15 เม.ย. 2020 เวลา 06:53 • การศึกษา
เรื่องรถ.. รู้ไว้.. ใช้แล้วไม่พัง
ตอนที่ 1 : ระบบเบรค ABS "รู้ไว้... แต่ไม่อยากใช้"
"ระบบความปลอดภัยในรถยนต์" คือหนึ่งในความสำคัญของรถยนต์ทุกๆ คันที่ถูกผลิตออกมาจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นรถ Segment ไหน..? แบรนด์อะไร..? หรือไม่ว่าจะมีมาตรฐานรับรองอะไรมา..? ก็ต้องมีเรื่องของความปลอดภัยติดตามมาด้วยอยู่เสมอๆ
Cr. insureinfoblog.com
ในตอนที่ 1 นี้ ผมก็จะขอกล่าวถึงเรื่องของระบบเบรค ABS ก่อน เพราะผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่มีรถ หรือกำลังที่จะตัดสินใจซื้ออาจจะยังไม่รู้จักกับระบบที่ผมกล่าวถึงตรงนี้ ซึ่งจริงๆแล้วมันคืออะไรกันแน่...? ยังไงเชิญอ่านต่อได้เลยนะครับ
ระบบเบรค ABS
ก่อนที่ผมกล่าวว่าระบบเบรค ABS คืออะไร..? ผมต้องขอเท้าความกลับไปเมื่อตอนที่ผมยังคงทำหน้าที่เป็น "ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์" ให้กับแบรนด์รถชื่อดังแบรนด์หนึ่งก่อน ซึ่งในสมัยตอนนี้ผมมีหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับตัวรถยนต์ให้กับเหล่าเซลส์ขายรถไม่ว่าจะเป็นหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ก็ตาม ซึ่งคุณเชื่อหรือไม่ว่าเซลส์กว่า 5 ใน 10 คน ที่เคยมีประสบการณ์ขายรถมาแล้วนั้น ไม่ได้ทราบเรื่องของหลักการทำงานระบบความปลอดภัยในรถยนต์สักเท่าไหร่เลย... โดยมากแล้วจาก 3 ใน 5 คนนั้น จะเข้าใจว่า ระบบเบรค ABS นั้น คือระบบเบรคที่ทำให้รถหยุดได้อย่างสนิท ซึ่งนั้นคือความเข้าใจที่ผิดมหันต์...!! ซึ่งถ้าหากคุณเคยได้รับข้อมูลแบบนี้มาตอนซื้อรถ ยังไงลองอ่านดูนะครับ
ภาพ : เครื่องหมายเตือน ABS | Cr. gaeglong.com
คำว่า ABS ย่อมาจาก "Anti Locks Braking Systems" แปลตรงตัวได้ว่า "ระบบป้องกันการล้อล็อคตายในขณะกำลังเบรค" คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือ แล้วล้อจะล็อคตายเมื่อไหร่ในขณะที่เรากำลังเหยียบเบรค..?
ผมจะยกตัวอย่างให้ทราบก่อนนะครับ ถ้าสมุติว่ารถที่เราใช้งานอยู่ไม่มีระบบนี้
โดยปกติแล้วรถทุกๆ คันจะมีเบรคที่เป็นอุปกรณ์สำหรับคอยหยุดหรือห้ามล้อเอาไว้ เพื่อให้ลดความเร็วของล้อที่ 4 ล้อ ในนขณะที่ล้อกำลังหมุนอยู่ เมื่อเราขับรถไปแล้วหากบังเอิญเจอเหตุที่ไม่คาดคิด แล้วจำเป็นต้องเบรคแบบจมเท้า สำหรับรถที่ไม่มีเบรค ABS จะเกิดอาการล้อล็อคตาย เพราะเนื่องจากแรงดันน้ำมันเบรคปริมาณสูงที่เกิดขึ้นจากการเหยียบแป้นเบรคอย่างรุนแรง สามารถเอาชนะแรงเฉี่อยที่กำลังหมุนของล้อได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากล้อที่ล็อคตายก็คือ ตัวล้อคู่หน้าจะมีอาการหัวเลี้ยวไปตามทิศทางของรถ (ในสถานการณ์จริงล้ออาจจะหักเลี้ยวไปทางซ้ายหรือขว่าก็ได้) ผลที่เกิดขึ้นคือเราไม่สามารถควบคุมพวงมาลัยได้ เนื่องจากล้อได้ถูกบังคับให้หักเลี้ยวไปแล้ว แม้นแต่เแรงแขนของเราก็ไม่ได้มีแรงมากพอที่จะหักพวงมาลัยกลับมาอยู่ในทิศทางที่ต้องการได้ ซึ่งจากอาการที่สมุติขึ้นมาตรงนี้เอง จะทำให้รถเสียการควบคุมและทำให้เกิดอุบัติเหตุได้นั่นเอง
ภาพ : อาการล้อล็อค | Cr. youtube.com
หลังจากที่เราพอจะเข้าใจแล้วว่ารถที่ไม่มีระบบเบรค ABS เป็นอย่างไร ต่อจากนี้ผมจะกล่าวถึงรถที่มีระบบนี้ในปัจจุบันบ้างครับ....
โดยหลักการแล้วระบบเบรค ABS จะมีหน้าที่เข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เราเหยียบเบรคจนถึงขั้นล้อล็อคตาย ด้วยการทำให้ผ้าเบรคที่ล้อมีอาการคลายตัวจากจานเบรคและกลับไปจับใหม่ซ้ำๆ ทำเช่นนี้ จนกว่าความเร็วของรถจะกลับเข้ามาสู่สภาพที่ผู้ขับขี่สามารถควบคุมได้ ซึ่งช่วงจังหวะที่ล้อมีการคลายตัวและกลับไปจับใหม่ คือช่วงจังหวะที่เราสามารถหักหลบสิ่งกีดขวางได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง
ภาพ : เปรียบเทียบรถที่มี ABS และ ไม่มี | Cr. youtube.com
ส่วนหลักการทำงานทางเทคนิค ตัวระบบจะมีอุปกรณ์หลักๆ ที่ใช้ในการทำงานดังนี้ครับ...
1. เซ็นเซอร์จับความเร็วการหมุนของล้อ
2. ปั๊มควบคุมแรงดันน้ำมันเบรค ABS
3. กล่องคอมพิวเตอร์ควบคุม
ภาพ : เซ็นเซอร์ตรวจจับการหมุนของล้อ | Cr. chobrod.com
ภาพ : ปั๊มควบคุมแรงดันน้ำมันเบรค ABS | Cr. civicesgroup.com
การทำงานเริ่มจาก... เซ็นเซอร์จับความเร็วการหมุนของล้อจะทำหน้าที่ตรวจจับการหมุนของล้ออยู่ตลอดเวลา เมื่อหากเซ็นเซอร์ตรวจจับได้ว่าล้อมีอาการหยุดหมุนกระทันหันในระหว่างที่รถกำลังเคลื่อนที่ เซ็นเซอร์จะส่งสัญญาณต่อไปยังกล่องคอมพิวเตอร์ควบคุม เพื่อประมวลผลในเรื่องของความเร็วและแรงเบรค จากนั้นส่งสัญญาณต่อไปยังปั๊มคบคุมแรงดันน้ำมันเบรค ABS โดยให้ตัวปั๊มปรับลดแรงดันน้ำมันเบรคลงมาชั่วขณะเพื่อให้ล้อที่หยุดหมุนได้เคลื่อนตัวต่อเล็กน้อย จากนั้นผ้าเบรคจะวนกลับมาจับจานเบรคและคายตัวออกอีกครั้ง ทำซ้ำๆ เช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าความเร็วของรถและแรงดันน้ำมันเบรคจะมีควมสัมพันธ์กัน ระบบจึงยุติการทำงาน....
ภาพ : วงจรการทำงานระบบเบรค ABS | Cr. car.boxzaracing.com
จากข้อมูลตรงนี้จะเป็นการทำงานคร่าวๆ เพื่ออธิบายให้ท่านๆ เข้าใจอย่างง่ายนะครับ
**ข้อมูลเพิ่ม : ความเร็วของผ้าเบรคจับที่จานเบรคซ้ำๆ โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 15 - 50 ครั้ง ต่อ 1 วินาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ
วัตถุประสงค์โดยแท้จริงแล้วของระบบเบรค ABS นั้น เป็นระบบความปลอดภัยแบบ Active (หมายถึงต้องมีปัจจัยเข้ามากระตุ้นให้เพื่อสั่งการทำงาน) โดยมีไว้ไม่ไห้เราศูนย์เสียการควบคุมพวงมาลัยรถในขณะที่เบรคกระทันหัน ซึ่งช่วงจังหวะที่ระบบทำงานนี้เองคือช่วงจังหวะที่เรายังคงสามารถหักหลบสิ่งกีดขวางได้อย่างปลอดภัย... (ถึงแม้ในบางจังหวะที่หักหลบจะเป็นเสี้ยววินาทีก็ตาม)
ในปัจจุบันระบบเบรค ABS ถือได้ว่าเป็นอุปกณ์ความปลอดภัยมาตรฐาน ซึ่งรถทุกคันที่ขับอยู่บนท้องถนนไม่ว่าจะถูกหรือแพงขนาดไหน ก็ต้องมีด้วยกันทั้งนั้น (ของมันต้องมี) นั่นก็เพราะด้วยเรื่องของการแข่งขันของแบรนด์ในตลาด รวมไปถึงการควบคุมมาตรฐานจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ มีผลิตภัณฑ์ที่ถูกยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้นะครับ
สรุปแล้วคุณน่าพอจะทราบแล้วว่า ABS ไม่ใช่ระบบเบรคที่ทำให้รถหยุดได้อย่างสนิทมากขึ้น แต่ ABS คือระบบเบรค ABS ที่น่า "รู้ไว้... แต่ไม่อยากใช้" ใช่ไหมครับ...?
ตอนต่อไป... ตอนที่ 2 : ระบบเบรค EBD "เคยใช้กันอยู่.... แต่เธอไม่เคยรู้เลย"
โฆษณา