22 เม.ย. 2020 เวลา 11:03 • กีฬา
Catenaccio ปรัชญาฟุตบอลมหาอุด
อินเตอร์ มิลานชุดเทรเบิ้ลแชมป์ในฤดูกาล2009-10 ของโชเซ่ มูรินโญ่ และ แอดเลติโก้ มาดริดของดีเอโก้ ซิเมโอเน่ ชุดแย่งแชมป์จากเงื้อมมือของบาร์ซ่ากับเรอัล มาดริดสองมหาอำนาจจากสเปนในฤดูกาล2013-14 ซึ่งถือว่าทั้งอินเตอร์และแอด มาดริดนั้นมีเกมรับอันแสนเหนียวแน่นที่เปรียบดั่งกำแพงเหล็กกล้าซึ่งยากที่จะเจาะได้อีกทั้งยังมีเกมสวนกลับเร็วอันแสนน่ากลัวที่เปรียบดั่งพายุซึ่งยากที่จะหยุดได้เช่นกัน สองทีมนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าไม่มีบุรุษที่ชื่อว่า เอเลนิโอ เอร์เรรา ผู้ขัดเกลาปรัชญา Catenaccio (ในภาษาอิตาลีหมายถึงการลงกลอนประตู) จนสมบูรณ์
แต่อย่างไรก็ตาม เอร์เรรา ก็ไม่ใช่ผู้คิดค้นแต่อย่างใด จริงๆแล้วยังมีบุรุษอีกหนึ่งคนที่สมควรได้รับการยกย่องอย่างยิ่งเพราะเขาคือผู้คิดค้นปรัชญา Catenaccio ขึ้นซึ่งเขาก็คือ คาร์ล ลาปปาน กุนซือชาวออสเตรีย โดยเขาได้ค้นพบปรัชญาสไตล์การเล่นนี้สมัยที่เขาคุม เซอเวตต์ สโมสรฟุตบอลเล็กๆในสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1932
คาร์ล ลาปปาน ผู้คิดค้นปรัชญา Catenaccio
เนื่องจากสาเหตุที่ทีมนี้ไม่สามารถต่อกรกับทีมใหญ่ๆได้ จึงทำให้ลาปปานจึงหาวิธีรับมือโดยการนำผู้เล่นลงมาเล่นเกมรับในรูปแบบ Man Marking ถึง 4 คน ซึ่งสำหรับในยุคนั้นที่ทีมส่วนใหญ่นิยมเล่นหลัง 2 คนเท่านั้นในแผนการเล่นพีระมิด ซึ่งถือว่าลาปปานใช้ผู้เล่นในเกมรับจำนวนมากในการประกบชิดผู้เล่นเกมบุกฝ่ายตรงข้ามอีกทั้งยังถอยผู้เล่นลงมารับลึกในแดนตัวเองเพื่อหาโอกาสโจมตีจากการโต้กลับ ต่อมาลาปปานได้เข้ากุมบังเหียนทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์และได้พกพาปรัชญาของเขาไปใช้ในศึกฟุตบอลโลก 1938 แต่ทว่ากลับไม่สามารถไปได้ไกลนัก
คาร์ล ลาปปาน ในสมัยคุมทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์
เมื่อเวลาผ่านไป Catenaccio ก็ยังไม่มีใครสามารถนำมาใช้จนสามารถครองความยิ่งใหญ่ได้ จนกระทั่ง เนเรโอ รอคโก้ กุนซือชาวอิตาลีจากสโมสรเทรียสติน่า ผู้ที่นำปรัชญาของลาปปานมาสานต่อ และรอคโก้ถือเป็นคนแรกที่นำฟุตบอลสไตล์นี้เข้ามาสู่วงการฟุตบอลอิตาลีตั้งแต่ปี1947 หลังจากนั้นเขาก็ได้ย้ายไปหลายต่อหลายทีมจนกระทั่งระหว่างที่เขาย้ายมาอยู่เอซี มิลานเขาได้พัฒนาปรัชญานี้จนสำเร็จไประดับนึงโดยปรับแผนการเล่นด้วยการเพิ่มเติมบทบาทหนึ่งที่แต่เดิมเคยถูกคิดค้นขึ้นโดยจูเซ็ปเป้ วิอานี่ และบทบาทนั้นก็คือ Libero หรือ Sweeper ซึ่งเป็นกองหลังตัวพิเศษที่มีเทคนิคและการจ่ายบอลที่ดีเยี่ยมที่จะคอยยืนอยู่หลังแผงกองหลังอีกทีหนึ่งเพื่อคอยซ้อนตัวประกบ จนสามารถพาทีมคว้าแชมป์ยุโรปได้ในฤดูกาล 1962-63 แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นเพียงแค่หนเดียวเท่านั้นรอคโก้มิอาจนำปรัชญาที่ยังไม่สมบูรณ์ครองความยิ่งใหญ่ในระยะเวลายาวนานได้
ตำแหน่งการยืนของ Libero หรือ Sweeper
เนเรโอ รอคโก้ ผู้บุกเบิกปรัชญา Catenaccio มาสู่ฟุตบอลอิตาลี
และแล้วก็ถึงเวลาเฉิดฉายของบุรุษที่ขึ้นชื่อว่าเป็นปรมาจารย์แห่งปรัชญา Catenaccio ที่มีชื่อว่า เอเลนิโอ เอร์เรรา กุนซือชาวอาร์เจนติน่าของอินเตอร์ มิลานในขณะนั้น เขาได้พัฒนาสไตล์การเล่นนี้จนสมบูรณ์ในที่สุดโดยปรับมาใช้แผนการเล่นที่มีรูปทรงยืดหยุ่นโดยเป็นได้ทั้ง 5-3-2, 3-5-2, 5-2-3 และ 3-4-3 ซึ่งแผนการเล่นนี้จะยังคงใช้เกมรับรูปแบบ Man Marking และมี Libero ห้อยอยู่หลังแผงกองหลัง โดยเพิ่มเติมผู้เล่นเพลย์เมกเกอร์เบอร์10 ที่มีเทคนิคพรสวรรค์ชั้นเลิศและมีการสร้างสรรค์เกมที่ยอดเยี่ยมซึ่งเปรียบดั่งหัวใจสำคัญของทีม
ในขณะที่อินเตอร์ มิลานของเอร์เรรานั้นกลับแข็งแกร่งกว่าปกติอย่างมากโดยทีมของเขานั้นมีเพลย์เมกเกอร์ถึงสองคนซึ่งคนหนึ่งจะรับบทบาทเป็น Regista ที่คอยทำเกมและควบคุมจังหวะของเกมจากแนวลึกและผู้ที่ได้รับหน้าที่ก็คือ หลุยส์ ซัวเรส ส่วนอีกคนจะรับบทบาทเป็นเพลย์เมกเกอร์ทั่วไปที่คอยทำเกมอยู่หลังกองหน้าและผู้ที่ได้รับหน้าที่ก็คือ ซานโดร มาซโซล่า
Catenaccio ของ เอเลนิโอ เอร์เรรา
ทีมชุดนั้นประสบความสำเร็จมากมายทั้งในประเทศและในยุโรปโดยกวาดแชมป์ยุโรปไป 2 สมัยติดต่อกันในฤดูกาล 1963-64 และ 1964-65 แถมเข้าชิงอีกครั้งในฤดูกาล 1966-67 ส่วนในลีกอิตาลีสามารถคว้าแชมป์ได้ 3 สมัยในฤดูกาล 1962–63, 1964–65 และ 1965–66 จึงทำให้ทีมของเอร์เรราที่นำทีมโดย เพลย์เมกเกอร์อย่าง ซานโดร มาซโซล่า และ หลุยส์ ซัวเรส(ตำนานผู้เล่นชาวสเปน) และ Libero อย่าง อาร์มานโด้ ปิคชี่ ในยุคนั้นได้ถูกขนานว่า “ Grande Inter ”
เอเลนิโอ เอร์เรรากับถ้วยเกียรติยศ
ขุนพล“Grande Inter” ของเอเลนิโอ เอร์เรรา
และต่อมาทางด้านรอคโก้ ได้นำปรัชญาของเอร์เรรามาใช้พาเอซี มิลานของเขากลับมาคว้าแชมป์ยุโรปได้สำเร็จอีกครั้งในฤดูกาล 1968–69 ด้วยอิทธิพลจากรอคโก้และเอร์เรราส่งผลให้ช่วงทศวรรษ1960 ปรัชญาฟุตบอล Catenaccio สามารถขึ้นครองความยิ่งใหญ่ในยุโรปได้สำเร็จจนกลายเป็นปรัชญามหาอำนาจแห่งยุคนั้นเลยก็ว่าได้ และยังส่งผลสู่โลกฟุตบอลให้ทีมมากมายหันมาให้ความสำคัญกับการเล่นเกมรับเป็นอันดับแรกอีกด้วย
ภาพฉลองแชมป์ยุโรปของอินเตอร์ มิลาน
ภาพฉลองแชมป์ยุโรปของเอซี มิลาน
ต่อมาถึงแม้ว่าความแข็งแกร่งของปรัชญานี้ไม่อาจที่จะปฏิเสธได้ แต่อย่างไรก็ตามปรัชญาการเล่นนี้ก็กำลังจะถูกโค่นลงจากบัลลังก์ในไม่ช้า เนื่องจากการมาถึงของ ไรนุส มิเชลส์ ผู้ที่สามารถขัดเกลาปรัชญา Total Football จนถึงขีดสุดซึ่งปรัชญานี้มีสไตล์การเล่นที่เปรียบเสมือนเป็นคริปโตไนต์ที่จะทะลวงจุดอ่อนของ Catenaccio ด้วยการเล่นที่ผู้เล่นสามารถแทนที่กันและกันแบบไม่มีตำแหน่งตายตัวอยู่ตลอดเวลานั้นทำให้เกมรับแบบMan Markingถึงกับต้องพังทลายลง และในที่สุดปรัชญานี้ก็ได้ขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่แทนที่ Catenaccio ได้สำเร็จตั้งแต่ช่วงทศวรรษ1970 เป็นต้นมา
แต่มันก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้เพราะรากฐานของปรัชญา Catenaccio ยังคงถูกถอนรากถอนโคลนลงมาอีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ1990 ส่งผลให้ Catenaccio แบบดั้งเดิมแทบจะหายไปจากโลกฟุตบอลด้วยอิทธิพลจาก อาร์ริโก้ ซาคคี่ ไม่ว่าจะเป็นแผนการเล่น4-4-2 ,เกมรับรูปแบบ Zonal Marking และ ฟุตบอลสไตล์ Shadow play ที่เน้นให้ทุกคนช่วยกันเล่นทั้งเกมรุกและเกมรับซึ่งกลายเป็นฟุตบอลที่ให้ความสำคัญกับสมดุลของเกมตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้โลกฟุตบอลหันมาใช้แผนการเล่นที่ไม่มี Libero อีกต่อไปและล้มเลิกเกมรับรูปแบบ Man Markingไปใช้ Zonal Markingแทน อีกทั้งหลายต่อหลายทีมหันมาเล่นฟุตบอลสไตล์เน้นสมดุลมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามสไตล์ Catenaccio ก็ยังไม่ได้หายไปอย่างสิ้นเชิงยังมีกุนซือรุ่นใหม่หลายต่อหลายคนนำมาดัดแปลงผสมผสานกับสไตล์เกมรับรูปแบบอื่นๆอาธิเช่น Zonal Marking และ Pressing เข้าไปอีกด้วยโดยจะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับคู่ต่อสู้นั้นๆ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงคอนเซ็ปต์ที่รัดกุมและตั้งรับลึกแบบดั้งเดิมอย่างเช่นเคย ทุกๆการดัดแปลงผสมผสานล้วนก่อให้เกิดเป็นปรัชญา Catenaccio แห่งยุคสมัยใหม่ที่มีเกมรับที่หลากหลายทำให้เป็นเรื่องยากที่จะเจาะได้ ยิ่งไปกว่านั้นสไตล์การเล่นนี้ในปัจจุบันจะมีประโยชน์อย่างมากเมื่อใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็นอย่างในกรณีต้องการรักษาสกอร์นำเพื่อเก็บผลการแข่งขันหรือจะเป็นกรณีต้องเผชิญหน้ากับทีมที่ใหญ่กว่าหรือแข็งแกร่งกว่า
จนกระทั่งในช่วงทศวรรษ 2000 และแล้ว Catenaccio ก็ได้กลับมาถูกพูดถึงกันอีกครั้ง เมื่อมีชายผู้หนึ่งผู้ที่เชื่อมั่นในปรัชญา Catenaccio ของเอร์เรรา และชื่อของเขาก็คือ โชเซ่ มูรินโญ่ กุนซือชาวโปรตุเกส นั่นเอง ซึ่งมูรินโญ่คือหนึ่งในกุนซือรุ่นใหม่ที่ได้นำปรัชญาต้นตำรับมาดัดแปลงจนกลายเป็น Catenaccio สมัยใหม่ มูรินโญ่ประสบความสำเร็จอย่างมากตลอดช่วงทศวรรษนั้นโดยพาปอร์โต้ สโมสรจากโปรตุเกสซึ่งถือเป็นทีมเล็กในยุโรป สามารถคว้าแชมป์ยุโรปเหนือทีมใหญ่ในยุโรปได้ในฤดูกาล 2003–04 นำทีมโดย เดโก้ และ ลิคาร์โด้ คาร์วัลโญ่
และต่อมาหลังจากย้ายมาเชลซี สโมสรจากอังกฤษซึ่งในตอนนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จใดๆมากนัก มูรินโญ่ได้พาเชลซีที่นำทีมโดยจอห์น เทอร์รี่, แฟรงค์ แลมพาร์ด, ดีดิเยร์ ดร็อกบา และปีเตอร์ เช็ก คว้าแชมป์ลีก 2 สมัยติดต่อกันตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาคุมอีกทั้งยังสามารถได้อีกครั้งในปีถัดมาอย่างทันทีทันใด ซึ่งมูรินโญ่ถือเป็นผู้วางรากฐานความยิ่งใหญ่ของเชลซีในปัจจุบันอีกด้วย ก่อนจะแยกทางกับเชลซีไปเนื่องจากมีปัญหากับบอร์ดบริหาร
ภาพฉลองแชมป์พรีเมียร์ลีกโชเซ่ มูรินโญ่กับสองยอดผู้เล่นคู่บุญ
และสถานีต่อไปของมูรินโญ่นั่นก็คือประเทศอิตาลีซึ่งถือเป็นดินแดนแห่ง Catenaccio เลยก็ว่าได้ ยิ่งไปกว่านั้นเหตุการณ์นี้ดันช่างบังเอิญพอเหมาะพอเจาะซะเหลือเกินที่มูรินโญ่ได้เข้ามาคุม อินเตอร์ มิลาน ซึ่งเป็นทีมที่ปรมาจารณ์อย่างเอร์เรราเคยวางรากฐานปรัชญา Catenaccio ตัวสมบูรณ์เอาไว้ที่นี่ซึ่งมันก่อให้เกิดความคาดหวังไม่ใช่น้อยในบรรดาเหล่าแฟนๆของอินเตอร์ มิลาน
และมูรินโญ่ก็ไม่ทำให้ผิดหวังเขาพาอินเตอร์ มิลานประสบความสำเร็จอย่างมากโดยการพาทีมคว้าแชมป์ลีกไป 2 สมัยในฤดูกาล 2008–09 และ 2009–10 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูกาล 2009-10 นั้นเขาได้พาอินเตอร์คว้าเทรเบิ้ลแชมป์ซึ่งเป็นการคว้าแชมป์สามรายการในปีเดียวได้แก่แชมป์ลีก, แชมป์ถ้วยใหญ่ของยุโรป และแชมป์บอลถ้วยในประเทศ ซึ่งทีมชุดนั้นนำทัพโดยฮาเวียร์ ซาเนตติ, เวสลีย์ สไนเดอร์, ซามูเอล เอโต้ และ ดีเอโก้ มิลิโต้
จากความสำเร็จทั้งหมดนี้อาจดูเหมือนว่า Catenaccio สมัยใหม่ที่นำโดยโชเซ่ มูรินโญ่นั้นกำลังจะนำปรัชญาของเอร์เรร่ากลับมาครองความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง แต่แล้วก็เหมือนฝันสลายเพราะช่วงเวลาของมูรินโญ่ที่อิตาลีนั้นช่างสั้นนักโดยมูรินโญ่ได้ตัดสินใจทิ้งอินเตอร์ชุดแชมป์ยุโรปของเขาเพื่อเลือกเส้นทางที่ท้าทายยิ่งกว่า นั่นก็คือการมุ่งหน้าไปคุมทีมยักษ์ใหญ่ในสเปนอย่างเรอัล มาดริด ซึ่งมีบาร์เซโลน่า คู่ปรับตัวฉกาจที่อยู่ภายใต้การคุมทีมของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ปรมาจารณ์แห่งปรัชญา Tiki Taka (วิวัฒนาการมาจาก Total Football) ที่เป็นเหมือนก้างขวางคอชิ้นโตของมูรินโญ่ในการครองความยิ่งใหญ่นั่นเอง
ศึกการดวลกันระหว่างสองปรัชญาสองกุนซือนั้นจบลงโดยผู้ชนะเป็นฝ่าย Tiki Taka ของเป๊ปที่พาบาร์เซโลน่าครองความยิ่งใหญ่ได้สำเร็จทั้งในประเทศและในยุโรป สวนทางกับมูรินโญ่ที่นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็นแล้วยังประสบปัญหาภายในกับลูกทีมของตนเองจนต้องเก็บข้าวของย้ายออกไปในที่สุด และที่ต่อไปของเขาก็ไม่ใช่ที่อื่นใดซึ่งนั่นก็คือเชลซี ทีมที่เขาเคยจากมาอย่างตำนานนั่นเอง
ในช่วงทศวรรษ2010 นั้น Catenaccio สมัยใหม่ได้วิวัฒนาการอีกครั้งกลายเป็นสไตล์ Park the Bus ที่ถูกใช้อย่างได้ประสิทธิภาพในเวลาต้องเผชิญกับทีมที่เหนือกว่า สไตล์นี้ถูกใช้จนประสบความสำเร็จโดยโรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอสมัยคุมเชลซีชุดแชมป์ยุโรปในฤดูกาล2011-12 และโชเซ่ มูรินโญ่ สมัยคุมเชลซีรอบสองชุดคว้าแชมป์ลีกในฤดูกาล2014-15
แต่ทว่าที่จริงแล้วสไตล์นี้ถูกคิดค้นโดยมูรินโญ่ในสมัยคุมอินเตอร์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตามมันก็ยังไม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นอย่างเป็นทางการสักเท่าไหร่โดยเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในเกมรอบรองชนะเลิศในศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกในฤดูกาล 2009-10 ที่พบกับบาร์ซ่า อินเตอร์ของมูรินโญ่ต้องมาโดนใบแดงจนเหลือสิบคนตั้งแต่ต้นเกม ซึ่งเขาต้องหาหนทางเอาตัวรอดจากเกมนี้ให้จงได้ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้จึงก่อให้เกิดสไตล์ Park the Bus ขึ้นมาและมูรินโญ่ก็ทำสำเร็จโดยอินเตอร์สามารถเฉือนชนะบาร์ซ่า 3-2 (รวมสองเลก)และเข้าชิงไปในที่สุด
Park the Bus เป็นสไตล์การเล่นที่นำผู้เล่นทั้งหมดลงไปตั้งรับอยู่ในแดนตัวเองโดยทิ้งกองหน้าห้อยหน้าไว้หนึ่งคนและใช้วิธีโยนบอลยาวไปให้กองหน้าหรือใช้วิธีโต้กลับเร็วเพียงไม่กี่จังหวะโดยหวังพึ่งปาฏิหาริย์ในการทำประตูในไม่กี่ครั้ง
อินเตอร์ มิลานในฤดูกาล 2009-10
เชลซีในฤดูกาล 2011-12
เชลซีในฤดูกาล 2014-15
จากการประสบความสำเร็จของทั้งคู่ทำให้หลายทีมหันมาใช้ตามกันมากมาย แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ต่อว่ามากมายว่าฟุตบอลสไตล์นี้กำลังทำลายเกมลูกหนัง และมันไม่ใช้วิวัฒนาการแต่อย่างใดแต่เป็นการเสื่อมถอยซะมากกว่า
แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้สไตล์การเล่นนี้จะถูกดูถูกเหยียดหยามมากซักเพียงไร แต่ถ้าเพื่อให้ได้ชัยชนะมามันก็เพียงพอแล้วเพราะต่อให้เล่นดีสักแค่ไหนแต่ถ้าจบลงด้วยการเป็นผู้แพ้ มันก็ไร้ซึ่งความหมายไม่มีผู้ใดจดจำและนี่คือมรดกที่เอเลนิโอ เอร์เรรา ปรมาจารย์แห่งปรัชญา Catenaccioได้ทิ้งไว้แก่โลกลูกหนังในปัจจุบัน
เอเลนิโอ เอร์เรรา ปรมาจารย์แห่งปรัชญา Catenaccio
และรูปภาพโดย
โฆษณา