17 เม.ย. 2020 เวลา 14:52
สวัสดีครับ นักศึกษาวิชาชีวิตทุกท่าน
ผ่านมาสองสัปดาห์แล้วกับการ WFH และ ต้องบริหารเวลา ในการดำเนินชีวิต ผมคาดว่าหลาย ๆ คน มีปัญหาเรื่องการบริหารเวลานอนมากกว่าแต่ก่อน เนื่องจาก เราเริ่ม เครียดกับการไม่ได้ออกไปไหน จึงใช้เวลาว่าง ในการดูซีรี่ส์มากขึ้น หรือทำกับข้าวมากขึ้น ทำให้การนอนหลับพักผ่อน ค่อนข้างจะผิดไปจากตารางเวลาปกติ
วันนี้ ผมเลยไปศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น ก็ค้นพบว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังนะครับ หลาย ๆ คน นอนพักผ่อนน้อยลง เพราะมีเวลาในการเตรียมตัวตื่นมากขึ้น ไม่ต้องเดินทาง เป็นเหตุให้การนอนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ด้วยความห่วงใย ในสุขภาพของทุกคน ในช่วงเวลานี้ จึงเป็นที่มาของบทความนี้ครับ การนอนพักผ่อนที่น้อยลงนี้ ส่งผลอย่างไรกับเราบ้าง ไปติดตามกันครับ
วิชา กายวิภาคศาสตร์ เรื่องสมรรถภาพร่างกาย กับการนอนหลับพักผ่อน
มีงานวิจัยมากมายได้มีการบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า
”นอนชดเชยเยอะ ๆ ไม่ได้ช่วย และยังส่งผลเสีย!“
คณะนักวิจัยสหรัฐ นำโดย ดร.แดเนียล โคเฮน จากโรงพยาบาลบริกแกม กล่าวว่า การนอนไม่พอหลายคืนจะทำให้ประสิทธิภาพร่างกายแย่ลงในช่วงที่ตื่นอยู่ โดยเฉลี่ยคนเราควรนอนคืนละ 8 ชั่วโมง หากไม่ได้นอนหลังจากตื่นมาแล้ว 24 ชั่วโมง ถือว่านอนไม่พอฉับพลัน แต่หากนอนเพียงคืนละ 4-7 ชั่วโมง ติดต่อกันหลายคืนถือว่านอนไม่พอเรื้อรัง
นอนไม่พอ จนทำให้ง่วงเหงาหาวนอนตอนกลางวัน
“คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่านอนไม่พอเรื้อรัง หลายคนคิดว่าการได้นอนชดเชยหนึ่งคืนก็พอ เพราะรู้สึกดีขึ้น แต่หลังจากนั้นก็นอนไม่พอต่อไป ซึ่งจะทำให้หลับใน ขาดความระมัดระวัง เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ” นักวิจัยเตือน
ซึ่งการวิจัย ได้ผลลัพธ์จากการทดลอง ในหลายงานครับ เริ่มกันที่ ผลการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ยืนยันว่าการนอนไม่พอระหว่างสัปดาห์ และหันมานอนชดเชยในช่วงวันหยุดแทนนั้น ไม่เป็นประโยชน์อะไรเพราะนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาการพักผ่อนไม่พอแล้ว ยังจะเพิ่มความเสี่ยงเรื่องความอ้วน โรคเบาหวาน รวมทั้งความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและอื่นๆ ได้ด้วย
โดยพบว่า พฤติกรรมการนอนชดเชยในช่วงวันหยุด ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มที่นอนไม่พอระหว่างสัปดาห์และพยายามนอนชดเชยนั้น มักจะมีปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะเมื่อเรานอนไม่พอ ร่างกายจะเผาผลาญแคลอรี่มากขึ้น ทำให้เราหิวบ่อยขึ้นและมักกินผิดเวลา
นอกจากนั้น การนอนไม่พอยังส่งผลต่อฮอร์โมนที่สำคัญสองตัวในร่างกายด้วย หนึ่งนั้นคือฮอร์โมน Leptin ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมและลดความอยากอาหาร ซึ่งเมื่อเรานอนไม่พอฮอร์โมน Leptin นี้จะลดลง ในขณะที่ฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งชื่อ Ghrelin ซึ่งเพิ่มความอยากอาหารจะมีระดับสูงขึ้น
แต่ที่สำคัญต่อสุขภาพมากกว่าน้ำหนักตัวหรือรอบเอว ก็คือการนอนไม่พอและพยายามหาเวลานอนชดเชยในช่วงสุดสัปดาห์ จะส่งผลต่ออินซูลินในกล้ามเนื้อและตับ ซึ่งก็หมายถึงว่าร่างกายของคนที่นอนไม่พอจะสูญเสียความสามารถในการควบคุมน้ำตาลในเลือดและเพิ่มปัญหาความเสี่ยงของการเป็นเบาหวานได้
แพทย์แนะนำว่าผู้ใหญ่โดยทั่วไปต้องการเวลานอนอย่างน้อยคืนละ 7 ชั่วโมง และมากกว่านั้นสำหรับเด็กครับ
อีกหนึ่งงานวิจัย ของ อเล็กซานดรอส วีกอนต์แซส ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับและศาสตราจารย์จิตวิทยา มหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ ได้ทำการวิจัยและเก็บตัวอย่างศึกษาจากหนุ่มสาวที่ต้องใช้เวลา 13 คืนในห้องปฏิบัติการ
สี่คืนแรก อาสาสมัครจะได้นอนเต็มที่ 8 ชั่วโมง หลังจากนั้นอีก 6 คืนได้นอนแค่ 6 ชั่วโมง ส่วน 3 คืนสุดท้ายได้นอนยาวเหยียด 10 ชั่วโมง
สิ่งที่พบคือ หลังจากหนึ่งสัปดาห์ที่นอนไม่เต็มที่ การได้นอนชดเชยในสองคืนต่อมาช่วยได้แค่ทำให้ไม่รู้สึกง่วงเหงาหาวนอนเท่านั้น แต่ไม่มีผลดีต่อประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่อย่างใด
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การนอนชดเชยในวันเสาร์-อาทิตย์หลังจากนอนไม่พอมาตลอดสัปดาห์ ไม่สามารถเยียวยาผลลบจากการพักผ่อนไม่เพียงพอที่เกิดกับสติปัญญาความคิดได้
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ความเชื่อที่ว่า การนอนตื่นสายในวันหยุด หรือ นอนยาวๆในช่วงเวลาที่ว่าง จะช่วยทดแทนการนอนที่หายไปนั้น คงไม่ใช่ความคิดที่ดีแน่ แม้จะเป็นสิ่งที่ใครหลายคนทำอยู่และมองว่ามันช่วยให้สดชื่นก็ตาม
ดังนั้น หากคุณกำลังคิดว่า การนอนตื่นสายกระทั่งบ่ายในวันเสาร์จะชดเชยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าที่สะสมมา 5 วันได้ คุณกำลังทำผิดพลาดแล้วครับ แม้การนอนตื่นสายโด่งในวันเสาร์อาจช่วยให้สมองปลอดโปร่งขึ้น แต่การทำกิจกรรมต่างๆ ยังเชื่องช้าและเงอะงะอยู่ดี เพราะประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆ ของคนเราจะเสื่อมถอยลงถ้าได้นอนไม่ถึง 6 ชั่วโมง และไม่สามารถฟื้นคืนได้แม้นอนชดเชยในอีกสองคืนต่อมาก็ตาม
และที่ร้ายยิ่งกว่าคือ การนอนไม่พอและพยายามนอนชดเชยในช่วงวันหยุด จะทำให้ระบบการย่อยอาหารของร่างกายเสียสมดุล ทำให้เกิดปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่ม มีไขมันเกาะที่บริเวณรอบเอว มีระดับโคเลสเตอรอลที่ผิดปกติ มีน้ำตาลในเลือดสูง และมีความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ เรื่องเหล่านี้ยังเพิ่มโอกาสความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจสมองขาดเลือดหล่อเลี้ยง และโรคเบาหวานได้ด้วยครับ
ผมอยากให้ทุกคน ปฏิบัติตัว เหมือนเช่นการทำงานปกติ แล้วคุณจะพบว่า ถ้าคุณกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม คุณจะเห็นเวลาพิเศษ ที่คุณได้เพิ่มมามากมาย เพราะคุณได้เก็บสะสมเวลาในการเดินทางฝ่าการจราจรปกติของคุณมาได้ อย่างน้อยวันละ 2-3 ชั่วโมง เลยทีเดียว และคุณก็จะสามารถทำอะไรได้มากขึ้น แต่อย่าไปเบียดเบียนการนอนเลยนะครับ
ถ้าชื่นชอบบทความนี้ ก็ส่งต่อกันไปให้ท่านอื่น ๆ นะครับ และผมจะนำเสนอสิ่งที่เราไม่ได้เรียนรู้ หรือได้ยินเพียงแค่ผิวเผินจากตำราเรียนมาฝากกันอีก
แล้วผมจะเล่าให้ฟังกันใหม่ เร็ว ๆ นี้ ครับ
#เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด #และไม่ได้หยุดแค่ในห้องเรียน #DeMonstrationSchool
โฆษณา