15 เม.ย. 2020 เวลา 11:27 • ธุรกิจ
วิเคราะห์การบินโลกในวิกฤติ COVID-19: การพังพาบครั้งใหญ่ของธุรกิจสายการบิน
การประกาศปิดน่านฟ้าของไทยลากยาวถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ตาม ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย คือตัวอย่างหนึ่งที่จะเป็นระลอกของการปิดน่านฟ้าอีกหลาย ๆ ประเทศตามมาเพราะความไม่มั่นใจในการควบคุมสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 อย่างราบคาบ รวมถึงการระบาดรอบ 2 ได้ย้อนรอยจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ที่สถานการณ์ไม่สามารถไว้วางใจว่าการเปิดน่านฟ้าให้เกิดการบินเร็วที่สุดอาจจะทำให้เกิดการเข้าสู่วงจรระบาดอีกหลายระลอก
แน่นอนที่ผลการประเมินทางเศรษฐกิจมีการวิเคราะห์จาก McKinsey (13 เมษายน 2563) และก่อนหน้านี้ชี้ว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ ธุรกิจผลิตอากาศยาน ธุรกิจขนส่งทางอากาศและท่องเที่ยว ธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ธุรกิจธนาคาร และธุรกิจผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ
ที่สำคัญ McKinsey ประเมินว่าในวิกฤตครั้งนี้ธุรกิจการขนส่งทางอากาศของสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบมากกว่าครั้งวิกฤต 9/11 หรือวิกฤตการเงินโลก 2008 โดยจะหายไปประมาณ 30-70% ของความสามารถในการให้บริการทั้งหมด เทียบกับที่หายไป 19% ในช่วงวิกฤต 9/11 และ 11% ในช่วงวิกฤตการเงินโลก 2008
ตอกย้ำจาก World Bank (2020) ประเมินว่า ในระยะสั้นจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกจะลดลงมากกว่า 40% และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมินว่าธุรกิจสายการบินทั่วโลกจะมีรายได้หายไปถึง 113 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,980,000 – 3,555,000 ล้านบาท จากการสูญเสียรายได้เพราะผู้คนยกเลิกเที่ยวบินและไม่เดินทาง ขยับขึ้นจากการคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนที่ผ่านมา ว่ามูลค่าการสูญเสียอาจอยู่ที่ 29,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 912,000 ล้านบาทซึ่งจะส่งผลต่อฐานะทางการเงินของบริษัทที่อยู่ในธุรกิจนี้
การวิเคราะห์ล่าสุดของ IATA (14 เมษายน 2563) ระบุว่าวิกฤติ COVID-19 จะทำให้รายได้จากผู้โดยสารลดลง 314 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนี้ ลดไป 55% หรือครึ่งหนึ่งของปี 2019 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อมากกว่า 3 เดือน ลุกลามไปในแถบแอฟริกา และลาตินอเมริกา เป็นต้นจะสังเกตได้จากต้นเดือนเมษายนเที่ยวบินทั่วโลกวูบลดไปถึง 80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
การฟื้นตัวน่าจะเป็นรูปตัวยูฐานกว้าง ๆ โดยมีการประเมินว่าการบินภายในประเทศของแต่ละประเทศจะต้องฟื้นตัวก่อน เพราะยิ่งนานศัพท์ทางธุรกิจเขาก็จะบอกว่าเป็นการเผาผลาญเงินสดไปเรื่อย ๆ ที่เป็นเงินสำรองในเรื่องค่าจ้าง ท่าทดแทน และการบำรุง
มีการประเมินว่าผลกระทบต่อบุคลากรด้านการบินทั่วโลกมากกว่า 25 ล้านตำแหน่ง
หากมอนิเตอร์ท่าทีและการบริหารความเสี่ยงของแต่ละสายการบินแล้ว หลายสายการบินทำใจ บางสายการบินต้องล้มละลาย เช่นสายการบิน Lufthansa ผู้นำสายการบินในยุโรปของโลก ประกาศปิดบริษัทชั่วคราว พร้อมทั้งหยุดใช้เครื่อง 43ลำ อีกทั้งยังสั่งเลิก "เยอรมันวิงส์" ซึ่งเป็นโลว์คอสต์สายการบินลูก ให้ความเห็นว่าอาจจะใช้เวลานานนับปีกว่าความต้องการเดินทางทางอากาศจะกลับมาสู่ระดับปกติก่อนมีวิกฤต COVID-19
 
CAPA Centre for Aviation บริษัทที่ปรึกษาด้านสายการบินระดับโลก คาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นภายในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ธุรกิจสายการบินทั่วโลกอาจล้มละลายจากความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ และไม่รู้ว่าจะเดินไปถึงปลายเหวเมื่อไหร่ สายการบินหลายแห่งจึงต้องปรับต้นทุนทั้งระบบโดยเฉพาะบุคลากร
สายการบินบริติช แอร์เวย์ เตรียมประกาศพักงานพนักงานประมาณ 36,000 คน ท่ามกลางวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก ทั้งลูกเรือ พนักงานภาคพื้น วิศวกร และผู้ที่ทำงานในสำนักงานใหญ่
สายการบินแอร์แคนาดา (Air Canada) ประกาศว่า จะปลดพนักงานจำนวน 16,500 คน เป็นการชั่วคราว โดยจะเริ่มต้นในสัปดาห์นี้ สืบเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยก่อนหน้านี้ เวสต์เจต (WestJet) สายการบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของแคนาดา ก็ ประกาศปลดพนักงานประมาณ 7,000 คนเช่นกัน
IATA ประเมินผลกระทบสำหรับประเทศไทยว่า เราจะมีจำนวนผู้โดยสารที่ลดวูบไปมากกว่า 42.4 ล้านคน ทำให้ขาดรายได้ไปประมาณ 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 195,000 ล้านบาท และที่สำคัญบุคลากรจะตกงานมากกว่า 1.6 ล้านในธุรกิจการบิน
กลับมามองการบินไทย ถือว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ ของไทยที่ได้รับผลกระทบมากสุดเนื่องจากมีภาระต้นทุนเครื่องบินในปัจจุบัน 100 ลำ ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานสูงมาก จากรายงานงบการเงินปี 2562 ระบุว่า การบินไทยมีต้นทุนดำเนินงาน (ไม่รวมค่าน้ำมัน) 1.37 แสนล้านบาท เฉลี่ยราว 1.15 หมื่นล้านบาทต่อเดือน แม้ว่าจะไม่ได้ทำการบิน จึงเป็นภาระหนักอึ้งว่าสายการบินขนาดใหญ่ทั่วโลกจะกลืนเลือดได้นานเท่าใด
แตกงบต้นทุนสายการบิน
The Analyzt ขอนำตัวอย่างต้นทุนหลักของสายการบินที่คิดว่าไม่แตกต่างกันโดยหลัก ๆ แล้วอันดับ 1-5 จะเป็น Fix Cost ได้แก่ค่าเชื้อเพลิง ค่าลูกจ้างพนักงาน ค่าเช่าหรือซื้อเครื่องบิน ค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย ค่าการขายและการตลาด ค่าบริหารจัดการ เป็นต้น ซึ่งในระบบบัญชีการเงินสายการบินหลัง COVID คิดว่าจะต้องมีการรื้อเพื่อตัดแต่ละหมวดอย่างมหาศาล
บทสรุป
การหยุดบินเกือบทุกประเทศทั่วโลกได้ส่งผลกระเทือนต่ออุตสาหกรรมการบิน และซัพพลายเชนทั้งหมด ที่สำคัญคือทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญ ที่ประเมินว่ากว่า 25 ล้านคนจะได้รับผลกระทบโดยตรง
อย่างไรก็ตามในการบริหารความเสี่ยงของสายการบิน เชื่อว่าทุกสายการบินได้ทำแผนภาพอนาคตไว้หลายทางแล้วทั้งปานกลางลงไปเร็วร้ายที่สุด ซึ่ง The Analyzt ขอประมวลที่สำคัญหลัก ๆ ดังนี้
1. การประกาศล้มละลาย ซึ่งหลายสายการบินไม่อยากเลือกแนวทางนี้หากไม่จำเป็น
2. การปรับโครงสร้างต้นทุนครั้งใหม่แบบล้มกระดาน ล้างไพ่ เพื่อหาเงินสดสภาพคล่องมา โดยเพิ่ม Business Unit แบบใหม่ที่เกี่ยวพันเพื่อสร้างกระแสเงินสด
3. การขอรับสนับสนุนจากรัฐบาล เช่นการขอสินเชื่อค้ำประกันเงินกู้ การลดหย่อนภาษี คืนเงินภาษีภาษีที่ หรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น
4. การปรับตัวใหม่ให้เป็นสายการบินภายในประเทศ และการเข้าสู่ตลาด Low Cost
5. การคิดโมเดลธุรกิจการบินในลักษณะ Next Normal ที่ต้องเน้นความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร การปรับโครงสร้างเครื่องบิน ซึ่งก็ต้องใช้ทุนมหาศาลเช่นกัน
โฆษณา