17 เม.ย. 2020 เวลา 05:27 • ธุรกิจ
วิกฤตหนี้ท่วมโลกที่ใหญ่ที่สุด แรงที่สุดใกล้จะมาถึงหรือยัง ?
สถาบันทางการเงินชั้นนำระดับโลกประเมินมูลค่าหนี้ทั่วโลกรวมกันที่เกิดจาก ทั้งในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และฝากฝั่งรัฐบาลรวมแล้วพุ่งขึ้นสูงถึง 235 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ข้อมูลเมื่อกันยายนปี 2019 ที่ผ่านมา หากเปรียบเทียบกับ GDP โลกเมื่อสิ้นปี 2018 มีอยู่ราว 84 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จะเห็นได้ว่ามูลค่าของหนี้สินที่รวมกันทั่วโลกสูงกว่า GDP ราว 3 เท่า
1
ค่าเฉลี่ยหนี้สินต่อหัวประชากรทั้งหมดบนโลกราว 7,700 ล้านคน จะอยู่ที่ประมาณ 32,500 เหรียญต่อคน ถ้าคิดที่อัตราแลกเปลี่ยนที่ 32 บาท เราจะมีหนี้คนละหนึ่งล้านบาทโดยประมาณ
แนวโน้มของหนี้สินเฉลี่ยต่อหัวประชากรมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความเร็วและระดับความใหญ่ของคลื่นหนี้สิน ที่เราและรัฐบาลควรจะหันมามองว่า มันอาจจะก่อให้เกิดวิกฤตที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา
1
หนี้สินถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ มันถูกเรียกว่าเครดิตซึ่งทำให้ผู้ที่เป็นหนี้รู้สึกได้ถึง ศักยภาพในการที่ตนเองสามารถซื้อสินค้าและบริการได้ แม้เกินกำลังในการจ่ายเมื่อเทียบกับรายได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ
ยกตัวอย่างเช่นเรายอมเป็นหนี้เพื่อที่จะกู้เงินเพื่อไปซื้อรถ หรือซื้อบ้าน โดยยอมเสียต้นทุนทางด้านการเงินเพิ่มขึ้นก็คือดอกเบี้ย แต่ข้อดีก็คือเราไม่จำเป็นจะต้องชำระเงินเป็นก้อนใหญ่ แบ่งชำระเงินเป็นรายเดือน ซึ่งทำให้เราได้สินค้าหรือสินทรัพย์โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเก็บเงินก้อนจนครบก่อน จึงจะใช้สินค้าหรือสินทรัพย์นั้นได้
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกตกลงมาอยู่ในระดับต่ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินในการกู้ยืมจากธนาคารมีอัตราที่ถูกลง ในทางธุรกิจก็สามารถที่จะกู้เงินในระดับสูงเพื่อที่จะลงทุนโดยที่ต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ
เมื่อผลตอบแทนจากการออมไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ จึงมองหาการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า หรือเห็นช่องทางทางการลงทุนที่มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ เหมือนกับที่เราเห็นสภาพในปัจจุบันนี้
นอกเหนือจากภาคครัวเรือนแล้ว รัฐบาลก็สร้างหนี้เหมือนกัน โดยภาครัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าหนี้ที่เกิดจากภาครัฐจะแตกต่างจากหนี้ส่วนบุคคล แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ หากมีการกู้ยืมมากเกินตัวไปย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดีในระยะยาว
การกู้ยืมในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างแคนาดา เดนมาร์กหรือสิงคโปร์ ส่วนใหญ่นักลงทุนก็ยังมองว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย เนื่องจากในระบบทางการเงินทางรัฐบาลสามารถที่จะขึ้นภาษีเพื่อที่จะดึงเงินออกมาจากระบบ หรือสามารถพิมพ์เงินเพิ่มเข้ามาในระบบได้ตลอดเวลา ผ่านกลไกที่ทางภาครัฐมี
ต่างจากการเป็นหนี้ของรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนักลงทุนมองว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ก็ยังเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนเนื่องจากมีผลตอบแทนที่สูงกว่า หากเศรษฐกิจตกต่ำหรือเงินในประเทศนั้นมีค่าที่อ่อน นักลงทุนอาศัยช่วงจังหวะเหล่านั้นในการหาผลตอบแทนที่สูงได้
ประเทศผิดนัดชำระหนี้ หรือมีการเบี้ยวหนี้ แม้มันจะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่มันก็เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อย่างประเทศเลบานอน ที่พึ่งเกิดวิกฤตทางการเงินเมื่อตอนต้นปี 2020 ประเทศอาร์เจนตินาที่เกิดวิกฤตทางการเงินในปี 2001 หรือประเทศรัสเซียที่เกิดวิกฤตตอนปี 1998
เราลองไปย้อนดู 50 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์คล้ายๆกันมีเรื่องของกระแสคลื่นของหนี้สิน ทั้งหมด 4 ครั้ง ที่สำคัญคือเรากำลังอยู่ในยุคสมัยของกระแสคลื่นหนี้สินครั้งที่ 4 ซึ่งธนาคารโลกระบุว่ากระแสคลื่นของหนี้สินครั้งนี้ รุนแรงที่สุดใหญ่ที่สุด และกระทบในวงกว้างที่สุด เท่าที่เคยมีมา
คลื่นลูกที่ 1 เกิดขึ้นในช่วง 1970 ถึง 1989
ในช่วงนั้นประเทศในแถบละตินอเมริกาเริ่มที่จะมีการกู้ยืมเงินจาก ธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา และผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ เพื่อสนับสนุนในการพัฒนาประเทศ ในช่วงแรกก็ยังดำเนินไปได้ด้วยดี ปัญหายังไม่ได้เกิดในช่วงนั้น
ในช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และเศรษฐกิจในประเทศแถบละตินอเมริกาก็กำลังเบ่งบาน จนทำให้หลายๆคนไม่ได้สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังการเติบโตของเศรษฐกิจ นั่นก็คือปริมาณหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ราวสิ้นปี 1970 ในแถบภูมิภาคนั้นมีหนี้สินคงค้างรวมกันทั้งหมด 29,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถัดมาจากนั้นอีก 8 ปี ราวสิ้นปี 1978 มูลค่าหนี้สินคงค้างรวมทั้งหมดขึ้นไปถึง 159,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อีก 4 ปีหลังจากนั้นมูลค่าหนี้สินคงค้างรวมทั้งหมดก็ไต่ขึ้นไปถึงระดับ 327,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
หลังจากนั้นดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 1980 ซึ่งหลายๆประเทศต้องปรับเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ประจวบกับราคาน้ำมันที่ค่อยๆ ปรับลดตัวลง ภาพรวมของเศรษฐกิจในยุคนั้นกำลังเข้าสู่ช่วงถดถอย
ในปี 1982 ประเทศในแถบละตินอเมริกาเริ่มมีปัญหาทางด้านหนี้เสีย และค่อยๆ เริ่มลุกลามมาจากประเทศเม็กซิโก ซึ่งออกมาประกาศว่าเขาไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ จึงเป็นจุดที่ทำให้เกิดการลุกลามของวิกฤตหนี้สินในแถบละตินอเมริกา ได้ลุกลามไปจนถึงภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก
หลายๆประเทศในแถบละตินอเมริกาถูกบังคับให้ลดค่าเงินของประเทศตัวเองเพื่อที่จะรักษาสภาพของการส่งออกให้ยังสามารถที่จะแข่งขันได้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจขาลง
ในช่วงปี 1981 และ 1983 อาร์เจนตินาลดค่าเงินของตัวเองราว 40% ส่วนเม็กซิโกต้องลดค่า เงินของประเทศตัวเองลง 33% และ และบราซิลลดค่าเงินลง 20% เมื่อเทียบกับดอลลาร์
มี 27 ประเทศที่ต้องปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ และในนั้นมีประเทศที่อยู่ในแถบละตินอเมริกาเกินครึ่ง คือมีอยู่ 16 ประเทศ
คลื่นลูกที่ 2 เกิดช่วงปี 1990 ถึงปี 2001
เป็นวิกฤตที่คนไทยรู้จักดี ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 วิกฤตในรอบนี้ต่างจากรอบแรก กระแสหนี้ที่สะสมมาเกิดภาคเอกชนที่ทำอะไรมากเกินตัว ต่างจากคลื่นลูกแรกที่เกิดจากภาครัฐ
ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ในประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มมีการผ่อนปรนทางด้านการเงิน นโยบายทางการเงินที่เปลี่ยนทำให้หลายๆ ธนาคารมีการขยายธุรกิจไปในระดับโลกส่งผลให้มีเงินทุนในปริมาณมากเพิ่มขึ้นในตลาดและไหลเข้าไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา
ประกอบกับอัตราดอกเบี้ย และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มชะลอตัว ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เงินทุนไหลเข้าไปยังประเทศกำลังพัฒนามากยิ่งขึ้น หลายๆประเทศในเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย
ในช่วงนั้นหนี้ในแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ปริมาณหนี้เหล่านั้นซุกตัวอยู่ในภาคเอกชน
การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นที่น่าจับตามอง นโยบายตรึงค่าเงินบาทของไทยเป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนรู้สึกมั่นใจในการมาลงทุนในประเทศไทย การตรึงค่าเงินบาทต้องใช้เงินมหาศาลในการพยุงค่าเงินบาทเอาไว้ แต่ก็แลกด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ
การกู้เงินในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย และผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศไทยอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ เมื่อมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างต่างประเทศและในประเทศไทย จึงมีผู้ที่ไปยืมเงินมาจากต่างประเทศ และเอามาปล่อยกู้คนในประเทศไทย เพียงเท่านี้ก็ได้กำไรจากอัตราส่วนต่างทางดอกเบี้ย
ปัญหาคือหากผู้ที่กู้เงินนำเงินไปดำเนินธุรกิจจริงตามวัตถุประสงค์ในการกู้ และก่อให้เกิดผลทางธุรกิจ เรื่องราวอาจจะไม่เลวร้ายขนาดนี้ ส่วนหนึ่งคือผู้ที่กู้เงินนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ได้นำไปลงทุนตามวัตถุประสงค์ที่กู้มา เช่นเอาไปซื้อหุ้น หรือเอาไปซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร แต่ไม่สามารถนำมาชดใช้หนี้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด
และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายการตรึงค่าเงินบาทของไทยตามแบบอังกฤษ เพราะเมื่อประเทศแบกรับต้นทุนในการตรึงค่าเงินบาทไม่ไหว ก็ต้องปล่อยให้ค่าเงินลอยตัว ส่งผลให้ผู้ที่เป็นหนี้กับสกุลเงินต่างประเทศ แบกรับภาระต้นทุนอีกเท่าตัวโดยปริยาย ในช่วงนั้นจากค่า 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ กลับกลายมาเป็น 52 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ส่งผลให้หลายๆ ธุรกิจต้องปิดตัวลง หลายๆ คน ที่เป็นหนี้คิดสั้นฆ่าตัวตาย
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางด้านการเงินในประเทศเม็กซิโกช่วงปี 1994 เป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนต่างประเทศมีความระมัดระวังที่อาจจะก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเม็กซิโกยังอยู่ในความทรงจำของเขา
แม้ว่าในช่วงนั้นจะมีการอัดฉีดเงินเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลเม็กซิโกจากสหรัฐและ IMF ราว 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อที่จะป้องกันการผิดนัดชำระหนี้แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งเหตุการณ์วิกฤตในช่วงเวลาดังกล่าวได้
และนั่นก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 1997 หรือวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 นั่นเอง
คลื่นลูกที่ 3 ในปี 2002 ถึงปี 2009
หลังจากที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีนโยบายปลดล็อคข้อจำกัดทางด้านการเงินระหว่างธนาคารเพื่อการพาณิชย์และธนาคารเพื่อการลงทุน และกลุ่มประเทศในยุโรปก็สนับสนุนให้มีการกู้ยืมเงินเงินระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น
เงินตราต่างประเทศไหลเข้าอเมริกาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียและหลายๆประเทศในเอเชียตะวันออกหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง จริงๆ แล้วอเมริกาไม่ได้ต้องการเงินเหล่านี้ แล้วก็กองมันเอาไว้โดยที่ไม่ก่อให้เกิดผลตอบแทน จึงคิดหาทางที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์จากเงินเหล่านี้โดยการเอามันมาปล่อยกู้จำนองเพื่อให้คนซื้อบ้าน
Prime แปลว่าสำคัญ หมายถึงคนที่มีเครดิตทางด้านการเงิน ส่วนคำว่า Sub หมายถึงรองลงมา ดังนั้น Subprime จึงหมายถึง กลุ่มคนที่ไม่ได้มีเครดิตทางการเงินที่ดีมากนัก ในช่วงนั้นคนอเมริกันที่ไม่ได้มีเครดิตที่ดีก็สามารถที่จะขอกู้เพื่อซื้อบ้านได้โดยง่าย กลุ่มนี้แหละที่ทำให้เกิดปัญหาในคลื่นลูกที่สาม จึงเรียกวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ว่า Subprime mortgage crisis ซึ่งคนไทยจะชินเรียกกันว่า Hamberger crisis
ธนาคารในช่วงนั้นนอกจากจะปล่อยกู้ง่ายแล้ว ยังลดอัตราการชำระต่อเดือนเพื่อให้เหมาะสมกับคะแนนเครดิตของผู้กู้
เหตุของปัญหาไม่ได้หมดเพียงแค่นั้น ธนาคารมีไอเดียในการมัดรวมเอาสัญญาการกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ แล้วออกเป็นตราสารหนี้หรือที่เรียกกันว่า CDO ย่อมาจาก Collateralized Debt Obligation แล้วเอาตราสารหนี้ไปขายให้แก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทประกัน แล้วธนาคารอื่นๆ
แต่อย่างไรก็แล้วแต่ความเสี่ยงในการซื้อตราสารหนี้ที่เรียกว่า CDO ก็ยังมีความเสี่ยงที่สูงถึงแม้จะได้อัตราผลตอบแทนที่สูงก็ตาม จึงทำให้ผู้ลงทุนรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะรับความเสี่ยงนั้นได้ ทางธนาคารจึงใช้วิธีการเล่นแร่แปรธาตุ โดยการซื้อประกันมาเพื่อค้ำประกันตราสารหนี้ที่เรียกว่า CDO เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงแก่ผู้ลงทุน ในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้จากผู้กู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์
ทำให้ตราสารหนี้ CDO ที่มีคะแนนเครดิตต่ำมาก กลับดูดีขึ้นในสายตานักลงทุนได้ โดยใช้เครดิตของบริษัทประกันมาแทน เทคนิคที่บริษัทประกันใช้เรียกว่า CDS ย่อมาจาก Credit Default Swap จัดเป็นตราสารอนุพันธ์ด้านเครดิต ทำให้นักลงทุนจึงไม่เห็นความเสี่ยงที่แท้จริง
ในช่วงนั้น CDO ก็ขายดีมาก เนื่องจากผู้ลงทุนรู้สึกว่าได้โอนความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันเรียบร้อยแล้ว แต่เรื่องราวไม่ได้หมดเพียงแค่นั้น บริษัทประกันที่ทำหน้าที่ค้ำประกันตราสารหนี้ CDO ไม่ได้มีสินทรัพย์สำหรับชดเชยให้กับผู้ลงทุนในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด แต่บริษัทประกันนั้นเชื่อตัวเลขทางสถิติ มากกว่าที่จะสำรองเงินในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้
ช่วงปี 2008 ต้นทุนทางการเงิน ในการจ่ายรายเดือนของกลุ่ม Subprime เริ่มสูงขึ้น และเริ่มไม่มีกำลังที่จะจ่าย สัญญาการจำนองบ้านค่อยๆ เริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงต้นกลุ่มธนาคารและกองทุนก็ยังวางใจกับนโยบายการรับประกันของบริษัทรับประกันอยู่ แต่เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น บริษัทประกันพบว่ามีสัญญาตราสารหนี้ CDO มากมายเกินกำลังที่เขาไม่สามารถชดเชยให้ได้
บริษัทประกันนั้นเงินเริ่มหมดในวันที่ 15 กันยายนปี 2008 เป็นวันเดียวกันกับที่ธนาคารเก่าแก่และใหญ่ที่สุด ในอเมริกา Lehman Brothers ถูกบังคับให้ล้มละลาย และทำให้ FED ต้องออกมาใช้นโยบายที่อัดฉีดเงินเข้ามาในระบบอย่างมโหฬารนับตั้งแต่นั้นมา ในช่วงนั้นตลาด Dow Jones ตกลงมาจาก 14,164 จุดในช่วงตุลาคมปี 2007 ลงมาอยู่ที่ 6,763 จุดในช่วงมีนา 2009
ปัจจุบันพวกเรากำลังอยู่ในกระแสคลื่นหนี้สินลูกที่ 4 และ Covid-19 ก็เป็นตัวกระตุ้นให้หลายๆ รัฐบาล ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ปริมาณหนี้ที่เกิดขึ้นในระบบ ทั้งใหญ่ เร็ว และแรงกว่าเดิมหลายเท่า หลายๆประเทศในโลกถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ทำในลักษณะเดียวกัน คือการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่า ไม่ทำก็ผิด แม้ทำก็ผิด สิ่งที่จะตามมาหลังจากวิกฤต Covid-19 จะเป็นอะไรไม่สามารถมีใครบอกได้ และเราอยู่ในจุดสูงสุดที่จะก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้วหรือยัง ก็ยังไม่มีใครคาดเดาได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องเตรียมความพร้อม รักษากระแสเงินสด เพื่อเตรียมพร้อมกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้น หากมีเงินเหลืออาจต้องนำไปเก็บไว้กับสินทรัพย์ที่สามารถรักษามูลค่าได้ และภาครัฐเองก็คงต้องระมัดระวังในการใช้มาตรการทางการเงิน
“เรากำลังอยู่ในยุคที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านการเงิน อีกไม่นานผมเชื่อว่ามาตรฐานทางการเงินระดับโลกจะมีการเปลี่ยนแปลง”
โฆษณา