Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คนรักหมา
•
ติดตาม
15 เม.ย. 2020 เวลา 14:38 • สุขภาพ
การตรวจร่างกายน้องหมา ฉบับ (เจ้าของ) มืออาชีพ
เวลาที่น้องหมาไม่สบาย นอกจากเราจะทราบได้จากการสังเกตความผิดปกติแล้ว เรายังทราบได้จากการตรวจร่างกายด้วย ในการตรวจร่างกายน้องหมา ก่อนที่คุณหมอจะเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ นั้น คุณหมอก็จะเริ่มจากการตรวจร่างกายขั้นพื้นฐานก่อน โดยใช้เครื่องมือที่ทุกๆ คนก็มีอยู่แล้วในตัว นั่นก็คือ ประสาทรับสัมผัสต่างๆ เช่น การดูด้วยตา การสัมผัสด้วยมือ หรือรับรู้ด้วยการดมกลิ่น ฯลฯ ซึ่งเจ้าของมืออาชีพอย่างเราก็สามารถตรวจร่างกายน้องหมาเองได้ วันนี้ มุมหมอหมา จึงมีความรู้ดีๆ เกี่ยวกับวิธีการตรวจร่างกายน้องหมาขั้นพื้นฐานมาฝาก อยากให้เจ้าของมืออาชีพได้ไปลองทำกันเองที่บ้านครับ
การตรวจวัดน้ำหนักตัว
การวัดน้ำหนักตัวของน้องหมา เป็นสิ่งที่เจ้าของมืออาชีพควรทำให้อยู่เป็นประจำอย่างน้อยทุก 2-4 สัปดาห์ หากน้องหมามีน้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากกว่า 20-30 % ของน้ำหนักเดิม (ยกเว้นลูกสุนัขที่กำลังโตหรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้อง) ภายในระยะเวลาไม่นาน อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่าสัตว์เลี้ยงของเรากำลังป่วยก็ได้ครับ
การตรวจวัดอุณหภูมิ
วิธีการวัดอุณหภูมิสุนัขให้วัดทางรูทวารหนัก หากเป็นเทอร์โมมิเตอร์แบบปรอทแก้ววัดไข้ธรรมดา ให้สลัดจนปรอทลงมาอยู่ในกระเปาะเสียก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ
เสียบผ่านรูทวารหนักอย่างช้าๆ ลึกพอประมาณ โดยให้ปลายเทอร์โมมิเตอร์เข้าไปแตะภายในผนังลำไส้ด้านใดด้านหนึ่ง ค้างไว้สักประมาณ 1 นาที แล้วอ่านผล
อุณหภูมิร่างกายปกติจะอยู่ที่ 101-102.5 องศาฟาเรนไฮต์ หากมีไข้อุณหภูมิร่างกายจะมากกว่า 103 องศาฟาเรนไฮต์ขึ้นไป หากตัวเย็นอุณหภูมิร่างกายจะต่ำกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ลงมา ให้ลองวัดอุณหภูมิซ้ำอีก 1-2 ครั้ง ในอีก 15-30 นาทีต่อมา หากยังสูงหรือต่ำกว่าปกติอยู่อีก ก็แสดงว่าน้องหมาอาจจะป่วยจริง เจ้าของมืออาชีพควรมีเทอร์โมมิเตอร์สักอันติดบ้านไว้ ราคาก็ไม่แพงเลยครับ แบบปรอทแก้ววัดไข้ธรรมดา ราคาตกอยู่ประมาณ 25-50 บาท หากเป็นแบบปรอทวัดไข้ดิจิตอล แบบนี้สะดวกหน่อย เพราะแสดงผลเป็นตัวเลขและมีเสียงเตือนเมื่อวัดอุณหภูมิเสร็จ ราคาจะตกอยู่ประมาณ 150-300 บาทครับ
การตรวจดูสีเหงือก
สีเหงือกก็บ่งบอกสุขภาพของน้องหมาได้นะครับ วิธีการตรวจก็แสนจะง่าย
โดยเปิดริมฝีปากของสุนัขขึ้น แล้วใช้ตาสังเกตลักษณะสีและความชุ่มชื้นของเหงือก ซึ่งควรตรวจในที่สว่าง
น้องหมาที่มีสุขภาพดี สีเหงือกควรเป็นสีชมพู หากสีเหงือกมีสีขาวซีด จะเกิดจากภาวะโลหิตจางขาดเลือด หากสีเหงือกมีสีเหลือง จะเกิดจากภาวะดีซ่าน อาจมีปัญหาที่ตับ ถุงน้ำดี หรือเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย หากสีเหงือกมีสีแดง จะเกิดจากเหงือกอักเสบ ซึ่งอาจมีคราบหินปูนเกาะที่ฟัน มีกลิ่นปาก และอาจมีแผลที่เหงือกด้วย หากสีเหงือกมีสีแดงอิฐ จะเกิดจากมีเม็ดเลือดแดงในกระแสเลือดมากเกินไปหรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และสุดท้ายหากสีเหงือกมีสีม่วงคล้ำ จะเกิดจากภาวะขาดออกซิเจน อาจเป็นผลมาจากโรคหัวใจหรือโรคระบบทางเดินหายใจ แต่หากเป็นเพราะหายใจไม่ออกต้องรีบช่วยเหลือโดยด่วนเลยครับ
สำหรับน้องหมาบางตัวที่ผิวเหงือกเป็นสีดำ อาจทำให้สังเกตได้ยาก ในตัวเมียให้เราสังเกตที่สีของผนังด้านในของช่องคลอดแทน ส่วนตัวผู้ให้ปริ้นดูสีของผนังด้านในของหนังหุ้มลึงค์แทนครับ
การตรวจวัดการไหลเวียนของเส้นเลือดฝอย
การตรวจวัดการไหลเวียนของเส้นเลือดฝอย หรือ Capillary refilling time (CRT) เป็นการดูการหมุนเวียนเลือดที่ไหลมาเลี้ยงยังอวัยวะส่วนปลายว่าดีหรือไม่
วิธีการตรวจให้ใช้ปลายนิ้วที่สะอาดปราศจากบาดแผล (ถ้าจะสวมถุงมือด้วยก็จะดีเช่นกัน) แตะลงไปที่ผิวเหงือกประมาณ 1 วินาที จากนั้นปล่อยปลายนิ้วนั้นออก หลังจากปล่อยให้นับ 1 นับ 2 … (เป็นวินาที) เรื่อยไป คล้ายกับการจับเวลา จนกว่าเลือดจะไหลเวียนกลับมาเลี้ยงยังบริเวณนั้นดังเดิม (สีเหงือกคืนมาเป็นสีเดิม)
ปกติค่า CRT จะอยู่ที่ 1-2 วินาที หากมากกว่า 2 วินาที ก็แสดงว่า มีปัญหาของการไหลเวียนโลหิต แต่หากมากกว่า 4 วินาที น้องหมาอาจอยู่ในภาวะช็อคใกล้ตายต้องรีบช่วยเหลือครับ
การตรวจวัดภาวะขาดน้ำและภาวะบวมน้ำ
เวลาเพื่อนๆ พาน้องหมาไปหาคุณหมอ อาจจะเคยเห็นคุณหมอใช้มือจับๆ ดึงๆ กดๆ ไปที่ผิวหนังของน้องหมา คุณหมอไม่ได้หมั่นเขี้ยวน้องหมาหรือกำลังทำโทษน้องหมาอยู่นะครับ เพียงแต่คุณหมอต้องการจะตรวจวัดการคืนตัวของผิวหนังเท่านั้น ผิวหนังที่ปกติหากเราดึงผิวหนังขึ้น (บริเวณหัวไหล่ หลังคอ ฯลฯ) หรือกดนิ้วลงบนผิวหนัง เมื่อปล่อยก็จะคืนตัวกลับดังเดิมได้ในทันที
แต่หากน้องหมามีภาวะขาดน้ำ เมื่อดึงหนังแล้ว จะพบว่า หนังจะเหี่ยวและคืนตัวช้ากว่าปกติ
โดยการประเมินวิธีนี้ต้องคำนึงถึงลักษณะของผิวหนังเดิมด้วยว่าเป็นอย่างไร อย่างในสุนัขบางพันธุ์ที่มีผิวหนังย่น หรือสุนัขแก่ที่มีผิวหนังหย่อนยานอยู่แล้ว แบบนี้ก็จะมีการคืนตัวช้าได้เป็นปกติไม่แปลก
แต่หากน้องหมามีภาวะบวมน้ำ เราสามารถทดสอบโดยการใช้ปลายนิ้วกดลงไปที่ผิวหนัง ค้างไว้ 5-10 วินาที หลังจากปล่อย ก็จะพบว่าผิวหนังบริเวณที่กดนั้นบุ๋มลงไป กว่าจะคืนตัวก็จะใช้เวลานานมากกว่าปกติ
ซึ่งการบวมลักษณะนี้ เกิดได้จากการมีน้ำคั่งอยู่ระหว่างเซลล์ (intercellular และ interstitial space) เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง หรือน้ำในร่างกายอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ฯลฯ
การตรวจวัดอัตราการหายใจ
ปกติน้องหมาจะมีการหายใจเข้าออกอย่างเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป ขณะหายใจเข้ารับลมเข้าปอด ช่องอกจะขยายเล็กน้อย กระบังลมไปดันช่องท้องให้กางขึ้น พอหายใจออกช่องท้องก็จะแฟบลงเป็นปกติ ไม่มีเสียงดังครืดคราดผิดปกติขณะที่หายใจ ในการหายใจให้เราสังเกตอัตราการหายใจ
วัดโดยดูการเคลื่อนไหวพอง-ยุบของช่องอกและช่องท้อง ลมหายใจเข้าแล้วออกหนึ่งรอบให้นับ 1 ครั้ง ในหนึ่งนาทีน้องหมาจะหายใจประมาณ 20-40 ครั้ง
แตกต่างกันไปตามแต่ขนาดของตัว เช่น ถ้าเป็นลูกสัตว์หรือสุนัขพันธุ์เล็ก ก็จะหายใจเร็วกว่าเล็กน้อย ช่วงเวลาของการหายใจเข้าและออกควรจะเท่าๆ กัน ไม่ลึกหรือตื่นจนเกินไป การหายใจเร็วกว่าปกติ เป็นไปได้ว่าน้องหมาอาจกำลัง ตื่นเต้น หอบ มีอุณหภูมิร่างกายสูง หรืออยู่ในภาวะช็อค ฯลฯ หากหายใจช้ากว่าปกติ น้องหมาอาจกำลังสลบ มีอุณหภูมิร่างกายต่ำ หรือหายใจลำบากอยู่ก็ได้
การตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
ตำแหน่งหัวใจของน้องหมาจะอยู่บริเวณช่องอกด้านซ้าย หากเราจับขาซ้ายแล้วทำการงอข้อศอก ตำแหน่งที่ข้อศอกมาแตะกับผนังช่องอกด้านซ้ายพอดี จะเป็นที่อยู่ของหัวใจน้องหมา (ประมาณช่องว่างระหว่างซี่โครงที่ 4-6) ปกติคุณหมอจะใช้หูฟัง (Stethoscope) ทำการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ แต่หากเพื่อนๆ ไม่มีหูฟัง
อาจใช้ฝ่ามือหรือปลายนิ้ววางสัมผัสที่ตำแหน่งดังกล่าวแล้วทำการวัดแทนก็ได้ แต่วิธีนี้จะไม่สามารถทำได้ หากน้องหมานั้นตัวใหญ่หรืออ้วนเกินไป ปกติหัวใจจะเต้นเป็น 2 จังหวะ คือ จังหวะบีบตัวและคายตัว (ตุ๊บ-ตั๊บ) ให้นับ 1 ครั้ง ในหนึ่งนาทีหัวใจน้องหมาจะเต้น 80-160 ครั้ง
แตกต่างกันไปตามแต่ขนาดตัว หากเป็นลูกสุนัขหรือสุนัขพันธุ์เล็ก ก็จะมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่าเล็กน้อย หากน้องหมาที่มีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่าปกติ อาจเกิดจากการตื่นเต้น เหนื่อยหอบ เป็นโรคหัวใจ ฯลฯ หากน้องหมาที่มีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่าปกติ อาจเกิดจากเป็นโรคหัวใจบางชนิด อยู่ในภาวะช็อคใกล้เสียชีวิต ฯลฯ ที่สำคัญจังหวะการเต้นของหัวใจก็ต้องสม่ำเสมอด้วย หากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็แสดงว่าผิดปกติเช่นกัน เจ้าของมืออาชีพอาจจะหาซื้อหูฟังราคาถูกๆ ไม่เกิน 800 บาท มาลองตรวจดูก็ได้นะครับ
การตรวจวัดชีพจร
เนื่องจากเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ไม่มีหูฟัง ดังนั้นการตรวจวัดชีพจรของน้องหมาอาจจะสะดวกและง่ายกว่าการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
ชีพจร คือ การหดตัวและการขยายตัวของหลอดเลือดแดงตามจังหวะการเต้นของหัวใจ
ดังนั้นเมื่อหัวใจเต้น 1 ครั้ง เราก็ควรวัดชีพจรได้ 1 ครั้ง เช่นกัน ตำแหน่งชีพจรของน้องหมามีหลายจุด แต่ที่นิยมใช้ตรวจวัด ได้แก่ ตำแหน่งโคนขาหนีบของขาหลัง ต้นคอ และใต้ขากรรไกรล่าง ก่อนที่จะวัดชีพจรน้องหมา เพื่อนๆ ลองฝึกวัดชีพจรของตัวเองดูก่อน โดยหงายฝ่ามือขึ้น แล้วใช้นิ้วของมืออีกข้างสัมผัสไปที่ข้อมือ รู้สึกอย่างไรบ้างครับ การวัดชีพจรน้องหมาก็รู้สึกเช่นนี้ไม่ต่างกัน ที่นี้เรามาลองวัดชีพจรของน้องหมาบ้าง
โดยคลำไปยังบริเวณโคนขาหนีบของขาหลัง ค่อยๆ เคลื่อนนิ้วมือจนมาอยู่ตรงกลางร่องขาหนีบด้านใน ในร่องนั้นเราจะสัมผัสชีพจรได้
แต่หากน้องหมาตัวใหญ่หรืออ้วนมากๆ ก็อาจสัมผัสได้ยากเช่นกัน กรณีนี้อาจต้องตรวจวัดบริเวณต้นคอหรือใต้ขากรรไกรล่างแทน ชีพจรของสุนัขปกติจะเท่ากับอัตราการเต้นของหัวใจ คือ 80-160 ครั้งต่อนาที
การตรวจโดยการสัมผัสลูบคลำ
การสัมผัสลูบคลำตัวน้องหมา ก็มีประโยชน์ในการตรวจหาความผิดปกติต่างๆ เจ้าของมืออาชีพสามารถลูบคลำตัวน้องหมาได้ตั้งแต่หัวจรดปลายหาง
ความผิดปกติที่เราตรวจพบจากการสัมผัสลูบคลำ ได้แก่ เม็ดตุ่ม ก้อนฝี เนื้องอก ต่อมน้ำเหลืองโต บาดแผล สะเก็ดรังแค ผืนแดง ปรสิตที่ผิวหนัง (เห็บ หมัด) ตำแหน่งที่อักเสบ ตำแหน่งที่เจ็บปวด ฯลฯ
ซึ่งความผิดปกติภายนอกที่เราสัมผัสพบ ก็อาจสะท้อนถึงความผิดปกติภายในร่างกายได้ด้วย เมื่อตรวจพบความผิดปกติใด ก็ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อขอคำปรึกษาและตรวจหาความผิดปกติเพิ่มเติมต่อไปครับ
ข้อควรคำนึงในการตรวจร่างกายสุนัขด้วยตัวเอง
