21 เม.ย. 2020 เวลา 13:00 • ประวัติศาสตร์
ไข้หวัด 1918 ตอนที่ 2
7.
เมษายน ปีค.ศ. 1918 เมืองแบร็ตส์ (Brest) ประเทศฝรั่งเศส
ทหารอเมริกันทั้งหมดที่เดินทางมายุโรป จะขึ้นฝั่งที่เมือง แบร็ตส์ แห่งนี้ จากนั้นก็จะพักที่นี่ระยะหนึ่งก่อนจะถูกส่งตัวต่อไปยังแนวหน้าในเวลาต่อมา
ระหว่างที่พักอยู่ที่แบร็ตส์ก็จะมีการร่วมซ้อมรับกับทหารฝรั่งเศสไปพลางๆ และไม่นานนักทหารฝรั่งเศสก็เริ่มป่วยด้วยโรคไข้หวัด
แม้ว่าไข้หวัดนี้จะไม่ค่อยทำให้ตาย แต่ก็ทำให้ทหารอ่อนเพลียเกินกว่าจะฝึกหรือออกรบได้เป็นสัปดาห์
คราวนี้ลองนึกภาพดูนะครับ ทหารอเมริกันลงมาถึง จากนั้นก็เกิดโรคระบาดขึ้นในค่ายทหารและเมืองนี้
2-3 วันต่อมานานทหารอเมริกันชุดนี้ก็ถูกส่งต่อไปยังที่อื่นพร้อมๆกับไข้หวัด
จากนั้นทหารกลุ่มใหม่ก็เดินทางมาถึง
ต่อให้ทหารที่มาใหม่ไม่มีใครป่วยเป็นหวัดเลย แต่เมื่อต้องมาพักอยู่ที่ค่ายหรือเมืองที่มีโรคระบาดนี้ระยะหนึ่ง ก็จะได้รับหวัดกันไปบ้าง ไม่มากก็น้อย
2-3 วันต่อมาทหารกลุ่มใหม่นี้ก็จะถูกส่งตัวไปยังที่ส่วนต่างๆของยุโรปอีกรอบ
จากนั้นทหารกลุ่มใหม่ก็มาถึง
เป็นเช่นนี้ซ้ำๆอยู่ไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ
จากเมืองแบร็ตส์ในฝรั่งเศสโรคหวัดก็แพร่ไป เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และอังกฤษ
ในช่วงสงคราม การนำเสนอข่าวไม่สามารถทำได้เสรี กองทัพของหลายประเทศกลัวข่าวที่จะทำให้ทหารและประชาชนเสียขวัญและกำลังใจถึงขนาดมีกฎหมายออกมาลงโทษคนที่นำเสนอข่าวที่บั่นทอนกำลังใจ
ในอเมริกาถ้านักข่าวเขียนข่าวที่ทำให้เสียขวัญ มีลักษณะเช่นนี้อาจจะโดนติดคุกเป็นสิบปีเลยก็เป็นได้
ในช่วงหลายปีของสงครามโลกหนังสือพิมพ์ต่างๆจึงโดนเซนเซอร์กันจนชิน
ดังนั้นเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น นักข่าวทั้งหลายจึงมองข้ามข่าวร้ายนี้ไปด้วยความเคยชิน
แต่เมื่อโรคระบาดไปถึงสเปนในเดือนพฤษภาคม 1918 ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1
นักข่าวชาวสเปนจึงสามารถนำเสนอข่าวการระบาดของโรคหวัดนี้ได้อย่างเสรี โดยเฉพาะเมื่อกษัตริย์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายคนป่วยเป็นโรคไข้หวัด
ข่าวการระบาดอย่างรวดเร็วของโรคไข้หวัดในสเปนจึงกลายเป็นข่าวใหญ่ที่สำนักข่าวของประเทศต่างๆให้ความสนใจ และพร้อมใจกันเรียกการระบาดของโรคหวัดนี้ว่า ไข้หวัดสเปน เพราะเชื่อว่าเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศสเปนก่อนประเทศอื่น
อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การระบาดของโรคไข้หวัดถูกปิดข่าวเป็นอย่างหนัก เป็นเพราะโรคระบาดเดินทางมาถึงยุโรปในช่วงสำคัญของสงครามพอดิบพอดี ...
