27 เม.ย. 2020 เวลา 08:51 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ
หลายๆคนก็คงคุ้นเคย และรู้จักเป็นอย่างดีกับเจ้าเครื่องวัดแอลกอฮอล์แบบเป่าลม ที่มีการนำมาใช้เป็นมาตรฐานสำหรับกฏหมายเกี่ยวกับการเมาแล้วขับด้วย
แต่หารู้ไม่ว่าอุปกรณ์นี้มีหลักการทำงานอย่างไร สำหรับการที่เราแค่เป่าลมหายใจเข้าไปแล้วมันสามารถบ่งบอกปริมาณแอลกอฮอล์ที่เราดื่มเข้าไปได้
ผมจะมาเล่าเกี่ยวกับหลักการทำงานของ "เครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ"
ก่อนอื่นทุกท่านต้องเข้าใจก่อนว่าถ้าหากว่าเราดื่มแอลกอฮอล์มา ลมหายใจของเราจะมีแอลกอฮอล์ออกมาด้วย สังเกตได้ง่ายจากกลิ่นของผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งหลายๆคนคงรู้ดีอยู่แล้ว
เมื่อเราเป่าลมหายใจเข้าไปในเจ้าเครื่องนี้ นั่นหมายความว่าจะมีแอลกอฮอล์ปริมาณหนึ่งที่เข้าไปในเครื่องนี้
โดยภายในตัวเครื่องจะมีสารละลายของโพแทสเซียมไดโครเมต(K2Cr2O7) อยู่ ซึ่งสามารถที่จะทำปฏิกิริยากับเอทานอล(แอลกอฮอล์ที่เราดื่มกัน) โดยเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า ปฏิกิริยารีดอกซ์(Redox reaction) ปฏิกิริยาประเภทนี้สามารถเกิดได้ดี และผลที่ได้คือผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้สีของสารละลายเปลี่ยนไป โดยจากเดิมสีของสารละลายไดโครเมตมีสีส้มเหลือง เมื่อเกิดเป็น Cr2(SO4)3 สารละลายจะมีสีเขียว
ปฏิกิริยาที่เกิดกับแอลกอฮอล์
จากผลของการที่สีสารละลายเปลี่ยนไปนี้เอง จึงสามารถที่จะใช้เป็นตัววัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้ ดังนั้นภายในตัวเครื่องจึงมีเซนเซอร์ตรวจวัดสีของสารละลายอยู่ โดยจะแปรผลออกมาเป็นตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับสีที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งในทางกฏหมายของแต่ละประเทศก็จะมีการกำหนดว่าห้ามเกินเท่าไหร่
ถ้าหากคุณดื่มแอลกอฮอล์มามาก ปริมาณแอลกอฮอล์ที่เป่าเข้าไปในเครื่องก็จะมีมาก ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาทำให้สารละลายเปลี่ยนสีไปมาก ตัวเลขที่แสดงผลออกมาก็จะมีค่ามากด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ทุกท่านก็ควรที่จะปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด ทางที่ดีถ้าหากรู้ตัวว่าดื่มมา ก็ไม่ควรที่จะไปขับขี่ เนื่องจากอาจจะเป็นอันตรายทั้งต่อตัวท่าน และผู้อื่นได้ ด้วยความปราถนาดีครับ
อ้างอิง :
Raymong Chang. CHEMISTRY. 12th Edition. Copy right by McGraw-Hill International Enterprises(2017).
โฆษณา