คาถาอาคมบริบทหนึ่งของความเชื่อในท้องถิ่นไทย
คติความเชื่อเป็นบริบทหนึ่งที่ทำให้เกิดพฤติกรรมและพิธีกรรมไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่นหรือแม้แต่ในระดับทางศาสนา สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีและวัฒนธรรมโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง และในการทำพิธีนั้นจะต้องมีบริบทของการสวดมนต์ การว่าคาถา หรือแม้กระทั่งการเอ่ยหรืออ่านโองการต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่เข้าร่วมพิธี ในด้านความเชื่อเรื่องของบุญและความเป็นสิริมงคลที่ตนจะได้รับเพื่อให้ผลบุญหรือความเป็นมงคลนี้เป็นสื่อนำพาให้ได้หรือสมหวังในเรื่องต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานนับพัน ๆ ปี
ในระบบของศาสนาจะมีอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรกคือ เทวนิยม เป็นศาสนาที่เชื่อความมีตัวตนอยู่จริงของพระผู้เป็นเจ้าและพระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งที่อยู่สูงเป็นผู้สร้างทุกสิ่งที่อยู่บนโลกและจักรวาล แบบที่สองคือ ศาสนาแบบอเทวนิยม เป็นศาสนาที่มีความเชื่อว่าพระเจ้าไม่ใช่สิ่งที่สูงสุดและพระเจ้าไม่ได้เป็นผู้สร้างทุกอย่างที่เกิดขึ้นทั้งโลกและจักรวาล ศาสนาทั้งสองรูปแบบนี้ต่างก็มีบทสวดเพื่อใช้ในการทำพิธีกรรมเหมือนกันแต่จุดประสงค์ในการสวดแตกต่างกันอย่างเช่น อย่างพราหมณ์ฮินดูเป็นศาสนาในลักษณะเทวนิยม บทสวดและการสวดจะเป็นไปในลักษณะการสรรเสริญและการวอนขอสิ่งต่างต่อพระผู้เป็นเจ้า จะว่ากันง่าย ๆ ก็คือ เป็นการสื่อสารระหว่างนักบวชกับพระผู้เป็นเจ้านั้นเองซึ่งเรียกว่าการอ่านหรือการว่าโองการ เพื่อให้เทพเจ้าเกิดความพึงพอใจและประทานสิ่งต่าง ๆ ให้ตามที่มนุษย์ร้องขอ ในด้านของพระพุทธศาสนานั้นถ้าจะว่าในเรื่องของมนต์ คาถา บทสวด ต่าง ๆ แล้ว จะเป็นไปในลักษณะการกล่าวถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ที่พระองค์เคยตรัสสั่งสอนมนุษย์ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนชีพอยู่ เพื่อให้ผู้คนได้นำหลักธรรมเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต อีกกรณีหนึ่งคือการสวดเพื่อสรรเสริญพระพุทธคุณต่าง ๆ เป็นไปเพื่อการตอกย้ำความศรัทธาในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ทั้งหมดที่กล่าวมาในย่อหน้าที่สองนี้เป็นวัตถุประส่งในการสวดมนต์ตราคาถาในแบบดั่งเดิม
ก่อนที่ศาสนาจากอินเดียจะเข้ามาในประเทศไทยแต่เดิมนั้นดินแดนนี้มีการนับถือผี เป็นคติแบบดั่งเดิมพื้นบ้านหรือในท้องถิ่น ความเป็นผีมีหลายบริบทเช่น ผีป่าผีเขา ผีถ้ำ ผีบ้านผีเรือน ผีฟ้า ผีบรรพบุรุษ เป็นต้น ซึ่งผีก็หมายถึงเทพ การนับถือผีในสังคมไทยมีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่กล่าวถึง "พระขพุงผี" เป็นผีที่คอยเฝ้าปกปักรักษาเมืองสุโขทัยและสามารถให้คุณให้โทษแก่เมืองได้ เมื่อศาสนาจากอินเดียเข้ามาในท้องถิ่นชาวเมืองให้การยอมรับ ชาวเมืองเหล่านี้ก็นำศาสนาที่ตนได้รับมาจากอินเดียผสมเข้ากับความเชื่อในรูปแบบของท้องถิ่นด้วยเหตุนี้จึงได้มีการทำพิธีการสวดมนต์และการทำบุญเพื่ออุทิศบุญกุศลให้ผีหรือเทพเพื่อให้เขาได้รับ ปรับภพภูมิให้สูงขึ้นมีกำลังที่จะปกปักรักษาและให้คุณแก่มนุษย์ ในทางพระพุทธศาสนา ในส่วนของพราหมณ์ฮินดูเมื่อศาสนานี้เข้ามาในท้องถิ่นแล้วความเป็นผีจะถูกเลื่อนฐานะให้เป็นเทพที่สูงส่งอย่างเช่น ผีป่าผีเขา ผีถ้ำ จะหมายถึงพระนารายณ์ เพราะพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าที่มีหน้าที่คอยปกปักรักษาพื้นที่ต่าง ๆ ที่อยู่ในโลก การทำพิธีก็จะมีบทสวดบูชา อ่านหรือว่าโองการต่าง ๆ สรรเสริญและวอนขอให้เทพประทานสิ่งที่ตนต้องการ
สิ่งหนึ่งที่อยู่ในบริบทของความเป็นท้องถิ่นอีกอย่างหนึ่งคือ "ไสยศาสตร์" เป็นบริบททางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เพราะในแต่ละที่จะมีกระบวนการในการทำพิธีที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือบทสวดหรือการว่าคาถา แต่ต่างกันที่การใส่ภาษาท้องถิ่นของตนในการร่ายอาคม ถ้าเป็นในทางทำลายหรือมนต์ดำศาสตร์ในลักษณะนี้ได้รับอิทธิพลมาจาก อาถรรพเวท เป็นหนึ่งในสี่ของคัมภีร์พระเวทซึ่งเป็นคัมภีร์ว่าด้วยการฆ่าล้างทำลายศัตรู ซึ่งแต่เดิมในอินเดียนั้นพราหมณ์ชั้นพรหมาจะเป็นผู้ร่ายมนต์พระเวทนี้ ถ้าเป็นในทางรักษาหรือมนต์ขาวโดยมากแล้วจะแก้ด้วยพุทธคุณ ใช้บทสวดพุทธคุณในการแก้ไขในทางพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นพราหมณ์ฮินดูก็จะให้การสวดขออำนาจจากเทพมาช่วยรักษา
เรื่องเวทมนต์หรือคาถาอาคมนั้นเป็นบริบทหนึ่งของวัฒนธรรมทางความเชื่อและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรงเพราะในการทำอะไรก็แล้วแต่นั้นถ้าได้คาถาดีมีความศรัทธาเหนียวแน่นสิ่งนั้นย่อมเป็นไปได้ ซึ่งเป็นจิตวิทยาหรือกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ในการเรียกกำลังใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามสงคราม
บทความโดย พงศธร อิ่มอุดม แอดมินเพจบันทึกภาพความทรงจำผ่านมุมกล้อง ช่างภาพอิสระ, นักวิชาการอิสระ
โฆษณา