14 เม.ย. 2020 เวลา 12:19 • การศึกษา
ลูกหนี้โอนทรัพย์สินให้คนอื่นเพื่อทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง?
เมื่อเป็นหนี้แล้วก็ต้องใช้ แต่สำหรับลูกหนี้บางรายนอกจากจะไม่ใช้หนี้แล้วยังอาจโอนทรัพย์สินให้เป็นของคนอื่น เพื่อทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบอีกด้วย!...
สำหรับคนที่เป็นเจ้าหนี้ คงไม่มีเรื่องไหนน่าปวดหัวเท่ากับตอนที่คิดหาสารพัดวิธี เพื่อทำให้ลูกหนี้จอมเหนียวชำระหนี้ให้ ทั้งทวงดี ๆ ก็แล้ว หรือหนักเข้าก็อาจจ้างทนายความทำหนังสือทวงถาม แต่ลูกหนี้ก็ยังใจแข็งไม่ยอมใช้หนี้อยู่ดี 😂
หนักกว่านั้น ลูกหนี้บางรายยังเจ้าเล่ห์ ใช้วิธีโอนทรัพย์สินไปให้คนอื่น ไม่ว่าจะให้ไปฟรี ๆ หรือขายก็ตาม โดยมีเจตนาไม่ต้องการให้เจ้าหนี้ของตัวเองได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่น ๆ หรือพูดง่าย ๆ ว่าต่อให้ฟ้องร้องชนะคดีไปก็ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดอยู่ดี
หากเจ้าหนี้เจอเหตุการณ์อย่างนี้เข้าไปก็อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะกฎหมายยังมีวิธีที่จะทำให้ทรัพย์สินที่โอนไปนั้นกลับมาสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้อีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งทางกฎหมายเรียกวิธีนี้ว่า “เพิกถอนการฉ้อฉล”
โดยเงื่อนไขที่จะทำให้เจ้าหนี้ “ฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้” ก็มีอยู่ว่า...
1) ลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน (เช่น ขาย , ให้โดยเสน่หา , เอาไปจำนองเพื่อประกันหนี้)
2) ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ (เช่น ลูกหนี้ทำให้ทรัพย์สินลดน้อยลงไม่พอชำระหนี้)
3) ลูกหนี้รู้ว่านิติกรรมที่ทำลงไปทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
4) คนที่ได้ทรัพย์สินหรือสิทธิในทรัพย์สิน (ภาษากฎหมายเรียกว่า ผู้ได้ลาภงอก) เช่น คนที่ซื้อบ้านจากลูกหนี้ หรือคนที่รับจำนองที่ดินของลูกหนี้ จะต้องรู้ในขณะที่ทำนิติกรรมว่าได้ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
เว้นแต่ ถ้าเป็นการให้โดยเสน่หาลูกหนี้รู้ฝ่ายเดียวก็เพียงพอ
5) เวลาฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลจะต้องฟ้องทั้งลูกหนี้และคนที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้เป็นจำเลย เพื่อให้คำพิพากษามีผลผูกพันคู่ความทุกคน
ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ
จำเลยที่ 1 (ลูกหนี้) จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา (ให้โดยไม่มีค่าตอบแทน) และขณะที่ทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก
จำเลยที่ 1 มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเพียงอย่างเดียวและเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาประมาณ 2 แสนบาท และยังไม่ชำระให้โจทก์ แต่กลับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร
ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีทางบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ
เมื่อจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินเพียงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเท่านั้น ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก และโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงเป็นการทำนิติกรรมการโอนทั้ง ที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ
ดังนั้น ศาลจึงสามารถเพิกถอนการฉ้อฉล โดยพิพากษาให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ได้...
โดยการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น เจ้าหนี้จะต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่รู้ถึงต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือภายใน 10 ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมครับ
อ้างอิง
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 และ 240
- คำพิพากษาฎีกาที่ 1785/2551
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา