18 เม.ย. 2020 เวลา 06:47 • ธุรกิจ
เศรษฐกิจไทย ปีนี้จะติดลบแบบ Double-Digit
ถึงวันนี้ทุกคนคงยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยจะหดตัวแน่ๆ
และเราจะเจอ Recession หรือติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาสในที่สุด
ปีนี้ไตรมาส 1 คงจะแย่ แต่จะแย่กว่าในไตรมาสที่ 2
แต่คำถามที่คนอยากรู้ต่อไปก็คือ
การติดลบครั้งนี้ มันรุนแรงขนาดไหน?
คงไม่มีใครรู้ตัวเลขที่แน่ชัด
แต่เมื่อไปดูข้อเท็จจริงมาประกอบกัน
ก็อาจจะทำให้เราพอคาดการณ์ได้ว่า
การหดตัวครั้งนี้ จะรุนแรงมากถึงขั้น Double-Digit
คำว่า Double-Digit แปลว่าเลข 2 หลัก หรือ -10% ขึ้นไป
แล้ว -10% มันมากขนาดไหน?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
16.9 ล้านล้านบาท คือ GDP ของประเทศไทย ปีที่แล้ว
คำว่า -10% ขึ้นไป ก็หมายความว่า GDP ไทยจะหายไปอย่างน้อย 1.69 ล้านล้านบาท
ด้วยตัวเลขขนาดนี้ จะมากกว่างบประมาณโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ทั้งหมดที่ประเทศไทยเคยมีมาและกำลังจะสร้าง
และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องตั้งงบประมาณมารับมือกับเรื่องนี้มากถึง 1.9 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุด เท่าที่ประเทศไทยเคยมีมาเช่นกัน..
GDP เป็นตัวชี้วัดรายได้ของประเทศแบบทั้งหมด
แน่นอนว่า บางคนจะมีรายได้มาก บางคนมีรายได้น้อย
แต่เกณฑ์มาตรฐานทั่วไปในการวัดรายได้ต่อหัวก็คือ การเอา GDP มาหารจำนวนประชากร
ถ้านำ GDP ปี 2019 มาหารประชากรไทย 66.5 ล้านคน
จะได้ GDP ต่อหัว ปี 2019 เท่ากับ 250,000 บาท
ถ้า GDP ติดลบ 10%
ก็หมายความว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนไทยหนึ่งคนจะมีรายได้หายไป 25,000 บาทในปีนี้
พอมาถึงตรงนี้
จากเดิมที่เราคิดว่าตัวเลขติดลบ 10% เป็นคำที่ดูมากเกินจริง
แต่เมื่อเรามองไปบนท้องถนน
รถราที่ว่างเปล่า
ร้านอาหารที่ปิดตัว
นักท่องเที่ยวที่หายไป
หลายคนอาจบอกว่า ปีนี้รายได้ของเขาได้หายไปมากกว่า 25,000 บาท แล้วด้วยซ้ำ
คำถามต่อไปก็คือ แล้วการหดตัวของเศรษฐกิจไทย มันจะไปลดลงในส่วนไหนบ้าง
เรามาดูรายการใหญ่ๆ ของเศรษฐกิจไทยกัน
สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในช่วงแรกของการระบาดก็คือ
“รายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศ”
เรามีนักท่องเที่ยวมาในปีที่แล้ว 39.8 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 1.9 ล้านล้านบาท หรือ 11% ของ GDP
ถามคำถามเดียว คือ เราคิดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะมาประเทศไทยได้เมื่อไหร่
ถ้าคิดว่าปีนี้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะหายไปครึ่งหนึ่ง
ก็คิดเป็นการหดตัว 5.5% ของ GDP แล้ว
และนี่แค่คลื่นระลอกแรกที่ได้เกิดขึ้น ซึ่งทุกคนคิดว่าหนักแล้ว
จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม 2563..