ทางฝั่งกองทัพฝั่งสัมพันธมิตรพอจะเดาได้ว่า เมื่อฤดูหนาวผ่านพ้นไปและฤดูใบไม้ผลิเข้ามาเยือน (ประมาณมีค.-พค.) กองทัพเยอรมันและฝ่ายอำนาจกลางคงเตรียมที่จะรุกโจมตีอย่างหนัก ดังนั้น จำเป็นต้องเตรียมทหารไว้ให้พร้อมรบมากที่สุด
ดังนั้นโรคไข้หวัดที่ทำให้ทหารอ่อนเพลียไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมรบจึงเป็นปัญหาใหญ่ เกือบจะทุกกองร้อยจะมีคนที่ป่วยเป็นหวัดปะปนอยู่ บางกองร้อยมีคนป่วยมากกว่าครึ่งหนึ่งของกองร้อย
ข่าวการระบาดของโรคจึงกลายเป็นความลับทางทหารที่จะปล่อยให้แพร่งพรายออกไปไม่ได้เลย
แต่การบุกโจมตีก็ไม่มาอย่างที่คาดเอาไว้ ....
ประมาณปลายเดือนพฤษภาคม โรคหวัดก็ระบาดข้ามแนวรบจากฝั่งสัมพันธมิตรไปยังฝั่งฝ่ายอำนาจกลาง(ผ่านทางเชลยศึกที่โดนจับได้) เยอรมันจึงไม่พร้อมที่จะรบเช่นกัน
สุดท้ายกว่าทหารเยอรมันอาการดีขึ้นพอจะเดินหน้ารุกได้อีกครั้ง ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งป่วยนำหน้าไปก่อน ก็หายป่วยดีแล้วเช่นกัน เยอรมันจึงพลาดที่จะฉวยโอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์
จากเยอรมันโรคก็เดินหน้าระบาดต่อไปยัง อิตาลี จากนั้นก็แยกไปสองทาง ทางหนึ่งข้ามทะเลเมดิเตอเรเนียน ไปทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาอย่างอียิปต์ ทางที่สองก็ระบาดผ่านแผ่นดินยุโรปไปทางเอเชีย ไปรัสเซีย จีน อินเดีย และประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1
แต่อย่างที่เล่าไว้ก่อนหน้าครับ โรคที่ระบาดระลอกแรกนั้น แม้ว่าจะระบาดได้เร็วและไปได้ไกล แต่ยังไม่ดุร้ายมาก จำนวนผู้เสียชีวิตจึงยังไม่สูงเท่าไหร่
หลังจากโรคระบาดได้ระยะหนึ่ง พอถึงปลายเดือน กรกฎาคม โรคก็สงบลงเฉยๆอย่างรวดเร็ว
โรคสงบถึงขนาดว่าในหลายประเทศกล้าประกาศว่าโรคระบาดได้สิ้นสุดลงแล้ว
แต่การสงบลงของโรคนี้จริงๆแล้วไม่ต่างไปจาก น้ำทะเลที่ถอยร่นลงไปก่อนที่คลื่นยักษ์สึนามิจะซัดเข้ามา
เพราะเมื่อไข้หวัด 1918 กลับมาอีกครั้งเป็นระลอกที่ 2 มันจะกลับมาอย่างรุนแรง รวดเร็วและดุร้าย
8.
เดือนสิงหาคม 1918
ไม่มีใครแน่ใจว่าอะไรเป็นสาเหตุ ...
