ขโมย VS ขมาย ....
ในยุคที่เรา ต้องพูดคุยโดยใส่หน้ากากเข้าหากัน (หน้ากากอนามัยนะครับ) เว้นระยะห่างการพูดคุย เมตร ถึง สองเมตร บางทีก็อึดอัดนะครับ ถ้าเป็นก่อนยุค
โควิต-19 ก็คงคิดว่า รังเกียจอะไรหรือเปล่า เดี๋ยวก็ชินครับ
ผมก็เริ่มชินแล้ว
วันนี้จะมาเล่ากฏหมายบ้านๆ ให้ฟังกันต่อครับ
เพื่อนผม แกเป็นผู้ช่วยสัสดีอำเภอครับ ประจำการอยู่ที่อำเภอหนึ่งทางภาคอีสานเมื่อวานโทรศัพท์มาพูดคุยสารทุกข์สุกดิบถึงการทำงาน,ครอบครัวและการใช้ชีวิตในช่วงนี้ แล้วก็เล่าให้ฟังว่า ไอ้หลานชายตัวแสบของแก ไปขโมยโทรศัพท์มือถือของเพื่อนมา
ผมก็บอกว่า อ้าวมันก็ลักทรัพย์ของเขานะสิ
เพื่อนผมมันก็ตอบว่า ก็ใช่นะสิ แต่มันไม่จบแค่นั้นครับ เผอิญมันมีข้อเท็จจริง โผล่ขึ้นมา แบบว่านานๆเจอที ที่เพื่อนผมสงสัยก็คือว่า
ไอ้โทรศัพท์ที่หลานเพื่อนผมขโมยมา มันไม่ใช่ของเพื่อนเขาหรอกครับ แต่เพื่อนของเขาขโมยมาเหมือนกัน พูดง่ายๆ ขโมยต่อจากขโมยอีกทีครับ
เพื่อนเป็นขโมยแต่หลานเป็นขมาย ครับผม
ขอบคุณภาพ PNGTREE
เอาละครับ ไอ้ขโมยเนี้ยน่าจะเข้าใจ แต่ขมายนี้สิครับ แบบนี้หลานเพื่อนผม จะมีความผิดฐานลักทรัพย์ไหม เพราะแกไปลักทรัพย์ของคนที่กระทำความผิดฐานลักทรัพย์เหมือนกัน แกไม่ได้ไปขโมยหรือลักทรัพย์มาจากเจ้าของทรัพย์โดยตรง
นี่หว่า
ครับ มาไขข้อสงสัยตามสไตล์กฏหมายบ้านๆกันครับ
ผมหยิบพจนานุกรมของลูกชายมาเปิดดู เขาให้ความหมายคำว่า "ขโมย " หมายถึง
ผู้ลักทรัพย์ ลอบทำในสิ่งที่ตนเองไม่มีสิทธิ แต่ คำว่า " ขมาย " ผมหาในพจนานุกรมไม่เจอ ก็ลองหาใน Google ปรากฏว่าเป็นภาษาปาก ก็คือไม่เหมาะสำหรับเขียนเป็นทางการ หรือใช้เป็นพิธีรีตอง ซึง คำว่า ขมาย ก็หมายความว่า ขโมยของที่ผู้อื่นขโมยมา ครับผม
เมื่อเราได้ความหมายแล้ว มาดูในเรื่องของกฏหมายกันครับ
กฏหมายที่จะเล่าถึงนี้ ก็คือกฏหมายอาญาครับ มาตรา 334 ซึ่งเป็นมาตราหลักของเรื่องลักทรัพย์ มาตรา 334 เขียนไว้ว่า " ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ " นี่แหละครับ
คำว่า ผู้อื่น จะเป็นใครก็ได้ครับที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์นั้น
คำว่า ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวม ก็คือ มีผู้อื่นเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์มากกว่าหนึ่งคน
โดยทุจริต ก็คือ แสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฏหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
เล่าแบบบ้านๆนะครับ ถ้าละเอียดก็ต้องอ่าน ตำแย เอ้ย ตำรา ครับ
ที่นี้กลับมาเรื่องเดิมครับ เมื่อหลานของเพื่อนผมขโมยมาจากขโมยอีกที เขาจะผิดมาตร 334 ไหม มาดูกันครับ
ผมค้นหาคดีแนวนี้ ก็พบคำพิพากษาอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งศาลฎีกาตัดสินไว้เมื่อปี พ.ศ. 2554 เป็นคำพิพากษาฎีกาที่ 1785/2554 ศาลฎีกาท่านวางหลักไว้ ดังนี้ครับ
ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตร 334 และ 335 เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญาและละเมิดในทางแพ่ง
เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา กฏหมายให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนแทนผู้เสียหายด้วย หากพนักงานอัยการไม่เรียกให้ ผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะฟ้องทางแพ่ง จากผู้ที่ลักทรัพย์ไปได้ เพื่อให้ผู้ที่ลักทรัพย์คืนทรัพย์สินที่ลักไปพร้อมค่าเสียหาย
หากไม่สามารถคืนได้ อาจเป็นเพราะทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลาย เสียหายไปจนใช้การไม่ได้ ผู้ที่ลักทรัพย์ไปก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือราคาทรัพย์สินและค่าเสียหาย
ดังนั้น ผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบครองดูแลทรัพย์ที่ลักไปไว้ เพื่อคืนแก่ผู้เสียหาย เพราะถ้าทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลาย ก็ต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในทางแพ่งดังกล่าว
ฉะนั้น แม้เป็นการเอาทรัพย์ไปจากผู้ที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง จึงมีความผิดฐาน ลักทรัพย์
PIXABAY
สรุปก็คือ ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เช่นกันครับ
ขโมย หรือ ขมาย ก็มีความผิดตามกฏหมายเหมือนกันละครับ
คนเราถ้าพอเพียงกับสิ่งที่มีอยู่ ถ้าไม่มีก็ทำมาหาได้โดยสุจริต ขยัน อดทน อดออม เดี๋ยวก็มีครับ ถ้าไม่ท้อ
เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ ครับ
รู้น้อยรู้มากดีกว่าไม่รู้เลยครับ เพราะ "รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม "
ฝากติดตาม,กดไลน์,กดแชร์ ด้วยนะขอรับ
ขอบพระคุณครับผม
โฆษณา