16 เม.ย. 2020 เวลา 07:12 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) จัดอยู่ใน Top 10 โรคมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย จากรายงานทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล พ.ศ.2561 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า 7.5% หรืออันดับที่ 4 ของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก รองลงมาจากมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ/ท่อน้ำดี และมะเร็งปอด
ลักษณะทั่วไปของมะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการเพิ่มจำนวนที่ผิดปกติของเซลล์ต่อมลูกหมาก ซึ่งมักจะเกิดในผู้ชายที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทำให้มีการโตของต่อมลูกหมากจนไปกดทับท่อปัสสาวะ ทำให้มีอาการอื่นๆตามมา เช่น ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเป็นเลือด หรือแม้แต่การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะต่างๆ ในระยะท้ายๆของโรค
โดยมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกๆนั้น มักไม่มีอาการใดๆ ดังนั้น การตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ จึงมีความสำคัญในการวินัจฉัยและรักษาเพื่อป้องกันการลุกลามและแพร่กระจายของมะเร็ง
ในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก อาศัยการตรวจหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ตรวจ และในทางห้องปฏิบัติการ ก็จะมีการส่งตรวจสารที่มีชื่อว่า Prostate specific antigen (PSA) โดยจะตรวจจากเลือดของผู้ป่วย ซึ่งสาร PSA พบว่าจะมีปริมาณที่สูงขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
การตรวจหาระดับสาร PSA สามารถตรวจได้จากตัวอย่างที่เป็นเลือดจากผู้ป่วย
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของ PSA ก็สามารถพบได้ในภาวะอื่นๆที่ไม่ใช่มะเร็งต่อมลูกหมากได้ เช่น ภาวะการอักเสบของต่อมลูกหมาก (Prostatitis) เป็นต้น และการเจาะเลือด หรือการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การตรวจทางทวารหนัก อาจจะเป็นวิธีที่รุกล้ำ (Invasive) ต่อผู้ป่วย
ทีมนักวิจัยจาก Johns Hopkins Sidney Kimmel Comprehensive Cancer Center สหรัฐอเมริกา ค้นพบวิธีที่จะใช้ปัสสาวะในการตรวจคัดกรอง ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่จะไม่ทำให้เกิดการรุกล้ำ (Non-invasive) ต่อผู้ป่วย โดยจะอาศัยการตรวจหาสารพันธุกรรมชนิด RNA (Ribonucleic acid) จากเซลล์ที่หลุดออกมาในปัสสาวะ ร่วมกับการตรวจหารูปแบบของสารเมทาบอไลต์ (Metabolic profiling) ที่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งและกลุ่มควบคุม
จากการศึกษาพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับ RNA และสารเมทาบอไลต์ของกลูทาเมต (Glutamate metabolism) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังพบว่า เอนไซม์ glutamate oxaloacetate transaminase 1 (GOT1) อาจจะเป็นสารสำคัญที่จะใช้ในการตรวจคัดกรองหรือใช้ในเชิงของการรักษาโรคต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต ก่อนที่จะสามารถนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยจริงได้ครับ
ผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ สามารถเข้าไปอ่านได้ ในลิ้งค์ข้างล่างนี้ได้เลยครับ ฟรี
โฆษณา