เหตุที่ รอการลงโทษ......
ช่วงนี้ นอกจากการรายงานสถานการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิต-19 รายวันแล้ว ก็จะมีพ่วงรายงานผู้ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งห้ามออกนอกเคหสถาน ในเวลาตั้งแต่ 22.00 นาฬิกา ถึงเวลา 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ตามมาด้วยเหมือนกัน
ขอบคุณภาพข่าวช่อง 8 ครับ
การฝ่าฝืนดังกล่าวก็จะมีโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับหรือไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สังเกตุนะครับ โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี คือขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี นั่นหมายความว่า ไม่มีขั้นต่ำ ก็คือ ศาลท่านอาจจำคุกได้ตั้งแต่ 1วัน เป็นต้นไปแต่ไม่เกิน 2 ปีครับ แล้วแต่ดุลพินิจของศาล ค่าปรับก็เช่นเดียวกันครับ
ที่ผมจะเล่ากฏหมายแบบบ้านๆ ให้ฟังวันนี้ คือจะเห็นว่าเมื่อศาลพิพากษาแล้ว สมมุติว่า ศาลพิพากษาจำคุก 1 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ไม่เกิน 2 ปี
แล้ว รอการลงโทษ คืออะไร
วิธีรอการลงโทษ มีปรากฏมานานแล้วครับ ในประเทศไทยเมื่อก่อน จะมีปรากฏอยู่ในกฏหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ครับ มีอยู่ในมาตรา 40 ซึ่งนั้นก่อนมีการชำระกฏหมาย ต่อมาเมื่อมีการชำระกฏหมายใหม่ เปลี่ยนเป็นประมวลกฏหมายอาญา การรอการลงโทษ ก็ยังคงมีปรากฏอยู่ ในประมวลกฏหมายอาญามาตรา 56 ซึ่งก็มีการแก้ไขปรับปรุงเรื่อยมา ตามวิวัฒนาการทางกฏหมาย และความเจริญของสังคม
ถามว่า เหตุผลทำไม่ต้องรอการลงโทษ ทำไม่ไม่ให้ติดคุกติดตารางไปเลยจะได้เข็ดหลาบ ครับโทษจำคุกนี้ เพียง 1 วันก็เป็นโทษจำคุกครับ มีตำราหลายเล่มที่เขียนเหตุผลไว้ ซึ่งผมขอสรุปแบบบ้านๆนะครับว่า โทษจำคุกในระยะเวลาอันสั้น อาจไม่เป็นประโยชน์ ต่อผู้กระทำความผิดหรือต่อสังคม ประกอบกับสถานที่ถูกจำคุก มีทั้งบุคคลที่กระทำผิดโดยสันดานซึ่งพวกนี้ยากที่จะแก้ไขได้ กระทำเพราะความจำเป็น บันดาลโทสะ ประเภทนี้ก็อาจกลับตัวได้ แต่ถ้าไปประสบพบเจอกับบุคคลที่กระทำผิดโดยสันดานขึ้นมา ก็อาจจะถูกครอบงำในสิ่งที่ผิดๆได้ภายระยะเวลาอันสั้น เมื่อพ้นโทษออกมาก็อาจกลับไปกระทำความผิดจากสิ่งที่ตนเองเรียนรู้มา ซึ่งก็จะก่อให้เกิดปัญหาในสังคนเพิ่มขึ้น
ฉะนั้นการให้โอกาสผู้กระทำความผิด มีโอกาสแก้ไขฟื้นฟู ปรับปรุงตนเอง ได้กลับสู่ครอบครัวโดยเฉพาะผู้กระทำผิดบางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว มีโอกาสที่กลับต้วเป็นพลเมืองที่ดี ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ได้รับโอกาสในการทำอาชีพสุจริตทำให้เกิดความภาคภูมิใจ ไม่มีปมด้อย น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวมมากกว่า
อาจพูดได้ว่า รอการลงโทษ เป็นการปราม ผู้กระทำความผิดไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก
ขอบคุณภาพจาก PIXABAY
ทีนี้ผมจะพามาดูหลักเกณฑ์ ที่จะสามารถรอการลงโทษได้ หลักนี้จะอยู่ในประมวลกฏหมายอาญามาตรา 56 ครับ ผมจะสรุปหลักเกณฑ์ให้ดังนี้ครับ
1. เป็นผู้กระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ และในคดีนั้น ศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือ ลงโทษปรับ ถ้าบุคคลนั้น
- ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน ( คือติดคุกจริงๆครับ)
- เคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิด ลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน
- เคยรับโทษจำคุกมาแล้ว แต่พ้นโทษมาเกินกว่า 5 ปี แล้วกระทำความผิดอีกโดยความผิดครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือ ความผิดลหุโทษ
ครับนี้คือหลักเกณฑ์ แล้ว ศาลดูจากอะไรในการใช้ดุลพินิจ ครับ จะเล่าต่อให้ฟังครับ
กฏหมายกำหนดให้ศาลพิจารณาถึง อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิตใจ อาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้กระทำ หรือสภาพความผิด หรือการบรรเทาผลร้ายต่างๆ หรือเหตุอันควรปรานีอื่นใดแล้ว ศาลก็จะ พิจารณาว่าผู้นั้นมีความผิด แต่จะรอการลงโทษไว้ ครับ เพื่อ ให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ศาลพิพากษา
ขอบคุณภาพจาก PIXABAY
ในการ ที่ศาลรอการลงโทษนี้ ศาลจะกำหนดเงื่อนไข เพื่อคุมความประพฤติ ของผู้กระทำผิด ด้วยก็ได้นะครับ
ส่วนเงื่อนไข ในการคุมความประพฤติ ก็เช่น ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว , ฝึกหัดหรือทำอาชีพเป็นกิจลักษณะ , บำบัดรักษาการติดยาเสพติด , หรือห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัย ฯ ซึ่งเงื่อนไขนี้ก็จะปรากฏอยู่ใน ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 56 นะครับ
อย่างที่เล่าครับ เป็นการปรามไว้ แต่ถ้าไม่เข็ดไม่จำ โทษที่ศาลรอการลงโทษ ไว้นี่นะครับ หากมีการไปกระทำความผิดอีก โทษที่ศาลรอการลงโทษไว้ก็จะนำมา บวกกับโทษใหม่นะครับ ผมจะยกตัวอย่างให้ดู
เช่น นายดำ ฝ่าฝืน พรก. ฉุกเฉิน ศาลจำคุก 1 เดือน และศาลรอการลงโทษไว้ 2 ปี พออีก อาทิตย์นึง ก็มากระทำความผิดอีก ถูกจับดำเนินคดี อย่างนี้ศาลก็อาจจะไม่รอการลงโทษให้อีก เพราะถือว่าไม่เข็ดหลาบ โดยจะนำโทษเก่า 1 เดือนที่รอการลงโทษไว้มาบวกกับโทษใหม่ด้วยนะครับ ซึ่งจะกฏมายจะเขียนไว้ในมาตรา 58 ประมวลกฏหมายอาญา ครับ
การรอการลงโทษเป็นดุจพินิจของศาลนะครับ แม้เข้าหลักเกณฑ์ก็ตาม แต่ถ้าพิจารณาจากพฤติการณ์และการกระทำแล้ว รอการลงโทษให้ก็ไม่เป็นประโยชน์ เรียกง่ายๆ ก็คือ เกินเยียวยา แบบนี้ศาลก็จะไม่รอการลงโทษให้ครับ
ครับผม เล่าให้ฟังพอรู้กัน แบบกฏหมายบ้านๆนะครับ ทางที่ดีเราปฏิบัติตามกฏหมายไว้ดีที่สุด ไม่ว่าตอนนี้หรือตอนไหน ๆ นะครับ
ก่อนกระทำการอันใดสติสำคัญที่สุด
รู้น้อยรู้มาก ดีกว่าไม่รู้เลยครับ
ฝากกดไลน์,กดแชร์ และติตามด้วยนะครับกระผม
โฆษณา