19 เม.ย. 2020 เวลา 08:50 • ธุรกิจ
หลายประเทศ อาจเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร
การระบาดของโควิด-19 ทำให้การขนส่งอาหารทั่วโลกเป็นไปอย่างยากลำบาก
และปัญหานี้อาจทำให้หลายประเทศอาจเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร
โควิด-19 ไม่ได้สร้างปัญหาเฉพาะเรื่องสุขภาพของคนเท่านั้น
แต่สร้างปัญหาให้กับเรื่องอื่นๆ อย่างระบบขนส่งด้วย
เรื่องนี้เป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เรามาทำความเข้าใจขั้นตอนการขนส่งอาหารในเบื้องต้นกันก่อน
โดยทั่วไป ผู้ผลิตจะส่งอาหารไปยังท่าเรือด้วยรถบรรทุก
แล้วอาหารก็จะถูกนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์
จากนั้นก็ส่งออกไปต่างประเทศด้วยเรือส่งสินค้า
แต่โควิด-19 ทำให้ขั้นตอนที่กล่าวมานั้น “ลำบาก” ขึ้น!
ผลจากมาตรการ Lockdown ทำให้การเดินทางและขนส่งด้วยรถบรรทุกต้องล่าช้า
เพราะต้องผ่านการตรวจสอบระหว่างทางบ่อยๆ
รู้ไหมว่า ตอนนี้การขับรถบรรทุกจากเยอรมนีข้ามแดนไปโปแลนด์ที่อยู่ติดกัน
จะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นกว่า 10 ชั่วโมงในการผ่านด่าน
ปัญหาต่อมาอยู่ที่ท่าเรือ
ท่าเรือเป็นช่องทางหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
แต่เจ้าหน้าที่การท่าเรือในหลายประเทศเกิดติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา
ทำให้การจัดการสินค้าต้องล่าช้าออกไป และเกิดปัญหาคอขวดตามมา
จากความล่าช้าของรถบรรทุกและการจัดการที่ท่าเรือก็ทำให้เกิดปัญหาสำคัญอีกอย่าง
นั่นคือภาวะขาดแคลน “ตู้คอนเทนเนอร์”
ปกติแล้วตู้คอนเทนเนอร์ก็จะถูกหมุนเวียนใช้งานส่งสินค้าไปทั่วโลก
แต่ปัญหาจากเรื่องรถบรรทุกและการจัดการสินค้าที่ท่าเรือ
อย่างในจีน อินเดีย ไนจีเรีย และอีกหลายประเทศ
มีสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากที่ยังรอนำสินค้าออกจากตู้
Cr. Nippon
สถานการณ์ตอนนี้คือ ตู้คอนเทนเนอร์กำลังขาดแคลนทั่วโลก
บราซิล หนึ่งในผู้ส่งออกอาหารมากที่สุดในโลก
ก็ไม่สามารถส่งอาหารได้ในตอนนี้ เนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ
ผู้ส่งออกหลายรายต้องรอตู้คอนเทนเนอร์ในการส่งอาหาร
แต่ผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีข้อจำกัดเรื่องความสดใหม่และระยะเวลาที่ควรบริโภค
ถ้าหมดอายุก่อนจะได้ส่ง ก็ต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย
ความหวั่นวิตกเรื่องภาวะขาดแคลนอาหารทำให้บางประเทศระงับการส่งออกอาหารไว้
เพื่อสำรองไว้บริโภคในประเทศ
เช่น เวียดนามระงับการทำสัญญาส่งออกข้าวฉบับใหม่ไปก่อน
Cr. The Star Online
เพื่อให้เห็นภาพของปัญหามากขึ้น
เราลองมาดูเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์มีประชากรกว่า 100 ล้านคน สูงเป็นอันดับสองของอาเซียน
สวนทางกับความสามารถในการผลิตอาหารภายในประเทศที่ไม่เพียงพอต่อประชากร
อาหารส่วนใหญ่ที่บริโภคในประเทศจึงต้องมาจากการนำเข้า
เพราะไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการของประชากร
สำหรับฟิลิปปินส์ถือว่าน่าเป็นห่วง
ท่าเรืออาจจะต้องปิดรับสินค้าชั่วคราว เพราะมีตู้คอนเทนเนอร์กว่า 1,000 ตู้ค้างส่งอยู่
ซ้ำร้าย ยังมีเจ้าหน้าที่ในท่าเรือจำนวนหนึ่งติดเชื้อโควิด-19
นอกจากนี้ การส่งของในประเทศด้วยรถบรรทุกก็ลำบากเพราะมาตรการ Lockdown
1
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การขนส่งในสหรัฐฯ
เกษตรกรต้องทิ้งนมและผลไม้กว่า 15% จากผลผลิตทั้งหมด
เพราะความต้องการลดลงจากการปิดร้านอาหารและโรงเรียน
แม้พวกเขาจะอยากนำไปบริจาคแต่ก็ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้
Cr. USA Today
จากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วอาหารนั้นยังเพียงพอ
แต่ปัญหาหลักคือ ไม่สามารถส่งอาหารไปถึงปลายทางได้
โดยมีปัญหาตั้งแต่รถบรรทุก ตู้คอนเทนเนอร์ ไปจนถึงท่าเรือ อย่างครบวงจร
ในความโชคร้ายก็ยังพอมีเรื่องดีอยู่บ้างสำหรับผู้ส่งออกอาหาร
นั่นคือประเทศที่ผลิตอาหารส่งออกจะขาดรายได้
แต่โอกาสที่จะเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในประเทศก็จะมีน้อย
เมื่ออ่านบทความนี้จบ
ก็นับว่าประเทศไทยโชคดีในเรื่องนี้
เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถผลิตอาหารได้มาก และนำส่วนเกินมาส่งออก
ดังนั้น ประเทศไทย ก็น่าจะเป็นหนึ่งในประเทศ
ที่จะไม่เจอภาวะขาดแคลนอาหาร เหมือนประเทศอื่น..
โฆษณา