จะเห็นได้ว่าการตรวจร่างกายสุนัขขั้นพื้นฐาน ส่วนใหญ่จะใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วในตัวของเราเอง นั่นก็คือ ประสาทสัมผัสต่างๆ ไม่ว่าการเป็นตา หู จมูก และมือ มาใช้ในการตรวจร่างกายให้กับน้องหมา แต่ก่อนที่จะเลือกใช้อุปกรณ์ใดนั้น เราก็ต้องตรวจเช็คเสียก่อนว่า มีอุปกรณ์อะไรชำรุดหรือไม่
การชำรุดในที่นี้ก็ หมายถึง ความพร้อมของร่างกายเรามีมากน้อยแค่ไหน เราต้องไม่กำลังเจ็บป่วยหรือมีปัญหาร่างกายอะไรที่อาจเป็นอุปสรรคในการตรวจ
เช่น หากมือของเรามีบาดแผลก็ต้องระวังในการสัมผัสน้องหมาที่ป่วย เพราะน้ำเลือด น้ำหนอง หรือสารคัดหลั่งต่างๆ ที่เราสัมผัสอาจนำเชื้อโรคมาติดเราได้
เพราะฉะนั้นเราต้องป้องกันตัวเองให้ดีเสียก่อน โดยอาจจะสวมแว่นตา สวมผ้าปิดปากและจมูก สวมถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ป่วยด้วย
พึงระลึกไว้เสมอว่า
ความมีอคติ (Bias) คือ ข้อเสียที่สำคัญในการตรวจร่างกายด้วยมือเปล่า
เพราะแต่ละคนมีความรู้และประสบการณ์ไม่เท่ากัน ผลที่ได้ออกมาอาจไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะกับผลที่ไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้ เช่น คนหนึ่งบอกว่าน้องหมาเหงือกสีชมพูอ่อนๆ แต่อีกคนหนึ่งอาจบอกว่าน้องหมาเหงือกซีด ทั้งๆ ทีเป็นน้องหมาตัวเดียวกัน แบบนี้ก็อาจทำให้ผลการตรวจที่ออกมาผิดพลาดได้
การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีต้องมีหลักฐานยืนยันสามารถพิสูจน์ได้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมคุณหมอจึงต้องตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ถ่ายภาพรังสี (เอ็กซเรย์) อัลตร้าซาวด์ เก็บเซลล์ตรวจ ส่องหู ส่องตา ฯลฯ ก็เพื่อต้องการทราบว่า น้องหมาตัวนั้นมีความผิดปกติจริงตามที่ได้ตรวจพบหรือไม่ มีความรุนแรงแค่ไหน จะได้ใช้เป็นข้อมูลในการวินิจฉัย เลือกใช้วิธีการรักษา หรือใช้สำหรับการพยากรณ์โรคต่อไป
การที่เจ้าของมืออาชีพสามารถตรวจร่างกายน้องหมาได้เองเป็นสิ่งที่ดีครับ เพราะเราจะทราบเบื้องต้นได้เลยว่า น้องหมามีความผิดปกติใดเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ จะได้พาไปพบคุณหมอและรักษาได้อย่างทันท่วงที ทั้งยังใช้เป็นข้อมูลนำมาอธิบายความผิดปกติให้คุณหมอฟังได้ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการตรวจของคุณหมอ ทั้งยังมีส่วนช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยโรคได้ถูกทางและแม่นยำยิ่งขึ้นครับ
บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย