19 เม.ย. 2020 เวลา 04:09 • การศึกษา
เรื่องรถ.. รู้ไว้.. ใช้แล้วไม่พัง
ตอนที่ 2 : ระบบเบรค EBD "เคยใช้กันอยู่.... แต่เธอไม่เคยรู้บ้างเลย"
ถ้าหากเราจะตั้งวงพูดถึงระบบความปลอดภัยในรถยนต์ มันคงจะมีสารพัดระบบงัดขึ้นมาพูดกันไม่จบสิ้น แล้วผมเชื่อว่าจะมีอยู่ระบบหนึ่งที่คงจะต้องได้กล่าวถึงกับบ้างนั่นก็คือ... ระบบเบรค EBD
EBD คือ ระบบกระจายแรงเบรค โดยถือหนึ่งในระบบความปลอดภัยพื้นฐานที่มักจะมาพร้อมกับระบบอื่นไม่ว่าจะเป็น ABS (ระบบป้องกันล้อล็อคขณะเบรค) และ EBA (ระบบเสริมแรงเบรค) โดยทั้ง 3 ระบบนี้จะมีการใช้อุปกรณ์บางอย่างร่วมกัน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเสถียรภาพการขับขี่
แต่เจ้าระบบ EBA นี้มีหลายๆ มักจะสงสัยว่าโดยปกติกแล้วเอาไปใช้กันตอนไหน..? เพราะตอนขับรถจริงๆ ก็ไม่เห็นจะรู้สึกอะไรเลย รวมไปถึงว่ามันทำงานอย่างไร..? (แล้วแถมด้วยว่ามีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร?) เดี๋ยวในบทความนี้ผมจะเอามาเล่ากันให้ฟังนะครับ
สัญลักณ์ระบบเบรค EBD | Cr. gomechanic.in
ระบบเบรค EBD คืออะไร...?
EBD ก็คือ... "ระบบกระจายแรงเบรค" ซึ่งย่อมาจากคำว่า Electronic Brake Force Distribution โดยหน้าที่หลักๆ ของระบบนี้จะทำการสร้างสมดุลแรงเบรคของล้อทั้ง 4 ในระหว่างที่ทำการเบรค ด้วยการใช้ระบบอิเล็คทรอนิคเข้ามาช่วย
เหตุผลของการที่ต้องมีระบบนี้ก็เพราะ การใช้งานรถยนต์ 1 คัน ไม่ว่าจะเป็นรถประเภทไหน ตัวรถก็จะต้องมีการรองรับน้ำหนักของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร รวมไปถึงสัมภาระ หรือสิ่งขอบรรทุก (ถึงแม้ว่าจะเป็นรถสปอร์ต 2 ประตู นั่งกันน้อยๆ ก็ยังคงมีการรองรับน้ำหนัก) และปัญหาที่เกิดจากการรองรับน้ำหนักก็คือ แรงดันน้ำมันเบรคจะไม่มีความสัมพันธ์กับแรงเฉี่อยที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของรถที่มีความแปรผันอยู่ บวกกับจุดรับน้ำหนักของรถจะที่กระจายออกไปแต่ละล้อไม่มีความเท่ากัน นั่นจึงทำให้เวลาเหยียบเบรคจะต้องใส่น้ำหนักที่เท้าให้สมดุลกับน้ำหนักบรรทุกของรถ
หรือในอีกกรณีที่เป็นปัญหานั่นก็คือการเข้าโค้ง นั่นก็เพราะทุกครั้งที่มีการเข้าโค้งพร้อมกับการเหยีบเบรคไปในตัว ระบบจะส่งแรงดันน้ำมันเบรคออกไปโดยที่ล้อทั้ง 4 มีความเร็วในการหมุนที่ไม่เท่ากัน (นึกถึงภาพล้อรถที่กำลังหมุนอยู่ในโค้งวงนอกและโค้งวงในดูนะครับ)
ถ้ากล่าวกันให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือว่า ทุกครั้งที่เราเหยียบเบรค ล้อทั้ง 4 ล้อ จะมีแรงเบรคที่ส่งมาจะปั๊มแรงดันแบบคงที่ (ทางเทคนิคแล้วแรงเบรคล้อหลังจะขึ้นอยู่กับแรงเบรคของล้อหน้า) แต่ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ล้อทั้ง 4 อาจจะกำลังรับภาระน้ำหนักของรถในแต่ละล้อไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดสภาวะที่คนขับจะต้องควบคุมแรงเบรคที่เท้าให้เหมาะกับการขับ ส่งผลให้ทุกครั้งที่เบรคที่ทำการบรรทุกสัมภาระรถจะเกิดอาการหน้าทิ่ม (ตรงนี้เองที่จะทำให้คนขับต้องเหนื่อยเวลาขับ และอาจก่อให้เกิดอันตราย) โดยระบบนี้ค่อนข้างมีความจำเป็นกับประเภทรถกระบะบรรทุก
ภาพเปรียบเทียบรถที่มี EBD กับไม่มี | Cr. autodeft.com
แล้วก่อนหน้าที่ระบบ EBD จะใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันจะยังคงมีอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่มักใช้กันในรถสมัยก่อนนั่นก็คือ LSPV (Load Sensing Proportioning Valve) จะเป็นอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่คอยช่วยทำหน้าที่ เสริมแรงดันน้ำมันเบรคให้กับล้อหลัง เมื่อรถมีสภาวะการรับน้ำหนักบรรทุก โดยจะมีระบบกลไกที่คอยรับน้ำหนักสัมภาระอยู่บริเวณช่วงตอนหลังของรถ เมื่อรถมีการรับน้ำหนักมากขึ้นระบบกลไกจะค่อยๆ เปิดวาล์วแรงดันน้ำมันให้มากขึ้นตามน้ำหนักบรรทุก ส่งผลให้ทุกครั้งที่เวลาเหยียบเบรคแรงจากดันน้ำมันที่สมดุลกับน้ำหนักบรรทุก
สำหรับรถสมัยก่อนที่ใช้ระบบ LSPV ส่วนมากมักจะเห็นในรถกระบะ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความแม่นยำในการทำงาน และไหนยังจะต้องมีการปรับตั้งค่าตามระยะการใช้งาน จึงทำให้เลิกใช้ไปและเปลี่ยนกลายเป็น ESP แทน (สำหรับในระบบ LSPV สำหรับรถกระบะในบางแบรนด์ เคยมีปัญหาในการใช้งานรุนแรงจนถึงขั้นที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ)
ภาพอุปกรณ์ LSPV | Cr. weekendhobby.com
หลักการทำงานในระบบกระจายแรงเบรค จำเป็นต้องมีการใช้อุปกรณ์ดังนี้ คือ
1. เซ็นเซอร์ตรวจจับความเร็วของล้อ
2. ปั๊มควบคุมแรงดันน้ำมันเบรค ABS
3. กล่องควบคุมการประมวลผล
จากตรงนี้ถ้าหากท่านที่ใดติดตามบทความของผมก่อนหน้านี้ จะสังเกตุเห็นได้นะครับว่าอุปกรณ์ที่ใช้งานในระบบ EBD จะเหมือนกันกับระบบ ABS นั่นก็เพราะทั้ง 2 ระบบจะมีกล่องประมวลผลใบเดียวกัน แค่อาจจะใช้ซอฟแวร์คนละตัวครับ
โดยหลักการทำงานจะเริ่มจากเมื่อผู้ขับขี่ทำการเหยียบเบรค.... กล่องสมองกลจะทำการประมวลผลจากเซ็นเซอร์ตรวจจับความเร็วของล้อ แล้วจะส่งสัญญาณไปต่อกับปั๊มควบคุมแรงดัน เพื่อกระจายแรงดันน้ำมันเบรคของล้อทั้ง 4 ออกมาให้มีความสมดุลกัน ทั้งในสภาวะการบรรทุกและการเข้าโค้ง
ภาพวงจรระบบเบรค EBD | Cr. qmotor.com
จากการหลักทำงานตามรูปแบบที่ได้กล่าว เราน่าจะพอเข้าใจได้ว่าระบบกระจายแรงเบรค EBD คือระบบที่เราๆ ท่านๆ ต้องได้มีการใช้งานอยู่แทบจะตลอดเวลา แต่เราแทบจะไม่รู้เลยว่าเราใช้ไปบ้างตอนไหนนั่นก็เพราะ ระบบจะทำการจัดการตัวเองตลอดเวลา เพื่อให้ทุกครั้งเวลาที่เราขับจะเกิดการควบคุมที่ง่ายมากขึ้น และปลอดภัยมากยิ่งขึ้นนั่นเองครับ
โฆษณา