21 เม.ย. 2020 เวลา 04:57 • การศึกษา
พระสูตรเรื่อง : "ผู้ถูกล่าม"
ภิกษุ ท. ! บรรพชิตรูปใด จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ยังตัดเครื่องล่ามทางใจห้าอย่างให้ขาดออกไปไม่ได้แล้ว ; คืนวันของบรรพชิตรูปนั้น ย่อมผ่านไปโดยหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายอย่างเดียว หาความเจริญมิได้. เครื่องล่ามทางใจห้าอย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ยังเป็นผู้มีความกำหนัด ในกามทั้งหลาย, ยังมีความพอใจ, มีความรัก, มีความกระหาย, มีความเร่าร้อน, มีความทะยาน
อยาก ในกามทั้งหลาย. ภิกษุใด เป็นดังกล่าวนี้, จิตของภิกษุนั้น ย่อมไม่น้อมไป เพื่อความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส เพื่อความเพียรทำให้เนือง ๆ เพื่อความเพียรอันติดต่อกัน และเพื่อความเพียรอันเป็นหลักมั่นคง. จิตของผู้ใดไม่น้อมไปในความเพียร ดังกล่าวนี้, นั่นแหละเป็นเครื่องล่ามทางใจอย่างที่หนึ่ง ซึ่งเธอยังตัดให้ขาดออกไม่ได้.
ภิกษุ ท. ! อีกอย่างหนึ่ง, ภิกษุยังเป็นผู้มีความกำหนัด ในกาย _ _ ฯลฯ _ _ นั่นแหละเป็นเครื่องล่ามทางใจอย่างที่สอง ซึ่งเธอยังตัดให้ขาดออกไม่ได้.
ภิกษุ ท. ! อีกอย่างหนึ่ง, ภิกษุยังเป็นผู้มีความกำหนัด ในรูป _ _ ฯลฯ _ _ นั่นแหละเป็นเครื่องล่ามทางใจอย่างที่สาม ซึ่งเธอยังตัดให้ขาดออกไม่ได้.
ภิกษุ ท. ! อีกอย่างหนึ่ง, ภิกษุได้ฉันอาหารเต็มท้องตามประสงค์แล้วก็ มัวหาความสุขในการหลับ หาความสุขในการเอนกายเล่น หาความสุขในการนอนซบเซาไม่อยากลุกขึ้น _ _ ฯลฯ _ _ นั่นแหละเป็นเครื่องล่ามทางใจอย่างที่สี่ ซึ่งเธอยังตัดให้ขาดออกไม่ได้.
ภิกษุ ท. ! อีกอย่างหนึ่ง, ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ โดย ตั้งความปรารถนาเพื่อเป็นเทวดาพวกใดพวกหนึ่ง ว่า “เราจักเป็นเทวดาผู้มีศักดาใหญ่ หรือเป็นเทวดาผู้มีศักดาน้อยชนิดใดชนิดหนึ่ง ด้วยศีลนี้, ด้วยวัตรนี้, ด้วยตบะนี้, หรือด้วยพรหมจรรย์นี้” ดังนี้. ภิกษุใด เป็นดังกล่าวนี้, จิตของภิกษุนั้น ย่อมไม่น้อมไป เพื่อความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส เพื่อความเพียรทำให้เนือง ๆ เพื่อความเพียรอันติดต่อกัน และเพื่อความเพียรอันเป็นหลักมั่นคง. จิตของผู้ใดไม่น้อมไป ในความเพียร ดังกล่าวนี้, นั่นแหละเป็นเครื่องล่ามทางใจอย่างที่ห้า ซึ่งเธอยังตัดให้ขาดออกไม่ได้.
ภิกษุ ท. ! บรรพชิตรูปใด จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ยังตัดเครื่องล่ามทางใจห้าอย่างเหล่านี้ให้ขาดออกไม่ได้แล้ว ; คืนวันของบรรพชิตรูปนั้น ย่อมผ่านไปโดยหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายอย่างเดียว หาความเจริญมิได้ ; เช่นเดียวกับคืนวันแห่งดวงจันทร์เวลาข้างแรม, ดวงจันทร์นั้นโดยสีก็ไม่แจ่มกระจ่าง, โดยวงกลดก็เล็กแคบเข้า, โดยรัศมีก็เสื่อมลง, โดยขนาดก็หดเล็กลง ; ฉันใดก็ฉันนั้นแล.
 
๑. อรรถกถาให้ข้อเปรียบไว้ว่า สมณพราหมณ์ เปรียบดั่งเนื้อป่า, ปัจจัยสี่ เปรียบดั่งบ่วงที่นายพรานดักไว้ในป่า, ขณะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นทำการบริโภคไม่พิจารณาปัจจัยสี่ เปรียบดั่งขณะที่เนื้อนอนจมอยู่ในกองบ่วง, ขณะที่สมณพราหมณ์ต้องทำตามประสงค์ของมาร เปรียบดั่งขณะเมื่อนายพรานมาถึงเข้า เนื้อก็ไม่รู้ว่าจะหนีเอาตัวรอดทางไหน.
๒. บาลี พระพุทธภาษิต ทสก. อํ. ๒๔/๑๙/๑๔.
อ้างอิงจาก : ชุดจากพระโอษฐ์ ๕ เล่ม เล่มที่ ๑
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์
หน้าที่ ๙๖ - ๙๘
พุทธวจน (ธรรมะจากพระโอษฐ์)
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://watnapp.com
ศึกษาดูพระสูตรเพิ่มเติม : https://etipitaka.com/search/
ฟังเสียงธรรมะพระสูตรเพิ่มเติม : https://m.soundcloud.com/search?q=พุทธวจน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา