15 เม.ย. 2020 เวลา 08:11 • ธุรกิจ
วิกฤติหนี้เสียกำลังมา
ปี 2020 ผ่านไปแล้วหนึ่งไตรมาส แค่ไตรมาสเดียวโลกของเราก็ได้เจออะไรมากมายเหมือนผ่านไปหลายปี ตั้งแต่ปัญหาสหรัฐฯ-อิหร่านช่วงต้นปี ปัญหามลพิษทางอากาศ สงครามน้ำมัน และสิ่งที่ร้ายกาจที่สุดตอนนี้ก็คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Covid-19
ชีวิตของเราบนโลกทุกวันนี้ดำเนินไปข้างหน้าด้วยเงินทองเสมอ เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องเเรกๆเสมอของทุกประเทศ การจะได้มาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ ของใหม่ ย่อมต้องใช้เงินทุนเป็นตัวขับเคลื่อน
ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสของสหรัฐฯในปี2008 การปล่อยกู้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารใหญ่ๆให้กับภาคอสังหาฯทำให้เกิดฟองสบู่ก้อนใหญ่กับสินเชื่อที่อยู่อาศัย
เมื่อมันใหญ่เต็มที่แล้ว ก็ถึงเวลาแตกออก... เริ่มมีการผิดชำระหนี้ในก้อนหนี้ก้อนโตนี้ จนลุกลามไปจนถึงขั้นเศรษฐกิจล้ม ธนาคารใหญ่เจ็บสาหัส Lehman Brothersถึงขั้นต้องล้มละลาย (แนะนำให้ดูThe Big Shortเลยครับ)
ที่มา : https://medium.com
หลังจากวิกฤติครั้งนั้นมา หลายฝ่ายต่างระมัดระวังมากขึ้นไม่ให้เกิดฟองสบู่ก้อนใหม่ แต่ด้วยธรรมชาติของมนุษณ์เราเเล้วเป็นไปได้ยาก ที่จะหยุดความทะเยอทะยาน หรือเรียกตรงๆว่าความโลภได้
การใช้เครดิตของแต่ละคนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งต่างๆทำให้การเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจทำยอดขายได้มากขึ้น เกิดการลงทุนมากขึ้น ทั้งสองกิจกรรมนี้ช่วยให้ฟองสบู่หนี้ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่เราอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
เเม้ว่าทุกวันนี้อาจจะยังดูดีกว่าในปี 2008 ที่พื้นฐานของฟองสบู่ก้อนนี้ไม่ได้ดูด้อยคุณภาพมากนัก อีกทั้งกระบวนการกำกับจากหลายฝ่ายที่เข้มข้นขึ้น แต่ครั้งนี้การตึงตัวมากขึ้นของฟองสบู่มาจากปัจจัยที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งก็คือการระบาดของเชื้อไวรัสCovid-19
เมื่อวาน (14เมษายน) สองบิ๊กแบงค์ของสหรัฐฯอย่าง J.P.Morgan chase และWells Fago ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกของปี ที่น่าสนใจคือการประมาณการณ์ bad debt หรือหนี้ด้อยคุณภาพของทั้งสองเเบงค์เพิ่มขึ้นรวมกันแล้วกว่า 12,000ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(J.P.Morganประมาณ 8 billion U.S. และ Wells Fago ประมาณ 4 billion U.S.) จากเดิมที่เฉลี่ย4ปีย้อนหลังเเล้วจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับว่าเพิ่มเป็น 6เท่าจากเดิม
โดยรายละเอียดย่อยลงไปนั้นทั้งสองแบงค์เน้นว่าbad deptเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากสองกลุ่มหลักๆด้วยกัน คือ ภาระหนี้จากกลุ่มบริษัทผลิตน้ำมัน และภาระหนี้จากการกู้ยืมผ่าน Credit card
ส่วนแรก ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับขุดเจาะ ผลิตน้ำมันเหล่านี้ต้องอาศัยเงินทุนในการทำธุรกิจสูงมาก ซึ่งแน่นอนว่าบิ๊กแบงค์ต่างๆ J.P.Morgan, Wells Fago,Citi Bank, Bank of America, Morgan Stanley เหล่านี้ย่อมเป็นด่านเเรกๆที่จะต้องให้เงินกู้เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเหล่านี้
การระบาดของไวรัสทำให้Demandน้ำมันโลกจากการผลิตที่ใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบ เเละน้ำมันที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม เช่น การบิน รวมถึงการใช้รถยนต์ เครื่องยนตร์ในการสัญจรลดลงเป็นอย่างมาก
ที่มา : https://www.vox.com
อีกทั้งในฝั่งSupply ความตึงเครียดของสงครามน้ำมัน ที่กดให้ราคาน้ำมันดิบซื้อขายกันที่ต่ำกว่าราคาต้นทุนการขุดเจาะ โดยเฉพาะการผลิต shale oil ที่มีต้นทุนการขุดเจาะสูงเพราะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการขุดเจาะ รายได้ที่น้อยกว่าต้นทุนการผลิต อีกทั้งภาระหนี้ที่มากมายอยู่แล้วจากการกู้ยืมมาลงทุนสูงทำให้บริษัทเหล่านี้เสี่ยงต่อการผิดชำระหนี้มาก
ส่วนที่สองคือภาระหนี้สินส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิต ทุกวันนี้หนี้บัตรเครดิตถูกเร่งสูงขึ้นมาก อย่างในบ้านเราที่มีโปรโมชั่นผ่อน 0% กันมากมาย หลายคนสร้างภาระมากเกินไปจนส่งผ่อนไม่ไหว จนต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มให้กับธนาคารเจ้าหนี้
ถามว่าเป็นเรื่องเเย่ไหมที่เกิดการส่งเสริมให้ใช้เครดิตซื้อของในทุกวันนี้มากขึ้น ก็คงตอบได้ว่าไม่ได้เป็นเรื่องแย่ถ้าไม่มีการผิดชำระ หรือผิดชำระน้อย เพราะการใช้จ่ายเหล่านี้จะช่วยผลักดันการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งตามมาด้วยการพัฒนาของสินค้าเเละเทคโนโลยีใหม่ๆในตลาด
แต่อย่างที่บอกคือเป็นการยากมากที่จะหยุดความทะเยอทะยานหรือความโลภของเรา มีแล้วก็อยากมีมากกว่านี้อีก จนรับภาระที่ก่อไว้ไม่ไหว สะท้อนออกมาจากภาระหนี้ครัวเรือนต่อ GDP
หนี้สินครัวเรือนต่อGDPของสหรัฐฯ ที่มา: https://fred.stlouisfed.org
หนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ของไทย ที่มา : www.ceicdata.com
แม้ว่าตั้งแต่ปี 2010เป็นต้นมาสหรัฐฯจะมีหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ที่มีเปอร์เซนต์ลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงที่ประมาณเกือบ 77% ในปี 2019 ส่วนไทยก็สูงถึงเกือบ 80% ในปี 2018
ความเปราะบางเหล่านี้หลายคนคงมองออกแล้วว่าไม่นานฟองสบู่หนี้สินนี้ก็คงจะแตกออก และตัวเร่งอย่างดีในครั้งนี้ก็คือโรคระบาด
จำนวนคนตกงานในสหรัฐพุ่งสูงกว่าช่วงวิกฤติซัพไพรม์ในปี2009ถึง 10เท่า ในขณะที่อีกหลายบริษัทและหลายคนมีรายได้ลดลงจากเดิม
เมื่อคนที่มีภาระอยู่ในมือขาดรายได้ประจำ หรือรายได้ลดลง หลายคนไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ ตัวเลขที่สองแบงค์ข้างต้นได้คาดการณ์ออกมา ที่ให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นจากเดิม 6เท่า เทียบกับสองปัจจัยที่ว่ามานี้ก็คงต้องบอกว่าไม่ได้มากเกินไปเลย
ตอนนี้เราก็ได้เห็นตัวเลขยืนยันจากสถาบันการเงินที่สะท้อนความเปราะบางของภาวะเศรษฐกิจกันแล้ว ถึงตรงนี้ก็คงสรุปได้ว่าการเป็นหนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดี มันจะเป็นสิ่งที่ดีก็ต่อเมื่อเราบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ต้องมั่นใจว่าการก่อหนี้นั้นๆจะสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับเราในอนาคต
แต่หนี้จะกลายเป็นสิ่งที่เลวร้าย เมื่อเราตัดสินใจนำมันเข้ามาในชีวิตเราจากการไม่รู้จักความพอดีพอควร จนทำให้เกิดความผิดพลาดในการชำระคืน
ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้เกิดความผิดพลาด สุดท้ายมันก็จะทำลายทั้งระบบเศรษฐกิจ และคนที่กระทบหนักไม่แพ้ใครก็คือตัวเราเองถ้าเรามีภาระนั้นถืออยู่ในมือ...
Easy Story ขอให้ทุกคนมีสติในการใช้ชีวิต และมีสติในเรื่องการใช้เงิน เพื่อเป็นเกราะป้องกันในยามวิกฤติเช่นนี้ครับ ❤
● ติดตามเรื่องเล่าอ่านง่ายๆแบบนี้ อย่าลืมกด follow เพจ EASY STORY กันนะครับ.
References.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา