16 เม.ย. 2020 เวลา 09:00 • การศึกษา
⏳ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๓)⌛️
ตอนที่ ๓ : “ชนชั้น-วรรณะ” ชนชั้นในสังคมอินเดียโบราณมีต้นกําเนิดมาจากไหน ?
1
คําคําหนึ่งที่เรามักจะนึกถึงเมื่อรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกปฏิบัติด้วยมาตรฐานที่ต่างกันในเรื่องเดียวกัน ในปัจจุบันคงต้องยกให้กับคําว่า “สองมาตรฐาน” หรือถ้าเป็นก่อนหน้านี้หลายท่านอาจจะมีคําว่า “แบ่งชนชั้นวรรณะ” ปรากฏขึ้นมาในใจก็เป็นได้ แต่การ “แบ่งชนชั้นวรรณะ” หรือ “ระบบวรรณะ” นี้เราทราบหรือไม่ว่า...มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานเพียงใด ? และมีที่มาที่ไปอย่างไร ?
1
ถ้าจะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของ “ระบบวรรณะ” นี้คงต้องย้อนเวลากลับไปราว ๓,๐๐๐ ปีนับจากนี้ เพราะคําคํานี้ได้เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากที่ “อารยัน”(Aryan) เข้ามาสู่ดินแดนอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ และขับไล่ชนพื้นเมืองเดิมอย่าง “มิลักขะ” (Milakkha) ถอยร่นลงไปสู่อินเดียตอนใต้
เมื่อการรบสิ้นสุดลง “อารยัน” เองเป็นชนเผ่าเชื้อสาย “คอเคซอยด์” (Caucasoid) ซึ่งเป็นชนผิวขาว เห็นถึงความแตกต่างระหว่างชนเผ่าตนและชนเผ่าพื้นเมืองอย่าง “มิลักขะ” ซึ่งเป็นชนผิวเข้ม จึงเริ่มต้นใช้คําว่า “วรรณะ”(varṇa) ซึ่งแปลว่า “สี” เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างชนเผ่าตนเองกับชนเผ่าพื้นเมือง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “ระบบวรรณะ” ในยุคอินเดียโบราณ
ต่อมา เมื่อ “อารยัน” ตั้งหลักปักฐานในดินแดนแห่งนี้ได้แล้ว จึงเริ่มต้นดํารงชีพด้วยการทํากสิกรรมและปศุสัตว์แทนการล่าสัตว์ที่เคยทําอยู่ในครั้งเมื่อยังเป็นชนเผ่าเร่ร่อน โดยบทบาทของผู้ที่ทําหน้าที่กสิกรรมและปศุสัตว์นี้เรียกว่า “แพศย์” หรือ “ไวศยะ” (vaiśya) ซึ่งในภายหลังได้จัดพ่อค้าเข้าไว้ในกลุ่มนี้ด้วย
ส่วนนักรบผู้ทําหน้าที่ปกครองและดูแลวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเผ่า เรียกว่า “กษัตริย์ ”(kṣatriya) และผู้ที่ทําหน้าที่สื่อสารกับเทพเจ้าโดยมี “พระอินทร์” (Indra) เป็น “เทพเจ้าสูงสุด” นั้น เรียกว่า “พราหมณ์” (brāhmaṇa)
บทบาทเหล่านี้สันนิษฐานว่ามีอยู่ในชนเผ่า “อารยัน” ตั้งแต่ดั้งเดิม แต่ทว่าเป็นเพียงการแบ่งหน้าที่ของคนในชนเผ่าเท่านั้น ยังไม่ปรากฏเห็นเป็นการแบ่งชนชั้นในสังคม
ต่อเมื่อ “อารยัน” ได้รุกเข้ามาสู่ดินแดนแห่งนี้และมีการนําชนเผ่า “มิลักขะ” เข้ามาจัดไว้ในกลุ่มล่างสุดที่เรียกว่า “ศูทร” (śūdra) ซึ่งหมายถึงผู้ใช้แรงงาน หรือบ้างก็เรียกว่า “ทาส” ตรงนี้เองที่ทําให้ “ระบบวรรณะ” มีความหมายที่เปลี่ยนไปจากเรื่องของ “การแบ่งสีผิว” กลายมาเป็น “การแบ่งชนชั้นในสังคม” ยุคอินเดียโบราณนั่นเอง...
Cr. เรื่อง : พระมหาดร. พงศ์ศักดิ์ ฐานิโย
ภาพ : พระณัฏฐวัฒน์ ณฏฺฐิโต (เปรม)
วารสารอยู่ในบุญ ฉบับที่ ๑๘๑ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑
🌟รับธรรมะดี ๆ ที่เป็นประโยชน์และเป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงความสุขภายในได้ที่นี่
⚡️Line
⚡️Facebook
⚡️YouTube
⚡️Instagram
⚡️Twitter
⚡️Pinterest
⚡️Spotify
⚡️Apple Podcasts
⚡️JOOX
⚡️TikTok
⚡️Blockdit
1
โฆษณา