18 เม.ย. 2020 เวลา 12:30 • การเมือง
Utopia or Dystopia: ทำไมสังคมในอุดมคติของลัทธิคอมมิวนิสต์จึงไม่เคยเกิดขึ้นจริง ?
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในภาพวาดโลกอนาคตในอุดมคติที่คนในหลายยุควาดฝัน จะประกอบไปด้วยสังคมที่มีความเสมอภาค มีเทคโนโลยีก้าวหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์อย่างถ้วนหน้า แต่มันคงเป็นไปไม่ได้เลยหากสังคมนั้นมีรากฐานมาจากรูปแบบสังคมในปัจจุบัน หรือแม้แต่ในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบไปด้วยการแบ่งแยกชนชั้น และการเข้าเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตแต่เพียงผู้เดียวของเอกชนผู้มั่งคั่ง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงจึงมิอาจถูกสร้างขึ้นได้
แนวคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยเหตุผลนี้ Karl Marx นักปรัชญาชาวเยอรมันเชื่อว่าสังคมคอมมิวนิสต์ยุคแรกมาจากการอยู่ร่วมกันแบบชนเผ่า โดยสมาชิกแต่ละคนแยกย้ายออกไปล่าสัตว์ หาของป่า แล้วนำมารวมเป็นกองกลางก่อนจะแบ่งเป็นส่วนสำหรับคนในชนเผ่า แต่เมื่อสามารถหาทรัพยากรได้มากจนเหลือใช้ ก็ทำให้เกิดการกักเก็บและเกิดระบบความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินขึ้น มนุษย์จึงไม่คิดจะแบ่งบันทรัพย์สินให้เป็นส่วนรวมโดยไม่มีของมาแลกเปลี่ยนอีกต่อไป
ในปี ค.ศ. 1516 นักประพันธ์และนักกฎหมายชาวอังกฤษนามว่า Thomas More ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Utopia เนื้อหาพรรณนาถึงสังคมในอุดมคติที่เต็มไปด้วยความสงบสุขบนเกาะในจิตนาการแห่งหนึ่ง โดยประชาชนมีความเป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สินและมีผู้บริหารจัดการอย่างมีเหตุผลและเที่ยงธรรม วรรณกรรมเรื่อง Utopia นี้จัดเป็นแนวคิดคอมมิวนิสต์อย่างไม่ต้องสงสัย และยังเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยมอีกด้วย แตกต่างจากภาพของคอมมิวนิสต์ปัจจุบันที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนนิยมความรุนแรงและเผด็จการป่าเถื่อน
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?
ภาพลักษณ์อันน่าหวาดกลัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ถูกสร้างขึ้นในยุคเผด็จการเรืองอำนาจอย่างช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นเวลาเดียวกับเหตุการณ์ปฏิวัติในรัสเซียจนก่อตั้งเป็นสหภาพโซเวียต ยาวนานมาจนถึงการสิ้นสุดของสงครามเย็น เนื่องจากการใช้กำลังปฏิวัติและมีผู้นำที่ใช้วิธีกำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างเลือดเย็นนี้เอง จึงเป็นที่มาของการมองคอมมิวนิสต์ในทางลบเสียส่วนใหญ่
ตามอุดการณ์อันแน่วแน่ของ Karl Marx มองเห็นว่าวิธีที่จะช่วงชิงการปกครองมาจากระบอบทุนนิยม จำเป็นต้องมีการปฏิวัติเกิดขึ้นเพื่อปลดปล่อยชนชั้นกรรมกรออกจากพันธนาการของนายทุนทั้งหลาย และการวางโครงสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมขึ้นมาใหม่ ก็จะสามารถก่อร่างสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ที่ดีขึ้นมาได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น แน่นอนว่าการจะนำพาสังคมไปในทิศทางหนึ่งจำเป็นต้องมี ‘ผู้นำ’ และเมื่อมีผู้นำก็หนีไม่พ้นที่จะมี ‘ผู้เห็นต่าง’ จากแนวคิดนั้นเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
สังคมคอมมิวนิสต์ในทางปฏิบัติกลับตาลปัตรจากความเท่าเทียมกลายเป็นสังคมทีมีความเหลื่อมล้ำอย่างสุดโต่ง เมื่อชนชั้นผู้นำได้รับทรัพยากรจากประชาชนมาแล้วกลับไม่จัดสรรออกมาอย่างเท่าเทียม แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเมื่อแนวคิดดังกล่าวอยู่ในมือของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ อันประกอบไปด้วยความโลภ ความเกลียดชัง และความกลัว
1
ไม่มีทางที่ผู้กุมอำนาจบริหารทรัพยากรทั้งร้อยพันคนจะขาวสะอาดและเปี่ยมด้วยความเที่ยงธรรมไปเสียหมด ไม่มีทางที่ประชาชนทุกคนจะยอมรับระบบที่เปลี่ยนไป เมื่อศัตรูทางการเมืองเกิดขึ้นผู้มีอำนาจย่อมไม่นิ่งเฉย การกำจัดคนที่เห็นต่างนี้เป็นกลไกของผู้นำเผด็จการทุกรูปแบบแม้ไม่ใช่กลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ตาม กระทั่งเมื่อคนหนึ่งหายไป คนที่เหลือจึงค่อย ๆ เงียบเสียงลง
จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์แบบอย่างในวรรณกรรมถูกสร้างขึ้น ตรงกันข้ามมันกลับเป็นแนวคิดที่ถูกมองในแง่ร้าย
ข้อเตือนใจสำคัญจากการศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้เห็นว่าแนวคิดที่สุดโต่ง มักไม่ได้ผลเมื่อนำมาใช้ในสังคมจริงที่มีตัวแปรและความแตกต่างมากมายมหาศาล ทางที่จะร่วมกันสร้างสิ่งที่ใกล้เคียงขึ้นมามีเพียงยอมรับความแตกต่างของกันและกัน และมองหาจุดทุกฝ่ายสามารถยืนอยู่ร่วมกันได้
อ้างอิงจาก :
#STORY
โฆษณา