุนกิจการต่าง ๆ เหล่านี้ และต้องปกป้องค่าแรงด้วย จะเอากำไรอย่างเดียวจะพากันไปไม่รอดทั้งประเทศ
ตัวอย่างที่ดีก็คือประเทศในแถวสแกนดิเนเวีย ตัวอย่างที่เลวร้ายก็คือสหรัฐอเมริกาที่มีคนแก่อายุ 80 ยังใช้หนี้กยศ.ไม่หมด และมีประธานธิบดีที่อยากจะยกเลิกระบบประกันสุขภาพตลอดเวลา
สรุปสุดท้าย! เอาเป็นว่าลำพังระบบทุนนิยมเองเราก็คงไปโทษมันไม่ได้หรอก เพราะมันมาพร้อมกับเสรีภาพและโอกาสที่มีให้ทุกคน มันทำให้เราไม่อดอยาก มันมาพร้อมกับนวัตกรรมที่ผลักดันโลกไปข้างหน้า แต่สุดท้ายมันก็เป็นแค่ระบบ จะดีจะเลวอยู่ที่การวางแผนมากกว่า เหมือนเวลาเครื่องบินตก เราก็ไม่ได้โทษว่าแรงดึงดูดของโลกคือสาเหตุ แต่เราจะแก้ปัญหากันยังไงก็ขึ้นอยู่กับคนในแต่ละสังคมจะคิดหาวิธีมาสร้างสมดุลให้ระบบของตัวเองอย่างไรมากกว่า
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
ทุนนิยมคืออะไร?
5 บันทึก
4
1
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติศาสตร์ สงคราม และการปกครอง
5
4
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย