18 เม.ย. 2020 เวลา 06:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
[4] Deep-sea dragonfish อสูรร้ายทะเลลึก
หากพูดถึง “อสูรร้ายทะเลลึก” หลายคนน่าจะนึกถึงปลาตกเบ็ด (angler fish) ปลาทะเลลึกหน้าตาไม่เป็นมิตรที่ใช้เบ็ดเรืองแสงในการล่อเหยื่อ แต่ก้นสมุทรอันกว้างใหญ่ยังมีปลาทะเลลึกอีกมากมายที่แปลกประหลาดไม่แพ้กัน และหนึ่งในนั้นก็คือ deep-sea dragonfish
#จีบตอนเด็กแถมฟรีตอนโต deep-sea dragonfish เป็นกลุ่มของปลาทะเลลึกในวงศ์ Stomiidae ปลากลุ่มนี้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากระยะตัวอ่อนไปเป็นระยะตัวเต็มวัยที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในสกุล Idiacanthus ความพิลึกพิลั่นของปลาสกุลนี้พบได้ในระยะตัวอ่อนของพวกมันซึ่งมีก้านตาที่ยาวมาก ๆ เมื่อเทียบกับร่างกายทรงเส้นก๋วยเตี๋ยวขนาดเพียง 2 – 3 เซนติเมตร ลักษณะก้านตาที่ยืดยาวหรือที่เรียกว่า stylophthalmine trait นี้แม้จะดูโง่ ๆ แต่จริง ๆ แล้วมีประโยชน์ในด้านการเพิ่มวิสัยการมอง ทำให้พวกมันกราดสายตาไปทิศทางใดก็ได้ นอกจากนี้พวกมันยังมีลำไส้ที่ปลิ้นออกมานอกลำตัวอีกด้วย (สังเกตส่วนที่ยื่นยาวออกมาบริเวณท้ายลำตัวในรูปประกอบ) เมื่อพวกมันเปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะตัวเต็มวัย ก้านตาและลำไส้ของพวกมันจะหดกลับเข้าร่างกายและกลายร่างเป็นอสูรร้ายที่หน้าตาแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
#ล่อ ระยะตัวเต็มวัยของปลาในสกุล Idiacanthus รวมทั้งสกุลอื่น ๆ ในวงศ์ Stomiidae มักจะถูกเรียกว่า barbeled dragonfish เนื่องจากพวกมันมีหนวดใต้คาง (mental barbel) ที่โดดเด่น ที่ปลายหนวดของพวกมันมีเหยื่อล่อเปล่งแสง ล่อให้ปลาเคราะห์ร้ายตัวอื่นหลงเข้ามาใกล้ ก่อนจะถูกเขมือบเข้าไปในร่างสีหม่นของพวกมันซึ่งอำพรางอยู่ในความมืด (วิธีเดียวกับปลาตกเบ็ด) และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฮุบเหยื่อที่มองเห็นได้ยากในทะเลลึกและอาจมีขนาดใหญ่กว่าตัวมันเอง deep-sea dragonfish หลายชนิด เช่น สกุล Aristostomias สกุล Malacosteus ฯลฯ จึงพัฒนาขากรรไกรและข้อต่อระหว่างกระดูกท้ายทอยกับกระดูกสันหลังข้อแรกที่ยืดหยุ่นเป็นพิเศษ ทำให้อ้าปากได้กว้างถึง 120 องศา (Schnell & Johnson, 2017) อีกทั้งยังมีซี่ฟันที่โปร่งใสและกลืนไปกับความมืดของทะเลลึก ทำให้เหยื่อไม่มีทางสังเกตเห็น (Velasco-Hogan et al., 2019)
#ลับ เนื่องจากแสงสีน้ำเงินเป็นช่วงคลื่นเพียงช่วงเดียวที่ทะลุไปถึงก้นสมุทรได้ ปลาทะเลลึกส่วนใหญ่จึงมีดวงตาที่มองเห็นได้แค่สีน้ำเงินเท่านั้น แต่ deep-sea dragonfish บางกลุ่ม (โดยเฉพาะกลุ่มที่มีข้อต่อท้ายทอยแบบพิเศษที่กล่าวไปข้างต้น) ได้พัฒนาระบบการมองเห็นแสงในช่วง far-red (ความยาวคลื่นมากกว่าแสงสีแดง) เสริมขึ้นมาอีกระบบหนึ่งและพัฒนาอวัยวะเปล่งแสง (photophore) บริเวณใต้ตาที่สามารถเปล่งแสงช่วง far-red ได้ควบคู่ไปด้วย ทำให้พวกมันมีย่านการมองเห็นที่กว้างกว่าเหยื่อของพวกมัน เหมือนมีไฟส่องเหยื่อลับ ๆ ที่มีแค่ตัวเองเท่านั้นที่มองเห็นได้ (Kenaley et al., 2013) นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกว่า deep-sea dragonfish ในสกุล Malacosteus ใช้สารสีในกลุ่ม “bacteriochlorophyll” ซึ่งมีที่มาจากแพลงก์ตอนกลุ่ม copepod ที่พวกมันกิน มาช่วยเสริมในการตรวจจับแสงช่วง far-red อีกด้วย (Douglas et al., 2000)
เอกสารอ้างอิง:
Douglas R.H., Mullineaus C.W. & Partridge J.C. (2000) Long-wave sensitivity in deep-sea stomiid dragonfish with far-red bioluminescence: evidence for a dietary origin of the chlorophyll-derived retinal photosensitizer of Malacosteus niger. Phil. Trans. R. Soc. Lond. B. 355: 1269–1272.
Kenaley C.P., DeVaney S.C. & Fjeran T. (2013) The complex evolutionary history of seeing red: molecular phylogeny and the evolution of an adaptive visual system in deep-sea dragonfishes (Stomiiformes: Stomiidae). Evolution. 68: 996–1013.
Schnell N.K. & Johnson G.D. (2017). Evolution of a functional head joint in deep-sea fishes (Stomiidae). PLoS ONE. 12.
Valesco-Hogan A., Deheyn D.D., Koch M., Northdurf B., Arzt E. & Meyers M.A. (2019) On the nature of the transparent teeth of the deep-sea dragonfish, Aristostomias scintillans. Matter. 1: 1–15.
โฆษณา