อาจเป็นเพราะเมื่อไวรัสติดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนก็ค่อยๆสะสมการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ
หรืออาจจะเป็นว่าไวรัสที่เคยดุร้ายที่เมืองแฮสเคิลแล้วต่อมากลายพันธุ์เป็นไวรัสที่ไม่ดุร้าย กลับมากลายพันธุ์จนเป็นไวรัสที่ดุร้ายอีกครั้ง
แต่ไม่ว่าอะไรจะเป็นสาเหตุ ไวรัสเดิมในเวอร์ชั่นที่ดุร้ายมากขึ้นก็กลับมา
ไวรัสที่กลับมาใหม่นี้ ระบาดอย่างรวดเร็วและฆ่าคนเป็นว่าเล่น
การระบาดของไข้หวัดในระลอกแรกนั้นจะมีลักษณะเหมือนคลื่นที่ค่อยแผ่ขยายออกไป แต่การระบาดในรอบสองจะเหมือนระเบิดที่ตกตูมลงมาทีเดียว ที่ไหนที่หวัดระเบิดลงไปจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันในเวลาเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น
ความเร็วในการฆ่าก็ต่างไปจากเดิมมาก ผู้ป่วยบางคนตั้งแต่เริ่มมีอาการจนเสียชีวิตกินเวลาแค่ 12 ชม.เท่านั้น เรียกว่าตอนเช้าเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ พอตกกลางคืนก็กลายเป็นศพไปเสียแล้ว
หมอจำนวนมากบันทึกอาการคนป่วยไว้ว่าอาการหวัดที่พบก็ต่างไปจากหวัดปกติ
เริ่มต้นขึ้นเหมือนหวัดธรรมดาทั่วไป แต่อาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
บางคนไข้จะสูงมากจนเพ้อ อาการปวดตามตัวก็รุนแรงผิดไข้หวัดทั่วไป
บางคนเสียการรับรู้กลิ่นทางจมูกร่วมด้วย บางคนปวดหัวรุนแรงจนเห็นภาพซ้อน
ผู้ป่วยบางคนไอมากและรุนแรงจนกล้ามเนื้อช่วยหายใจที่ผนังหน้าอกฉีกขาด
บางคนมีอาการที่แปลกมากคือมีเลือดออกตามทวารซึ่งปกติจะไม่พบในโรคไข้หวัดทำให้หลงคิดไปว่าอาจจะเป็นโรคอีโบลา
โดยทั่วไปเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดจะเกาะได้ดีเฉพาะกับเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูก คอ และหลอดลมเท่านั้น ไม่สามารถลงไปเกาะเซลล์บุทางเดินหายใจที่ต่ำกว่านั้นลงไปได้ ไวรัสจึงลงไปทำอันตรายหลอมลมด้านล่างหรือถุงลมในปอดไม่ได้
แต่ไวรัสที่กลับมาใหม่นี้สามารถลงไปติดเชื้อที่ปอดได้อย่างง่ายดาย
เมื่อถุงลมเกิดการอักเสบน้ำและเลือดจากเส้นเลือดฝอยก็จะรั่วเข้าไปในถุงลม
ปกติถุงลมที่มีหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจน เมื่อมีน้ำจากเลือดเข้าไปท่วมเนื้อปอด ถุงลมก็ไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้
ผู้ป่วยจึงขาดออกซิเจน จนเริ่มมีอาการหอบเหนื่อย พูดแล้วต้องหยุดพักหายใจเป็นระยะๆ
ริมฝีปากของผู้ป่วยจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวจากการขาดออกซิเจนก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเมื่อการขาดออกซิเจนรุนแรงขึ้น
จากนั้นสีน้ำเงินก็ลามไปถึงหู ทั่วใบหน้า และทั่วร่างกาย ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และด้วยความที่ผิวของผู้ป่วยจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินก่อนเสียชีวิต โรคหวัดระลอกนี้จึงมีชื่อเล่นอีกชื่อที่หมอบางคนเรียกว่า Blue death หรือความตายสีน้ำเงิน (ล้อกับชื่อ Black Death ที่ระบาดในยุโรปยุคกลาง)
9.
ค่ายทหารเดเวนส์ (camp Devens) เป็นจุดแรกๆในอเมริกาที่โดนไวรัสระลอก 2 โจมตีอย่างหนัก ทหารส่วนใหญ่ค่ายป่วยด้วยไข้หวัดจนต้องยกเลิกการฝึกทั้งหมดไป
ส่วนทหารที่ยังไม่ป่วยก็ต้องมาช่วยหมอและพยาบาลดูแลคนป่วย
โรงพยาบาลในค่าย Devens
สถานพยาบาลประจำค่ายเตียงผู้ป่วยเต็มจนไม่รู้จะแทรกวางเตียงเพิ่มได้ที่ตรงไหน จนทหารที่ป่วยจำนวนหนึ่งต้องไปนอนที่พื้นข้างนอกสถานพยาบาล
ไม่นานหมอและพยาบาลเองก็เริ่มป่วย จนสุดท้ายครึ่งหนึ่งของหมอและพยาบาลก็กลายเป็นผู้ป่วยเสียเอง
หมอที่เกี่ยวข้องรู้ดีว่า ถ้าไม่ทำอะไร ไข้หวัดระลอกสองที่ดุร้ายนี้จะต้องแพร่กระจายไปไกลเหมือนไข้หวัดระลอกแรกแน่ๆ แต่ปัญหาคือ ...
สงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มพอดี
สงครามโลกใกล้จะจบมิจบแหล่อยู่แล้ว (4 เดือนต่อมาสงครามก็จบลง) เยอรมันในตอนนี้เริ่มจะต้านไม่ไหวแล้ว แค่ออกแรงดันแรงๆอีกสักที สงครามที่รบกันมาเกือบ 4 ปีก็น่าจะจบได้
ดังนั้น เวลานี้ไม่เหมาะที่จะผ่อนคันเร่ง
เวลานี้ไม่เหมาะที่จะหยุดส่งกำลังสนับสนุนไปยังแนวหน้า
ด้วยเหตุนี้ หมอและกองทัพจึงมีความเห็นที่ไม่ตรงกันเกิดขึ้น โดยฝั่งหมอเชื่อว่า การส่งทหารที่ป่วยไปก็เท่ากับนำเชื้อไปแพร่ใส่ทหารที่อยู่แนวหน้า แต่กองทัพก็โฟกัสที่การพยายามส่งกำลังเสริมไปให้มากและเร็วที่สุด
สุดท้ายกองทัพก็ตัดสินใจ เรียกกำลังเสริมเข้ามารายงานตัวที่ค่ายทหารอีกครั้ง คนหนุ่มชาวอเมริกันนับแสนเดินทางเข้ามารวมตัวกันในค่ายทหารแต่ละแห่ง และแน่นอนครับ หวัดก็เริ่มกระจาย ทหารก็เริ่มป่วยตาย
แต่เรื่องราวการระบาดในค่ายทหารจะเป็นอย่างไรต่อ ผมจะขอพักไว้ตรงนี้ก่อนแล้วเราค่อยกลับมาคุยกันอีกครั้ง
เพราะในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันนี้ กำลังมีวิกฤติใหม่ก่อตัวขึ้นนอกค่ายทหาร
โรคไข้หวัดระลอกที่ 2 กระจายเข้าไปถึงประชาชนทั่วไปแล้ว
และการรับมือที่ผิดพลาดของเมืองฟิลลาเดลเฟียจะกลายเป็นหายนะจากไข้หวัดครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกา
ในตอนหน้าเราจะแวะไปฟิลลาเดลเฟียกันครับ
เราจะไปดูว่าหายนะครั้งนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
อ่านจบแล้ว ใครชอบประวัติศาสตร์การแพทย์เช่นนี้ แนะนำอ่านหนังสือ Best seller ของผมเอง “สงครามที่ไม่มีวันชนะ” และล่าสุด “เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ”สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างทั้ง 2 ครับ
ใครอยากรู้ว่าผมจะโพสต์อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่บ้าง สามารถ add Line Official Account ไว้ได้ครับ
เมื่อมีการลงบทความ podcast หรือ คลิปวีดีโอที่ไหน จะไลน์ไปแจ้งให้ทราบ
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์อื่นๆได้ที่
หรือ
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา