13 เม.ย. 2020 เวลา 07:46 • การศึกษา
🌟หลักการเลือกสำนักปฏิบัติธรรม
ถาม : ปัจจุบันนี้มีสำนักปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งแต่ละแห่งต่างก็บอกว่าสำนักของตนดีทั้งนั้น เราจะทราบได้อย่างไรว่าสำนักไหนดีจริงครับ ❓
ตอบ : ก่อนที่จะเลือกสำนักปฏิบัติธรรมใด ถ้าจะให้ดี คุณโยมควรหาความรู้จากพระไตรปิฎกเสียก่อน เพื่อจะได้เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติตัวต่อไปข้างหน้า และยังเป็นหลักในการเลือกสำนักปฏิบัติธรรมอีกด้วย เพราะว่าในพระไตรปิฎกนั้น ได้รวบรวมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้อย่างเรียบร้อยบริบูรณ์
วิธีเลือกสำนักปฏิบัติธรรมที่ดี
เมื่อมีความรู้ขั้นพื้นฐานจากพระไตรปิฎกอย่างดีแล้ว จากนั้นจึงค่อยไปเลือกสำนักสำหรับปฏิบัติธรรม ซึ่งมีหลักง่าย ๆ คือ ให้ดูเจ้าสำนักเป็นเกณฑ์ ว่าเจ้าสำนักประพฤติปฏิบัติตนตรงตามพระไตรปิฎกหรือไม่
ถ้าพบว่าท่านใดประพฤติปฏิบัติตนเรียบร้อยบริบูรณ์ เหมือนอย่างที่ได้อ่านจากพระไตรปิฎก ก็เลือกสำนักนั้น เป็นสำนักที่คุณจะมอบกายถวายชีวิตเป็นลูกศิษย์ ให้ท่านช่วยอบรมเคี่ยวเข็ญต่อไป
แต่อย่างไรก็ตามโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว โอกาสที่จะได้เข้าไปสนทนา เข้าไปใกล้ชิดกับเจ้าสำนักต่าง ๆ บางทีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่ายิ่งเป็นสำนักใหญ่ เจ้าสำนักท่านก็มีงานที่ต้องอยู่ในภาระรับผิดชอบมาก เพราะฉะนั้นอาจจะลองศึกษาจากการประพฤติปฏิบัติตนของลูกศิษย์ที่อยู่ใกล้ชิดท่าน ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ หรือเป็นฆราวาสก็ได้ โดยสังเกตรวม ๆ ใน ๖ เรื่องต่อไปนี้
💎คุณสมบัติของสำนักปฏิบัติธรรมที่ดี
คุณสมบัติ ๖ ประการของเจ้าสำนัก หรือว่าลูกศิษย์ในสำนักปฏิบัติธรรมที่ดี ที่ได้มาตรฐานจริงๆ จะต้องมี คือ
⛳️๑.ไม่ว่าร้าย คือ ไม่มีนิสัยชอบว่าร้าย หรือกล่าวโจมตีการปฏิบัติธรรมของสำนักอื่น เพราะถ้ายังมีนิสัยชอบว่าร้ายอยู่ แสดงว่าคุณธรรมในตัวท่านยังมีไม่พอ เมื่อเป็นอย่างนี้ท่านจะมาสอนเราได้อย่างไร
⛳️๒.ไม่ทำร้าย คือ ไม่มีนิสัยในลักษณะที่เรียกว่า นักเลง เช่น ชอบทำร้าย ชอบข่มขู่ผู้อื่น เป็นต้น ท่านควรจะมีวิธีการสอนประเภทที่เรียกว่า ให้เหตุให้ผลอย่างลุ่มลึกไปตามลำดับ ไม่ใช่ไปบังคับ หรือข่มขู่ให้ใครเชื่อ
⛳️๓.สำรวมในศีลและมารยาท คือ สังเกตว่าศีลและมารยาทของท่านดีงาม สมกับที่จะเป็นพระอาจารย์สอนเราหรือไม่ สำหรับเรื่องมารยาทและศีลที่ดีงามนี้ ให้นำมาเปรียบเทียบกับข้อความในพระไตรปิฎก ที่เราได้ศึกษามาอย่างดีแล้ว ไม่ใช่ถือเอาความถูกใจของเราเป็นเกณฑ์ เอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์จึงจะใช้ได้
⛳️๔.รู้จักประมาณในการบริโภค คือ ดูไปจนกระทั่งถึงเรื่องอาหาร การขบฉัน ว่าคนในสำนักนี้ มีนิสัยในเรื่องการบริโภคอาหารเป็นอย่างไร หากพบว่ามีการบริโภคอาหารกันอย่างฟุ่มเฟือย หรือว่ามีความเคร่งครัดในการบริโภคอาหารกันอย่างสุดโต่ง อย่างนี้ให้รีบถอยออกมาโดยเร็ว
⛳️๕.สถานที่สะอาดและสงบ คือ ดูให้ถึงสถานที่ปฏิบัติธรรมของเขาจริง ๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร หากมีลักษณะหรูหราเกินไป เราอาจจะติดนิสัยฟุ้งเฟ้อกลับมาได้ แต่ว่าถ้ามีลักษณะซอมซ่อจนเกินไป ปล่อยให้สกปรกรกรุงรัง อย่างนั้นก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ทรงเคร่งครัดในเรื่องความสะอาด ความมีระเบียบ ตลอดจนกระทั่งความร่มรื่นของสถานปฏิบัติธรรมมาก
⛳️๖.สมาชิกในสำนักรักการปฏิบัติธรรม คือ ดูว่าคนในสำนักมีการฝึกสมาธิกันมากแค่ไหน ถ้าฝึกสมาธิแค่วันละ ๑-๒ ชั่วโมง หรือว่าฝึกกันไปตามมีตามเกิด อย่างนั้นคุณอย่าเพิ่งไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่านเลย เพราะว่าผู้ที่ตั้งใจฝึกสมาธิอย่างจริงจังเท่านั้น จึงจะสามารถรักษาคุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ได้สมบูรณ์
เพราะฉะนั้น สำนักปฏิบัติธรรมที่ดี ต้องมีการฝึก การสอน การอบรมสมาธิอย่างจริงจัง ทั้งตัวเจ้าสำนักเองก็ทุ่มเทในการฝึกสมาธิ และสมาธิที่ฝึกนั้นต้องเป็นสัมมาสมาธิ คือเป็นสมาธิในพระพุทธศาสนาด้วย
เมื่อคุณไปพบสำนักปฏิบัติธรรมใดที่เจ้าสำนักและลูกศิษย์ มีคุณธรรมครบทั้ง ๖ ประการนี้ คุณรีบเข้าไปสมัครเป็นลูกศิษย์ในสำนักนั้นได้เลย รับรองว่าจะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน
แต่ว่าในขณะที่คุณยังไม่สามารถตัดสินใจเลือกสำนักใดสำนักหนึ่งได้ จะลองมาฝึกกับหลวงพ่อไปพลาง ๆ ก่อนก็ได้ หลังจากนั้นถ้าไปพบสำนักปฏิบัติธรรมใดถูกกับอัธยาศัย ก็ค่อยเลือกเอาตามสมควรเถอ
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๔๑ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
🌟รับธรรมะดี ๆ ที่เป็นประโยชน์และเป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงความสุขภายในได้ที่นี่
⚡️Line
⚡️Facebook
⚡️YouTube
⚡️Instagram
⚡️Twitter
⚡️Pinterest
⚡️Spotify
⚡️Apple Podcasts
⚡️JOOX
⚡️TikTok
⚡️Blockdit

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา