15 เม.ย. 2020 เวลา 13:00
ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่นกับแบบพ่น มีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร
ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้นทุกปี ฉนวนกันความร้อนกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับบ้าน หรืออาคารในปัจจุบัน ฉนวนกันความร้อนมีให้เลือกมากมายหลายประเภทในท้องตลาด โดยฉนวนกันความร้อนจะแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น และ ฉนวนกันความร้อนแบบพ่น ซึ่งฉนวนกันความร้อนแต่ละประเภทมีลักษณะแตกต่างกันไปดังนี้
ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น อาจเรียกได้ว่าเป็นฉนวนกันความร้อนสำเร็จรูป มีลักษณะเป็นแผ่น หรือเป็นม้วน แบ่งออกเป็น 4 ชนิดตามวัสดุ คือ อลูมิเนียมฟอยล์ (Aluminium Foil), โพลีเอธิลีนโฟม (Polyethylene Foam) หรือโฟม PE, Air Bubble, และ ใยแก้ว (Fiber Glass) ส่วนฉนวนกันความร้อนแบบพ่น เป็นฉนวนกันความร้อนที่ต้องมาพ่นลงบนพื้นผิว เช่น หลังคา ผนัง หรือฝ้าเพดาน โดยจะต้องจ้างบริษัทที่ให้บริการพ่นฉนวนกันความร้อนมาให้บริการ ซึ่งฉนวนกันความร้อนแบบพ่นนี้ แบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามวัสดุ คือ สีสะท้อนความร้อน (Ceramic Coating), โพลียูริเทนโฟม (Rigid Polyurethane Foam) หรือโฟม PU, และ เยื่อกระดาษ (Cellulose)
ภาพ: ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น
ภาพ: ฉนวนกันความร้อนแบบพ่น
ในเรื่องของการติดตั้ง ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น สามารถหาซื้อมาติดตั้งเองได้ง่าย โดยการติดตั้งสามารถติดตั้งได้ทั้งปูบนฝ้าเพดาน ติดในโครงผนังเบา ติดบนแป หรือติดใต้จันทัน ซึ่งหากติดบนแปหรือใต้จันทันจะต้องขึงลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวฉนวนห้อยแอ่นตกท้องช้าง ในขณะที่ฉนวนกันความร้อนแบบพ่น การติดตั้งจะยุ่งยากกว่า เนื่องจากจะต้องจ้างบริษัทที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะมาพ่น และจะต้องทำการคลุมพื้นที่เพื่อป้องกันละอองของโฟม หรือสีที่จะฟุ้งไปติดตามส่วนต่างๆ ของบ้าน และหากเปรียบเทียบราคาแล้วฉนวนกันความร้อนแบบพ่นจะมีราคาที่สูงกว่า
ภาพ: ฉนวนกันความร้อนโพลีเอธิลีนโฟมแบบแผ่นติดตั้งใต้หลังคาเมทัลชีท
ภาพ: ฉนวนกันความร้อนโพลีเอธิลีนโฟม (Polyethylene Foam) ที่ติดตั้งมาพร้อมแผ่นอะลูมิเนียม (แผ่นตัวอย่าง) นิยมใช้กับผนัง Cladding
ภาพ: ฉนวนใยแก้ว (Fiber Glass) หุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ติดตั้งบนหลังคา
ในส่วนของอายุการใช้งาน และการซ่อมบำรุง ฉนวนกันความร้อนแบบพ่นจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น เช่น หากฟอยล์ที่หุ้มฉนวนใยแก้วฉีกขาด ความชื้นจะเข้าไปทำความเสียหายให้ใยแก้วจนหมดประสิทธิภาพในการกันความร้อน หรือ แผ่นฉนวนที่อยู่บนฝ้าเพดานอาจกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เช่น หนู หรือแมลงได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามในส่วนของการซ่อมบำรุง ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่นจะซ่อมบำรุงง่ายกว่า การเปลี่ยนแผ่นฉนวนที่เสีย หรือการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาที่รั่ว จะทำได้ง่ายกว่าฉนวนกันความร้อนแบบพ่น เนื่องจากเมื่อพ่นแล้ววัสดุฉนวนจะเคลือบแนบแน่นไปกับวัสดุอาคาร เช่น กระเบื้องหลังคา จะทำให้การเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาบางแผ่น หรือการซ่อมฉนวนบางจุดทำได้ยาก และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการซ่อม
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้แล้ว หลายๆ ท่านอาจจะเอนเอียงไปทางฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น เนื่องจากทั้งราคาที่ถูกกว่า และการซ่อมบำรุงที่ไม่ยุ่งยาก แต่ฉนวนกันความร้อนแบบพ่นก็มีข้อดีอยู่ตรงที่ ไม่กระทบกับสายไฟและดวงโคมที่อยู่บนฝ้าเพดาน สามารถพ่นความหนาได้ตามที่ต้องการ ยิ่งฉนวนหนามากยิ่งป้องกันความร้อนได้มาก การพ่นอาจจะพ่นแต่ละส่วนหนาไม่เท่ากันก็ได้ เช่น ส่วนใต้หลังคา อาจจะพ่นหนากว่าส่วนผนัง อีกทั้งการพ่นฉนวนจะเพิ่มคุณสมบัติในการกันเสียงให้แก่วัสดุ เช่น หลังคาเมทัลชีท ซึ่งมักมีเสียงเวลาฝนตก นอกจากนี้ ฉนวนกันความร้อนแบบพ่นยังสามารถพ่นภายนอกอาคารได้ (ต้องพ่นทับหน้าด้วยสีสะท้อนความร้อน) ซึ่งจะป้องกันความร้อนได้ดีกว่า เนื่องจากเป็นการป้องกันความร้อนตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าสู่อาคาร ต่างจากฉนวนกันความร้อนแบบแผ่นที่จะติดตั้งได้เฉพาะภายในอาคารเท่านั้น
ภาพ: ฉนวนกันความร้อนแบบพ่นโพลียูริเทนโฟม (Rigid Polyurethane Foam) ที่ฝ้าเพดาน
ในส่วนของคุณสมบัติในการกันความร้อนของฉนวนแบบแผ่นและฉนวนแบบพ่นนั้นไม่สามารถชี้ชัดไปได้ว่าฉนวนประเภทไหนดีกว่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ค่าการนำพาความร้อน (conductivity) และค่าการต้านทานความร้อน (Resistivity) โดย ฉนวนที่ดีต้องมี ค่าการนำพาความร้อนต่ำ ซึ่งพิจารณาได้จากค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อน (K) มีหน่วยเป็น W/m.k. (ยิ่งน้อยยิ่งดี) และมีค่าการต้านทานความร้อนสูง ซึ่งพิจารณาจากค่าความต้านทานความร้อน (R) มีหน่วยเป็น m2K/W หรือ hr.ft2. F/Btu (ยิ่งมากยิ่งดี) ทั้งนี้ การพิจารณาเลือกฉนวนที่มีความหนาต่างกัน ต้องพิจารณาจากค่า R เท่านั้น โดย ค่า R สามารถหาได้จาก ความหนาฉนวน (m) หารด้วยค่า K
สำหรับข้อควรระวังทั้งฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น และฉนวนกันความร้อนแบบพ่น ประเภทโฟม PE และ PU นั้นคือ เมื่อโฟมติดไฟจะเกิดสารพิษที่เป็นอันตราย และไฟสามารลุกลามได้ ดังนั้นจึงควรเลือกโฟม PE และ PU ที่มีการผสมสารกันไฟลามเท่านั้น
โฆษณา