17 เม.ย. 2020 เวลา 12:11 • สุขภาพ
ประโยชน์สุดท้ายแห่งกายนี้
คุณทราบดีว่าในวันสุดท้ายของชีวิตที่คุณต้องทิ้งทุกอย่างไว้ในโลกนี้ คุณเอาอะไรติดตัวไปด้วยไม่ได้เลย
แล้วคุณรู้ไหมว่า การจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับของคนบางคน สามารถต่อชีวิตของคนที่ยังอยู่ให้มีลมหายใจต่อไปได้
เพียง 1 ชีวิต กลับสามารถต่อลมหายใจหรือราวกับการสร้างชีวิตใหม่ให้กับผู้อื่นได้อีก
หลายชีวิต
หากการให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง
การให้ทานที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ก็คงเป็นการให้เพื่อการมีชีวิตต่อไปได้นี้เอง
นอกจากการบริจาคโลหิตที่สามารถทำได้ขณะยังมีชีวิตแล้ว ปัจจุบัน ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถแสดงเจตนาบริจาค
-ร่างกาย
-ดวงตา
-อวัยวะ
ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาบริจาคให้ผู้อื่นภายหลังผู้บริจาคนั้นเสียชีวิตไปแล้ว
โดยมีวิธีการบริจาคและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน กล่าวโดยสรุปคือ
"การบริจาคร่างกาย" เป็นการอุทิศร่างกายเพื่อ
ให้นำไปศึกษาทางการแพทย์ หรือเป็น
"อาจารย์ใหญ่" ของเหล่านักศึกษาแพทย์นั่นเอง
"การบริจาคดวงตา" เป็นการบริจาคเพื่อเปลี่ยนกระจกตาให้แก่ผู้ป่วยหรือผู้พิการทางสายตาที่รอรับการบริจาค เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง
"การบริจาคอวัยวะ" เป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้เสียชีวิตที่แสดงเจตนาบริจาคอวัยวะให้แก่ผู้อื่นเมื่อถึงแก่ความตายไปแล้ว ตามเจตนาที่ให้ไว้ขณะยังมีชีวิตอยู่
(อีกกรณี คือ ญาติของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ยินยอมบริจาคร่างกาย ดวงตา หรืออวัยวะนั้นให้แก่ผู้รอรับการบริจาค ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย)
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก www.organdonate.in.th
กล่าวโดยเฉพาะถึงการ "บริจาคอวัยวะ" นั้น ปัจจุบันมีอวัยวะที่สามารถบริจาคเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้อื่น 8 อย่าง คือ หัวใจ ปอดทั้งสองข้าง ลำไส้เล็ก ตับ ตับอ่อน และไตทั้งสองข้าง นอกจากนี้ยังมีเนื้อเยื่อหลายชนิดในร่างกายที่ผู้บริจาคร่างกายสามารถอุทิศให้นำไปเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้อีก เช่น ผิวหนังเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยที่ถูกไฟคลอก หรือการบริจาคกระดูก เอ็น หรือลิ้นหัวใจ เพื่อนำไปปลูกถ่ายแก่ผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะนั้นๆ เป็นต้น
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก www.organdonate.in.th
ในกรณีปกติของ การบริจาคอวัยวะนั้น ผู้แสดงเจตจำนงบริจาคอวัยวะ และสามารถบริจาคอวัยวะได้สำเร็จตามเจตนาที่ให้ไว้ มีเพียงผู้ที่
เสียชีวิตด้วย "ภาวะสมองตาย" เท่านั้น (ยกเว้น
ไต 1 ข้าง ตับ และไขกระดูก ที่สามารถบริจาค
ได้ขณะมีชีวิต ซึ่งบทความนี้ไม่ขอลงรายละเอียดในส่วนนี้)
ภาวะสมองตาย คือ ภาวะที่แกนสมองถูกทำลายจนสูญเสียการทำงานอย่างสิ้นเชิงและถาวร ไม่สามารถรักษาให้ฟื้นคืนชีพได้อีก
โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองตาย อาจเกิดจากการบาดเจ็บที่สมองอย่างรุนแรง หรือเส้นเลือดแตกในสมอง หรือ เลือดออกในช่องสมอง เป็นต้น
ซึ่งการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะสมองตายหรือไม่
ต้องวินิฉัยโดยแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน และต้องทำการตรวจ 2 ครั้ง ห่างกันไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง เมื่อลงความเห็นว่า ผู้นั้นมีภาวะสมองตาย ย่อมถือว่าเสียชีวิตแล้วในทางการแพทย์
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากwww.organdonate.in.th
และในการบริจาคอวัยวะ นอกจากต้องมาจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตายดังกล่าวแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มีการใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ เพราะเป็นกรณีที่ร่างกายยังมีออกซิเจนไหลเวียนในเลือด และเลือดยังไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ให้ทำงานได้ตามปกติ ทำให้อวัยวะนั้นยังสามารถใช้งานและนำไปปลูกถ่ายต่อไปได้
อีกทั้งต้องเป็นการนำไปผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะโดยเร็ว
หัวใจ ต้องจัดเก็บและดำเนินการทุกอย่างภายใน 4 ชั่วโมง ส่วนการเก็บอวัยวะอื่นๆจะแตกต่างกันไป เช่น ตับเก็บรักษาได้ 6 ชั่วโมง ปอด 8 ชั่วโมง ตับอ่อน 10 ชั่วโมง ไต 24 ชั่วโมง เป็นต้น
ยังไม่นับผลสำเร็จของการผ่าตัดและความเข้ากันได้ของอวัยวะกับร่างกายใหม่อันเป็นเงื่อนไขสำคัญปลีกย่อยต่อไปอีก
ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 จากสภากาชาดไทย พบว่า แม้จะมีผู้แสดงเจตนา"บริจาคอวัยวะ" แล้วถึง 19600 คน แต่ข้อมูล ณ ขณะนี้ยังมีผู้สามารถบริจาคได้สำเร็จเพียง 72 คนเท่านั้น และยังมีผู้รอรับการบริจาคอวัยวะทั้งสิ้นอยู่จำนวน 6159 คน
ส่วนผู้บริจาคดวงตา พบว่า แม้มีจำนวนผู้แสดงเจตนาหลักล้านคน และมีผู้รอรับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาหลักหมื่นราย แต่มีผู้สามารถรับการบริจาคได้สำเร็จเพียงไม่เกินหลักร้อยรายเท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2562)
แน่นอนว่า ในบรรดาผู้รอรับการบริจาคอวัยวะและดวงตาเหล่านี้ ย่อมมีผู้ที่ไม่ได้รับการบริจาคอวัยวะหรือดวงตาตลอดการรอคอยชั่วชีวิตของเขา
หากคุณได้อ่านบทความนี้ แล้วนึกอยากสร้างทานบารมี ด้วยการบริจาคอวัยวะ ดวงตา หรือร่างกายบ้าง คุณสามารถแสดงเจตนาได้ตั้งแต่นาทีนี้เลยนะคะ
กรณีการ"บริจาคดวงตาและบริจาคอวัยวะ"
คุณสามารถแสดงเจตนาด้วยการเดินทางไปบริจาคด้วยตนเองยังสภากาชาด โรงพยาบาลหรือศูนย์เครือข่ายของสภากาชาดในจังหวัดหรือภูมิภาคนั้นๆที่คุณอาศัยอยู่
หรือด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดตาม Link นี้ค่ะ
บริจาคดวงตา
บริจาคอวัยวะ
ส่วนการ"บริจาคร่างกาย"ปัจจุบันหากประสงค์บริจาคให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรุงเทพมหานคร สามารถ
ดำเนินการตาม link นี้
ส่วนการบริจาคร่างกายให้แก่แหล่งอื่น ส่วนใหญ่ต้องเดินทางไปติดต่อด้วยตัวเองโดยตรงหรือทางไปรษณีย์ด้วยการกรอกข้อมูลและแบบฟอร์มเป็นการเฉพาะไปยัง ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ หรือคณะวิทยาศาสตร์ของ
มหาวิทยาลัยนั้นๆ ค่ะ
ขอให้ข้อมูลนิดนึงว่า ผู้บริจาคเพียงคนเดียวสามารถบริจาคได้ทั้ง 3 อย่าง โดยการบริจาคดวงตานั้น สามารถดำเนินการร่วมกับการบริจาคอย่างอื่นได้
แต่การ"บริจาคอวัยวะ" กับการ"บริจาคร่างกาย" นั้นเมื่อเราแสดงเจตนาการบริจาคแล้ว เมื่อถึงเวลาที่สามารถบริจาคได้จริง แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมตามหลักวิชาการว่าสามารถดำเนินการบริจาคในรูปแบบใด เพราะอย่างที่ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นแล้วว่า เฉพาะผู้เสียชีวิตจากภาวะสมองตายและยังมีการใช้เครื่องช่วยหายใจเท่านั้น จึงจะสามารถนำอวัยวะที่ได้รับการบริจาคไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้อื่นตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก www.organdonate.in.th
นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขปลีกย่อยหลายประการในการรับบริจาคร่างกาย ดวงตา และอวัยวะ อย่างเช่น อายุของผู้เสียชีวิต การไม่มีโรคติดต่อที่เป็นอันตราย ระยะเวลาการเสียชีวิตรวมถึงการเก็บรักษาสภาพศพอย่างถูกวิธีและทันท่วงที ฯลฯ ซึ่งต้องศึกษาในรายละเอียดอีกนิดหน่อยนะคะ
ผู้เขียนคือหนึ่งใน "ผู้รอบริจาคอวัยวะ"
ในจำนวน 19600 คน ข้างต้นแล้ว และกำลังจะดำเนินการบริจาคร่างกายและดวงตาเพิ่มเติมในลำดับต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้
ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในวาระสุดท้ายของชีวิต อวัยวะในร่างกายหรือร่างกายนี้ที่ตัวเราเองใช้ประโยชน์ไม่ได้อีกแล้ว จะสามารถนำไปสร้างประโยชน์ทางการแพทย์หรือต่อชีวิตให้กับผู้อื่นได้ตามที่ตั้งใจเอาไว้
หากบทความนี้พอจะมีประโยชน์อยู่บ้าง และนำมาซึ่งการบริจาคใดๆของผู้อ่านในโอกาสต่อไป
ผู้เขียนขอขอบคุณล่วงหน้า และขออนุโมทนาในบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งนี้ของชีวิตด้วยนะคะ
โฆษณา