กรุงเทพมหานคร สั่งปิดห้าง ร้านอาหาร และสถานประกอบการ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ได้ทวีความรุนแรงขึ้น เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่หลายคนอาจไม่ได้คาดการณ์มาก่อนว่าจะเกิดขึ้น
Cr. Thairath
ไม่ใช่แค่เฉพาะในกรุงเทพมหานคร
ตามต่างจังหวัด และหัวเมืองใหญ่ของประเทศ ก็พบกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 เช่นกัน
จนทำให้สถานการณ์ตอนนี้ การเดินทาง การบริโภค การจับจ่ายใช้สอย หยุดชะงักทั้งหมด
ไม่ใช่แค่ตัวเรา
ให้ไปถามพ่อแม่เรา
ว่าตั้งแต่เกิดมา พวกเขาเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ไหม
พวกเขาก็คงตอบว่า ไม่เคยเจอเรื่องเลวร้ายแบบนี้มาก่อน
แล้วการหยุดชะงักของบ้านเมืองนี้ ส่งผลต่อตัวเลขการบริโภคขนาดไหน?
“8.5 ล้านล้านบาท” คือมูลค่าการบริโภคของภาคเอกชนในปี 2019
ถ้าตัวเลขนี้หดตัวไป 10% ก็คือ 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะคิดเป็น 5% ของ GDP
ทำไมถึงมีความเป็นไปได้ที่การบริโภคจะลดลงอย่างน้อย 10%
เรามาดูตัวเลขกัน
การบริโภคในไทยประกอบไปด้วยอะไรบ้างในปี 2019?
รายการใหญ่ 3 รายการที่เกิน 1 ล้านล้านบาท ในปี 2019
อาหาร 2.2 ล้านล้านบาท
โรงแรมและร้านอาหาร 1.8 ล้านล้านบาท
เดินทางขนส่ง 1.3 ล้านล้านบาท
จากรายการดังกล่าว
สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ
หมวดโรงแรมและร้านอาหาร 1.8 ล้านล้านบาท
สภาพที่เราเห็นตอนนี้ ไม่ต้องพูดถึงว่าคนเข้าพักโรงแรมชะลอตัว แต่ตัวเลขนี้กำลังเป็น “ศูนย์”
แล้วเราคิดว่า คนจะกล้าพักโรงแรมกันเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้
แต่ที่รู้คือ หมวดโรงแรมและร้านอาหาร ตัวเลขนี้น่าจะหายไปอย่างน้อย 30% ในปีนี้ คิดเป็น 5.4 แสนล้านบาท หรืออย่างน้อย 3% ของ GDP
Cr. Techsauce
สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อมาก็คือ การเดินทางและขนส่ง
ตัวเลขในหมวดนี้ประกอบไปด้วย
- การซื้อยานพาหนะ 4.2 แสนล้านบาท
- อะไหล่ยานพาหนะ 5.0 แสนล้านบาท
- บริการการขนส่ง 4.0 แสนล้านบาท
เราเดินทางกันน้อยลงมาก
น้อยลงจนเราอาจลืมไปว่า เรานั่งเครื่องบินครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
เรานั่งรถไปต่างจังหวัดล่าสุดวันไหน
และเราคงไม่ไปซื้อรถคันใหม่ในเร็วๆ นี้ ถึงแม้ว่าระยะถัดไปคนจะหันมามองรถส่วนบุคคลมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้
ต่อมาคือค่าใช้จ่ายใหญ่ๆ ลำดับถัดมาของคนไทย ในปี 2019
น้ำ ไฟฟ้า แก๊ส 8.4 แสนล้านบาท
พักผ่อนและบันเทิง 5.3 แสนล้านบาท
สุขภาพ 4.4 แสนล้านบาท
เสื้อผ้าและรองเท้า 3.9 แสนล้านบาท
อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน 3.7 แสนล้านบาท
แอลกอฮอล์ และบุหรี่ 3.0 แสนล้านบาท
สื่อสารโทรคมนาคม 1.9 แสนล้านบาท
เริ่มจากรายการที่ไม่น่ากระทบก็คือ น้ำ ไฟฟ้า แก๊ส และ การสื่อสารโทรคมนาคม เพราะสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของคนไทยในช่วงกักตัว
แต่รายการที่น่าจะกระทบไม่มากก็น้อยก็คือ
- พักผ่อนและบันเทิง ผู้คนไม่ไปดูภาพยนตร์ งดออกนอกสถานที่
- สุขภาพ ผู้คนถ้าไม่เจ็บป่วยมากจริงๆ ก็ไม่อยากไปโรงพยาบาล
- อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ผู้คนอาจชะลอการซ่อมแซมบ้านครั้งใหญ่ไปก่อน เพราะช่วงนี้ต้องประหยัด
สรุปแล้ว การบริโภคของไทยจะหดตัวลงจากหมวด โรงแรมและร้านอาหาร การเดินทางและขนส่ง พักผ่อนและบันเทิง รวมถึงหมวดอื่นๆ ทางอ้อม และถ้าให้ตัวเลขนี้ไปรวมกับรายได้จากนักท่องเที่ยวที่หายไป การชะลอลงทุนเพิ่มของภาคเอกชน
นั่นก็น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่ปีนี้ GDP ไทยมีความเป็นไปได้ที่จะติดลบ Double-Digit หรือ อย่างน้อย 10%
แล้วเราควรทำอะไรต่อไป?
สิ่งสำคัญตอนนี้คือมองไปข้างหน้า
ที่กล่าวมาทั้งหมดทุกคนก็คงรู้ว่ามันจะได้รับผลกระทบ ย้อนกลับมาไม่ได้แล้ว
และเมื่อมีตัวเลขติดลบเกิดขึ้นมา ก็ไม่ต้องไปตกใจ
เพราะมันก็ต้องเป็นแบบนี้ และเตรียมใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น
แน่นอนว่าชีวิตคน สำคัญกว่าเงิน
ต่อให้เศรษฐกิจดีแค่ไหน แต่ถ้าต้องแลกกับคนตายเป็นหมื่นเป็นแสนคน ก็น่าจะไม่คุ้มกัน
ดังนั้นหนทางที่เราเลือกเดินมาแล้ว ก็น่าจะมาถูกทาง
แต่เราจะทำอย่างไร ให้การเดินทางครั้งนี้ไม่สูญเปล่า
นั่นก็คือ เราต้องร่วมมือกัน ช่วยกันไม่ให้ตัวเลขการระบาดพุ่งสูงขึ้นมาใหม่
เพราะหากการปิดเมืองต้องยืดเยื้อ เศรษฐกิจก็ยิ่งจมดิ่งมากขึ้นเท่านั้น
สิ่งที่สำคัญสุดสำหรับวันข้างหน้า ก็คือ “สภาพคล่องในตอนนี้”
ไม่ว่าเราจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จแค่ไหน
กิจการเราใหญ่โตอย่างไร หรือคล่องตัวเพราะเล็กแค่ไหน
ถ้าเราผ่านช่วงนี้ไปไม่ได้
มันก็คือ “จบ”
ทำอย่างไรให้เราผ่านช่วงนี้ไปได้
เรามีเงินสดเพียงพอสำหรับในอนาคตมากแค่ไหน
เรามีเงินสดสำหรับการอยู่รอดไปได้อีกนานเท่าไร
นั่นคือคำถามที่น่าคิดสำหรับทุกคน
และในวันข้างหน้า เมื่อเรื่องราวเริ่มฟื้นฟูขึ้น
ถ้ามันยังไม่ดีขึ้นแบบทันทีทันใด เราจะรับมืออย่างไร
เราจะรอไปเรื่อยๆ รอวันที่ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม
หรือเราจะลงมือทำอะไรสักอย่าง
โดยที่ไม่ต้องรอว่า “โชคชะตา” จะเล่นตลกกับเราอย่างไร..
╔═══════════╗
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 4
หนังสือเล่มนี้จะพูดถึงประวัติเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี ค.ศ.1100 ไล่ยาวไปจนถึง ค.ศ.2019
สั่งซื้อได้ที่ (ซื้อตอนนี้มีส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
╚═══════════╝
References
-สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
-กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
โฆษณา