14 เม.ย. 2020 เวลา 02:19 • สุขภาพ
บทความตามใจฉัน “เจ้าคือเกษตรกร, มองระบบ AI ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน”
ในวิฤกิตโรคโควิท19 ที่กำลังระบาดนั้นทำให้รัฐบาลสั่งให้สถานประกอบการ, ห้างร้านหรือสถานที่ต่าง ๆ ที่ผู้คนพลุกพล่านต้องถูกปิดลงชั่วคราวโดยยังไม่มีกำหนดชัดเจนที่จะกลับมาเปิดใหม่ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการรวมถึงแรงงาน, ลูกจ้างและผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ ต้องขาดรายได้ดำรงชีพไป ทางรัฐจึงได้ตั้งโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ให้ผู้ที่ขาดรายได้โดยเน้นช่วยเหลือ “แรงงาน, ลูกจ้างชั่วคราว, อาชีพอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม”
โดยเปิดให้ลงทะเบียน online ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 ผู้ที่ลงทะเบียนนั้นมีการกล่าวอ้างว่าจะถูกตรวจสอบคุณสมบัติโดยระบบ AI หากคุณสมบัติครบถ้วนก็จะได้สิทธิรับเงินจำนวน 5000 บาทต่อเดือน โดยตั้งระยะเวลาโครงการไว้ 3 เดือนในเบื้องต้นเพื่อเอาไปเป็นค่าใช้จ่ายดำรงชีพ ผลการตรวจจะถูกส่งไปทาง SMS
แต่ทว่าตั้งแต่ช่วงประมาณวันที่ 11 เมษายน ก็เริ่มมีปัญหาเกิดขึ้นโดยผู้ลงทะเบียนหลายคนร้องเรียนว่าได้รับผลการตรวจไม่มีสิทธิเนื่องจากคุณสมบัติไม่ครบถ้วน โดยจุดที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่มาจากการที่ระบบ AI มองว่าผู้ลงทะเบียนมีอาชีพที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับเงินช่วยเหลือซึ่งผู้ร้องเรียนไม่ตรงกับความจริง บ้างก็ถูกมองว่าเป็นนักเรียนนักศึกษาซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาด บ้างก็ถูกมองเป็นเกษตรกรซึ่งไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว
ประเด็นนี้ทำให้เกิดกระแสพูดคุยกันมากมายถึงระบบ AI ที่ใช้ในการตรวจสอบคุณสมบัติว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน ใช้ AI จริงหรือ
บทความตามใจฉันในคราวนี้จะยกประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยกันว่ามันเป็นอย่างไร ใช้ AI จริงรึ
มากันที่คำถามแรกซึ่งทุกคนคงข้องใจกันมากว่า “มีการใช้ AI ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนจริงรึ ?”
ผู้เขียนเชื่อว่า “จริง”
จริง ๆ แล้ว AI ถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ
1. Machine Learning based ซึ่งก็คือ AI ที่เรียนรู้ได้ พัฒนาตัวเองได้ ทำงานและตัดสินใจด้วยตนเองได้ เป็น AI ที่เมื่อพูดคำว่า AI ออกมาทุกคนจะคิดไปในทางนี้
2. Rules-based หรือก็คือ AI แบบที่เรียนรู้ไม่ได้ ถูกสอนถูกโปรแกรมมาแค่ไหนก็ทำได้แค่นั้น เหมือนเป็นแค่ระบบอัตโนมัติที่ทำงานตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ล่วงหน้าเพียงเท่านั้น
ซึ่ง AI แบบแรกนั้นนอกจากจะสร้างยากกว่าแบบที่ 2 แล้วยังจำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อให้ระบบฝึกฝนและเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานโดยยังไม่รวมถึงเวลาที่ใช้ฝึกรวมถึงผู้ที่จะมาตรวจคำตอบจากระบบว่าข้อไหนถูกข้อไหนผิดซึ่งสำคัญมากเพราะไม่เช่นนั้นระบบจะสร้างผลลัพธ์ที่ไม่ตรงตามความต้องการออกมา
ดังนั้นจึงคาดว่าทีมงานหลังบ้านของระบบน่าจะใช้ AI แบบที่ 2 ที่สร้างได้ง่ายกว่า, ควบคุมเงื่อนไขง่ายกว่า, ให้คำตอบตรงตามความต้องการมากกว่าและที่สำคัญคืออธิบายกับผู้ใหญ่ในหน่วยงานให้เข้าใจได้ง่ายกว่าในการตรวจสอบคุณสมบัติ
ซึ่ง AI ประเภทที่ 2 นี้นั้นในพื้นฐานแล้วแทบไม่ต่างอะไรจากระบบคอมพิวเตอร์ที่ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้โดยอัตโนมัติเลย
แล้วทำไมถึงใช้คำว่า AI
แน่นอนว่ามันฟังดูคูล ดูเท่ ดูล้ำ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ
เพื่อให้เห็นว่าเป็นการทำตามนโยบายของภาครัฐ
อ้างอิงจากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี 25 กันยายน 2562 หรือรัฐบาลประยุทธ์ 2
มีการพูดถึงนโยบายการใช้ปัญญาประดิษฐ์(AI) ในนโยบายข้อ 5.7.2 ส่วนหนึ่งเขียนไว้ว่า
“ให้ความสําคัญกับการใช้ประโยชน์จากการแบ่งปันทรัพยากรหรือพื้นที่ในการขนส่งสินค้า พร้อมทั้งนําเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการดําเนินงาน อาทิระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ระบบปัญญาประดิษฐ์ระบบอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT)
และระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)”
การแบ่งบันทรัพยากรโดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรม “ระบบปัญญาประดิษฐ์” เข้ามาใช้ในการดําเนินงาน
ตรงกับขอบเขตของโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เลยใช่ไหมล่ะ
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึง ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อีกครั้งในข้อ 6 การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต ที่มีการเขียนไว้ช่วงท้ายหัวข้อว่า
“พร้อมส่งเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อเป็นฐานในการขับเคลื่อนประเทศด้วยปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต”
คาดว่านี้คือสาเหตุที่ทางรัฐบาลถึงอ้างการใช้ AI กับการคัดกรองคุณสมบัติผู้ขอรับเงินช่วยเหลือ
นำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการดําเนินงานตามที่นโยบายของภาครัฐเขียนไว้
แล้วมันดียังไง
สั้น ๆ เลยคือ ทางราชการนั้นการจะทำอะไรสักอย่าง ถ้าสามารถอ้างอิงคำสั่งหรือนโยบายจากระดับบริหารที่บอกว่าให้ทำได้นั้นจะช่วยให้ขออนุมัติรวมถึงขอ “งบ” ได้ง่ายขึ้น
ไฟล์คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี 25 กรกฎาคม 2562 https://www.opsmoac.go.th/news-files-411491791082
ทีนี้มาดูกันว่าทำไมระบบถึงตรวจสอบแล้วออกมาเป็นนักเรียนนักศึกษา, ผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับผลกระทบและที่กลายเป็นมุกกันถ้วนหน้าคือ เกษตรกร ได้ยังไง
ก่อนอื่นนั้นต้องมาดูว่าการลงทะเบียนทำยังไง
โดยผู้เขียนเช็ควิธีการจาก Web นี้
พบว่าข้อมูลที่ต้องใช้ในการลงทะเบียนประกอบด้วย
1. บัตรประชาชน
2. ข้อมูลส่วนบุคคล
3. ข้อมูลนายจ้างเป็นหลักฐานการรับเงิน
ซึ่งก็ไม่ได้บอกอะไรมาก ผู้เขียนเลยทดลองเข้าหน้าลงทะเบียนดูว่าต้องกรอกอะไรบ้าง
เข้าลงทะเบียนหน้าแรกก็เจอให้อ่านเงื่อนไขและตกลงตามเงื่อนไข ตรงนี้เราจะได้เห็นเงื่อนไขการได้เงินช่วยเหลือละเอียดยิ่งขึ้น มีเงื่อนไขที่น่าสนใจอยู่ 3 ข้อคือ
ข้อที่ (3) เป็นแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม
ข้อที่ (4) ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐ หรือผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
ข้อที่ (5) เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)
ซึ่งไว้จะมาพูดถึงทีหลัง
ข้อมูลที่ต้องกรอกเพื่อลงทะเบียนนั้นอ้างอิงจาก YouTuber TAXBugnoms ที่ทำวิดีโอวิธีลงทะเบียนไว้ใน Link ข้างล่าง
เมื่อกดยอมรับก็จะเข้ามาที่หน้ากรอกข้อมูล ชื่อนามสกุล, เลขบัตรประชาชน, เบอร์มือถือ มีถาม Line ID ด้วย
รายได้ต่อเดือน(เป็นรายการให้เลือก) , เบอร์มือถือคนใกล้ชิด, E-mail, ช่องทางการรับเงิน, ที่อยู่ติดต่อได้, ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
จะเห็นว่าข้อมูลหลายอย่างใช้เลขบัตรไปดึงจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ก็ได้เพื่อลดขั้นตอนการลงทะเบียน
หน้าถัดไปจะเป็นการกรอกข้อมูลการประกอบอาชีพ โดยต้องกรอกข้อมูลเช่น อาชีพ/ตำแหน่ง, ระยะเวลาประกอบอาชีพ/ตำแหน่ง, เป็นหัวข้อให้เลือกว่าได้รับผลจากโควิทในเรื่องใด, มีนายจ้างหรือประกอบอาชีพอิสระ
ถ้ามีนายจ้างก็ต้องกรอกข้อมูลประเภทสถานประกอบการจากตัวเลือกที่มีให้และข้อมูลของนายจ้างว่าเป็นบุคคลหรือนิติบุคคล
ถ้าประกอบอาชีพอิสระก็ต้องบอกว่าทำอาชีพอะไรจากตัวเลือกที่มีให้
จากนั้นก็กดยอมรับและยืนยัน ใส่ข้อความยืนยันว่าไม่ใช่หุ่นยนต์ กดส่ง ก็เป็นอันเสร็จ
จุดที่น่าสนใจตอนกรอกข้อมูลมีดังนี้
1. ตอนที่กรอกข้อมูล อาชีพ/ตำแหน่ง ซึ่งตรงนี้ระบบจะให้เราเขียนเองแบบอิสระ
เป็นไปได้ไหมว่าระบบจะตรวจสอบว่าเป็นผู้มีสิทธิรึไม่จาก Keyword ที่อยู่ในนี้
เช่น ถ้าสมมุติว่าผู้เขียนกรอกลงไปว่าเป็น “พ่อค้าผลไม้”
ระบบจะตัดสินว่าผู้เขียนเป็นเกษตรกรจาก Keyword “ผลไม้” รึไม่
เช่นเดียวกับ Keyword อื่น ๆ เช่น แอปเปิล, ผัก, ทุเรียน, มะม่วง, ฯลฯ รึเปล่า
ล่าสุดมีคนขับรถแท็กซี่โดนระบบชี้ว่าเป็นเกษตรกร งงแตกเหมือนกัน สมมุติว่าเค้าใส่ข้อมูลอาชีพว่า “คนขับรถแท็กซี่”
พอลองเลียบแบบระบบตามที่คิดไว้ดู พบว่า “คน” ไปตรงกับในรายชื่อผักที่ชื่อ แคน้ำ(อันนี้ไม่ค่อยตรง), แคนา และ โสมคน
ซึ่งต้องพิสูจน์
2. ในรายการอาชีพอิสระที่เลือกได้นั้นไม่มี เกษตรกร ให้เลือกแต่ระบบตอนแจ้งผลกลับมีการแจ้งสาเหตุว่าเพราะผู้ลงทะเบียนมีอาชีพเกษตรกร ตรงนี้เห็นได้ว่าผู้กำหนดกฏเกณฑ์มองว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่ได้ผลกระทบหรือได้รับความเดือดร้อนน้อยกว่าจนสามารถรอการออกนโยบายช่วยเหลือด้านการเงินในภายหลังได้ ดราม่าผักสวนครัว รั้วกินได้ อาจจะมาจากตรงนี้เอง
ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า กรณีที่ผู้ลงทะเบียนไม่มีคุณสมบัติที่กำหนดได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิหรือไม่มีสิทธิ ระบบจะถือว่าผู้ลงทะเบียนมีอาชีพเกษตรกรโดนอัตโนมัติ
ส่วนสาเหตุจากการลงทะเบียนเกษตรกรที่จะนับรวมครอบครัวของผู้ลงทะเบียนเป็นเกษตรกรไปด้วยก็อาจจะมีส่วน แต่นั้นนำมาซึ่งคำถามนอกเรื่องคือ ข้อมูลจำนวนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรที่มีอยู่นั้นนับว่าถูกต้องหรือไม่
ก่อนที่จะยาวและกาวเกินไปขอพูดถึงอีกจุดหนึ่งคือ เงื่อนไขข้อที่ (5) ที่ว่าต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) นั้น
คำถามคือเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์
เชื่อว่าในข้อมูลที่กรอกไปต้องมีกระบวนการเปรียบเทียบ, Filter อะไรสักอย่างตามเงื่อนไขที่รับรู้กันภายใน
และกระบวนการนี้กำลังทำให้คนเป็นจำนวนมากต้องเดือดร้อนถ้าไม่มีการแก้ไขไรสักอย่าง
หากปล่อยให้ผู้เดือดร้อนไม่ได้รับความช่วยเหลือนานเข้า ผู้เขียนเกรงว่า
พวกเค้าจะกลัวอดตายจะมากกว่ากลัวป่วยตาย
โฆษณา