13 เม.ย. 2020 เวลา 09:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ซีรี่ย์ : ชั้นหนังแผ่น {ม้วนฟิล์มที่ 4.1}
Batman vs Superman (2016) กับหนึ่งเหตุการณ์ หลายการตีความ EP.1
...
คำชี้แจงก่อนเข้าสู่บทความ
...
1. บทความนี้ อ้างอิงข้อมูลจากสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง Batman vs Superman : Dawn of Justice และข้อมูลบางส่วนจากภาพยนตร์เรื่อง Man of Steel เท่านั้น ไม่มีการอ้างอิงข้อมูลจาก Comic แต่อย่างใดครับ
...
2. บทความนี้ผมขออนุญาตแบ่งแยกย่อยออกมาเป็น 2 ตอน โดยในตอนแรกจะเป็นบทเกริ่นนำเรื่องราว และในตอนที่ 2 จะเป็นบทวิเคราะห์ครับ
...
3. บทความนี้ อาจมีการสปอยเรื่องหาสำคัญ เพื่อนำมาอ้างอิงหรือประกอบข้อมูลในการวิเคราะห์ครับ
...
Tags : ภาพยนตร์, เรื่องสั้น และจิตวิทยา
...
ณ เมืองเมโทรโพลิส สหรัฐอเมริกา
...
นอกจากจะเป็นเมืองที่ทำให้ชาวโลกรู้จักกับบุรุษเหล็กที่มีนามว่า ‘ซูเปอร์แมน (Superman)’ หรืออีกชื่อหนึ่ง ‘คลาร์ก เคนท์’ คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดลี่แพลเน็ต เป็นครั้งแรกแล้ว
...
เมืองเมโทรโพลิสแห่งนี้ยังเป็นสมรภูมิชี้ชะตาโลก และยังเป็นชนวนแห่งความบาดหมางกันครั้งสำคัญระหว่างแบทแมนกับซูเปอร์แมนอีกด้วย
...
ข้อมูลเพิ่มเติม
...
เมืองเมโทรโพลิสเป็นเมืองที่ ‘โจ ชูสเตอร์’ นักวาดภาพชาวอเมริกันและผู้ร่วมสร้างตัวละครซูเปอร์แมน ที่สร้างขึ้นจากจินตนาการของเขา โดยใช้เมืองโตรอนโตเป็นแรงบันดาลใจ
...
ณ ช่วงท้ายเรื่องในภาพยนตร์เรื่อง ‘Man of Steel (2013) หรือในชื่อภาษาไทย บุรุษเหล็กซูเปอร์แมน’
...
เมื่อนายพลซ็อด ผู้นำชาวคริสโตเนียนที่เหลือ ได้ค้นพบเจอกับโลกที่เปรียบเสมือนโลกใบใหม่ของเขา
...
โลกใบใหม่ที่สมควรเป็นของชาวคริสโตเนียน มากกว่ามนุษย์ที่ทั้งอ่อนแอและปวกเปียกแบบนี้
...
สมรภูมิที่มีโลกเป็นเดิมพันจึงบังเกิดขึ้น และด้วยพละกำลังทางกายภาพของทั้งซูเปอร์แมนและนายพลซ็อดนั้น ยิ่งใหญ่และรุนแรงเกินกว่าที่มนุษย์จะรับมือได้ และโลกคงเสียให้กับนายพลซ็อดไปแล้ว หากไม่มีชายผู้มากับผ้าคลุมสีแดงที่มีชื่อว่าซูเปอร์แมน
...
ซูเปอร์แมน VS นายพลซ็อด นี่คือศึกช้างแมนมอสงัดกับช้างแมนมอส ที่หญ้าแพรกอย่างชาวเมืองเมโทรโพลิสจำต้องรับเคราะห์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
...
ทุกหมัด ทุกการเตะ และทุกการรับดาเมจของทั้งฝั่งซูเปอร์แมนและนายพลซ็อด หมายถึงทุกการพังทลายของสิ่งปลูกสร้างอย่างตึกละฟ้า ถนนหนทาง และทรัพย์สินอื่นๆ ที่ซวยต้องมาโดนลูกหลงในแต่ละกระบวนท่าการห้ำหั่นกันของทั้งสองคน
...
ในขณะเดียวกัน ‘แบทแมน (Batman)’ อัศวินรัตติกาล หรือในอีกชื่อหนึ่ง ‘บรู๊ซ เวย์น’ มหาเศรษฐีแห่งเมืองก็อตแธม เจ้าของอาณาจักรเวย์นเอ็นเตอร์ไพรซ์
...
ได้เดินทางมาที่เมืองเมโทรโพลิส เพื่อมาดูสาขาย่อยของเวย์นเอ็นเตอร์ไพรซ์ที่ตั้งอยู่ในเมืองแห่งนี้
...
1
บรู๊ซ เวย์น พบว่าเมืองแห่งนี้ได้กลายเป็นสมรภูมิสุดเดือดระหว่างซูเปอร์แมนกับนายพลซ็อดไปเสียแล้ว ทุกที่ที่เขาขับรถผ่านจะเต็มเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ผู้คนที่บาดเจ็บ และความสูญเสียอื่นๆ อีกมากมาย
...
หลังสิ้นสุดการต่อสู้ที่จบลงด้วยชัยชนะของซูเปอร์แมน ทำให้โลกและมนุษยชาติกลับมาปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง
...
เพียงแต่ไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่มองว่าซูเปอร์แมนนั้นเป็นฮีโร่ที่กอบกู้โลก ยังมีผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่กลับมองว่าซูเปอร์แมนนั้นไม่ได้เป็นฮีโร่นั้นอะไรเลย
...
บางคนอย่าง ‘เล็กซ์ ลูเธอร์’ เจ้าของอาณาจักรธุรกิจหมื่นล้านที่มีชื่อว่าเล็กซ์คอร์ป ที่มองชาวคริสโตเนียนว่าเปรียบเสมือนอสูรกายเลยด้วยซ้ำ
...
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบทแมน ที่มองซูเปอร์แมนในฐานะ ‘ตัวอันตรายของโลก’ ที่ต้องถูกกำจัดให้สิ้นซาก
...
เกิดอะไรขึ้นที่เมืองเมโทรโพลิสแห่งนี้กันแน่?
...
เราต่างรู้อยู่แก่ใจว่า สิ่งที่ซูเปอร์แมนทำนั้นคือการกอบกู้โลก และเป็นการช่วยชีวิตมวลมนุษยชาติเอาไว้
...
แต่ทำไมการตีความของผู้คนถึงกระจายแตกเป็น 2 ฝั่งแบบนี้ได้?
...
นี้คือสิ่งที่เรียกว่า ‘หนึ่งเหตุการณ์ หลายการตีความ’ หรือในอีกชื่อหนึ่งเรารู้จักกันก็คือ ‘ปรากฏการณ์ราโชมอน (Rashomon effect)’
...
กำเนิดปรากฏการณ์ราโชมอน (Rashomon effect)
...
ปรากฏการณ์ราโชมอนเป็นที่ถูกกล่าวถึงกันมาก เมื่อภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน ‘ราโชมอน (Rashomon)’ ที่เริ่มเผยแพร่ในปี ค.ศ.1950 กำกับโดย ‘อากิระ คุโรซาว่า (Akira Kurosawa)’ ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นมากฝีมือ ที่ภาพยนตร์ต่างๆ ภายใต้การกำกับของเขานั้นคว้ารางวัลมามากมาย เช่น ออสการ์สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง Ran (1985) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเขา
...
แม้ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว จะสร้างปรากฏการณ์ราโชมอนให้เป็นที่โจษจันไปทั่วโลก
...
แต่ทว่าปรากฏการณ์ราโชมอนนั้น ได้บังเกิดมาก่อนหน้านั้นแล้วภายใต้เรื่องสั้นของ นักประพันธ์หนุ่มผู้ได้รับการยกย่องเป็นราชาเรื่องสั้นของญี่ปุ่นในยุคนั้น เขามีชื่อว่า ‘ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ (Ryūnosuke Akutagawa)’
...
ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ ริวโนะสุเกะก็สามารถสร้างสรรค์เรื่องสั้นออกมาได้หลายร้อยเรื่องเลยทีเดียว
...
และเรื่องสั้นที่สร้างปรากฏการณ์ราโชมอนนี้ขึ้นมีชื่อว่า ‘ในป่าละเมาะ’ (หรือชื่อเดิม ศพในดงไผ่และกลุ่มต้นซีดาร์) ที่ริวโนะสุเกะประพันธ์ขึ้นในปี ค.ศ.1922
...
เป็นเรื่องสั้นที่มีช่องว่างให้ผู้อ่านได้ขบคิดด้วยตัวเอง โดยเล่าเรื่องราวผ่านคำให้การของบุคคลต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มได้ ดังนี้
...
1. กลุ่มพยานหลังเหตุการณ์
...
คนแรกคือชายตัดไม้ ผู้ซึ่งพบสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรมซามูไรหนุ่มเป็นคนแรก
...
คนที่สองคือผู้ช่วยตำรวจ ที่สามารถจับทาโจมารุโจรผู้ฆาตกรรมซามูไรหนุ่ม (หรือเปล่า?) ได้
2. กลุ่มพยานก่อนเกิดเหตุการณ์
...
คนแรกคือหญิงชรา ผู้เป็นแม่ของมาซาโกะ ผู้เป็นแฟนสาวของทาเคะฮิโระซามูไรหนุ่มผู้ตาย
...
คนที่สองคือพระธุดงด์ ผู้ได้มีโอกาสพบเห็นมาซาโกะและทาเคะฮิโระ ก่อนเกิดเหตุฆาตกรรม
...
3. กลุ่มที่อยู่ในเหตุการณ์ (ในป่าละเมาะ ณ วันเกิดเหตุ)
...
คนแรกคือทาโจมารุ โจรผู้ล่อลวงมาซาโกะและทาเคะฮิโระให้เข้าไปในป่าละเมาะ
...
และแน่นอนว่าคนที่สองและที่สามก็คือ มาซาโกะและทาเคะฮิโระ (ผู้ตาย) นั้นเอง
...
ทีเด็ดของเรื่องสั้นเรื่องนี้ ก็คือคำให้การของทั้ง 3 คนนี้นี่แหละครับ ที่ต่างก็ให้การว่า ‘ตัวเองคือคนที่ฆาตกรรมซามูไรหนุ่มคนนั้นเอง’ ด้วยเหตุผลและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน (ในส่วนของทาเคะฮิโระซามูไรหนุ่มผู้ตาย ริวโนะสุเกะได้แต่งให้วิญญาณของซามูไรหนุ่มนั้น มาให้การผ่านร่างทรงอีกทีหนึ่งว่า ‘ตนได้ทำการฮาราคีรีตัวเอง’)
...
ปรากฏการณ์ราโชมอน ‘หนึ่งเหตุการณ์ หลายการตีความ’ จึงบังเกิดขึ้นภายใต้เรื่องสั้นป่าละเมาะแห่งนี้ (เพราะทั้งๆ ที่ทั้ง 3 คน ต่างก็อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน แต่กลับให้การกระเจิงกันไปคนละโยชน์ซะอย่างนั้น)
...
โอ้ละเน้อ ‘ฆาตกรรมหรรษา ใครฆ่าซามูไร’ กันแน่นะ?
...
ข้อมูลเพิ่มเติม
...
ภาพยนตร์เรื่องราโชมอนของผู้กำกับอากิระ คุโรซาว่า คือการนำเรื่องสั้น 2 เรื่องของริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะมารวมกัน อันได้แก่ ‘ในป่าละเมาะ (1922) + ราโชมอน (1914)’ ครับ
...
ปรากฏการณ์ราโชมอนนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นประจำบนโลกของเราครับ ไล่ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ สามัญประจำบ้านอย่างบนโต๊ะอาหาร
...
ลองจินตนาการกันดูเล่นๆ ว่า วันหนึ่งเราได้มีนัดกับเพื่อนอีก 3 คนไปทานส้มตำที่ร้านๆ หนึ่งด้วยกัน
...
วินาทีที่แม่ค้านำส้มตำจานเด็ดมาเสิร์ฟที่โต๊ะเรา...สำหรับตัวเราเองนั้นส้มตำจานนี้คือแซ่บอีหลี (อร่อย) แต่คำถามคือ ‘เราคิดว่าเพื่อนเราอีก 3 คน จะรู้สึกอร่อยเหมือนกับเราไหม?’
...
คำตอบรันในหัวอย่างรวดเร็วว่า ‘มีความเป็นไปได้แน่นอน ที่เพื่อนทั้ง 3 ของเราจะคิดไม่เหมือนกับเรา’
...
เพื่อนบางคนอาจรู้สึกว่ามันเผ็ดไป เพื่อนอีกคนอาจรู้สึกว่ามันเปรี้ยวไป และเพื่อนคนสุดท้ายอาจบ่นว่ามันจืดไป
...
ทำไมส้มตำจานเดียวกันนี้ จึงถูกตีความออกไปได้หลายความหมายเช่นนี้ล่ะ?
...
หรือเหตุการณ์ระดับชาติอย่าง ‘กรณีสถานพยาบาลขาดแคลนหน้ากากอนามัย’
...
ที่บุคลากรสถานพยาบาลต่างๆ ต่างบ่นเรื่องที่พวกเขากำลังขาดแคลนหน้ากากอนามัยกันอย่างหนัก จนต้องประกาศขอรับบริจาคกันเป็นทิวเเถว
...
แต่ฝั่งผู้มีอำนาจกลับบอกว่า หน้ากากมีเพียงพอให้บุคลากรทางการแพทย์แน่นอน ขาดแคลนอะไร...ไม่มี๊!!!
...
สรุปแล้ว พวกเขาอยู่ในประเทศไทยเหมือนกันใช่ไหมเนี่ย?
...
หากให้ผมพูดสรุปแบบง่ายๆ ปรากฏการณ์ราโชมอนสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยหลายๆ ปัจจัย เช่น
ความชอบส่วนตัว เหมือนกรณีของส้มตำนั้นไงครับ เพราะความชอบในรสชาติของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน คนที่ชอบรสจืดอาจจะยี้ส้มตำที่มีรสเผ็ด ในขณะเดียวกันที่คนชอบทานเผ็ดจะบอกว่า ส้มตำจานนี้่มันสวรรค์ชัดๆ
...
หรืออาจจะเป็นเรื่องของการรักษาศักดิ์ศรีของตนเอง เช่นกรณีหน้ากากอนามัยขาดแคลน ที่ผู้มีอำนาจอาจจำต้องโกหกว่าหน้ากากอนามัยนั้นเพียงพอ ก็เพื่อเป็นการรักษาศักดิ์ศรีของตัวเอง
...
เช่นเดียวกับ กรณีของเรื่องสั้นในป่าละเมาะ ที่ทั้ง 3 คน (ทาโจมารุ, มาซาโกะและทาเคะฮิโระ) ที่ต่างให้การว่าตัวเองเป็นคนฆาตกรรมด้วยเหตุผลที่หนุนความมีศักดิ์ศรีให้กับตัวเอง เช่น
...
ทาโจมารุให้การว่า เขาฆ่าซามูไรจากการได้ดวลดาบกัน ฟังดูเป็นการฆาตกรรมที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีลูกผู้ชายโดยแท้ ที่ดีกว่าการมาบอกว่าเขาแอบแทงซามูไรจากด้านหลังเป็นไหนๆ
...
ทาเคะฮิโระวิญญาณซามูไรหนุ่มผู้ตายให้การผ่านปากของร่างทรงว่า เขาทำการฆ่าตัวตาย (ฮาราคีรี) ตัวเองต่างหาก ซึ่งดูสมศักดิ์ศรีกว่าการมาบอกว่าซามูไรอย่างเขาถูกโจรฆ่าตาย เป็นต้น
...
ใน EP.2 ผมจะพาท่านผู้อ่านทุกท่านมาร่วมหาคำตอบและวิเคราะห์กันว่า ปรากฏการณ์ราโชมอนเกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง Batman vs Superman : Dawn of Justice ได้อย่างไร?
...
ผ่านมุมมองของตัวละครหลัก 3 คนได้แก่ ลูอิส เลน, แบทแมน และเล็กซ์ ลูเธอร์ กันครับ
...
บรรณานุกรม
...
ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ. (2560). ราโชมอน และเรื่องสั้นอื่นๆ. แปลจาก Rashomon and other stories. แปลโดย มณฑา พิมพ์ทอง และคณะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมมติ.
แมวหง่าว. (2559). ตามหา Metropolis เมือง Superman ของจริงที่ไม่ใช่นิวยอร์ค. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://travel.trueid.net/detail/m14EWdKYPxA
ดร.ชาญ รัตนะพิสิฐ. (2560). ปมดราม่าและปรากฏการณ์ราโชมอน. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.istrong.co/single-post/oneandonlytruth
Theepisitm. (2562). รู้จัก Rashomon Effect : เทคนิคการเล่าหนัง ‘มองต่างมุม’ อันน่าทึ่ง. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://bioscope.mthai.com/bioscope-focus/260926.html

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา