22 เม.ย. 2020 เวลา 11:27 • บันเทิง
บทวิเคราะห์: ทำไมเกมเถ้าน้อยถึงถูกลืม ?(Part1/2)
ภาพลักษณ์ของเกมในสายตาชาวไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมักถูกตีตราและถูกมองในฐานะภัยร้ายของสังคม ซึ่งกล่าวได้ว่า เรื่องราวที่ไม่ดีต่างๆในสังคมที่กลุ่มเด็กกับวัยรุ่นได้ก่อขึ้นมา ตั้งแต่เป็นเรื่องลักเล็กขโมยน้อย , เรื่องต่อยตีกัน จนไปถึงฆาตกรรม เป็นต้น ทุกเรื่องล้วนมีสาเหตุเกิดมาจากกลุ่มเด็กติดเกมทั้งสิ้น แต่ทว่าท่ามกลางกระแสที่เป็นด้านลบได้มีค่ายเกมไทยเล็กๆ นามว่า วิสต้า บิสซิเนส (Vista Business) ได้ลุกขึ้นสู้ต่อต้านกับกระแสดังกล่าว ด้วยการสร้างเกมน้ำดีออกมามากมาย ซึ่งทุกเกมล้วนถูกสร้างขึ้นไม่ใช่เพียงแค่มอบความสนุกสนานแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันยังมอบความรู้รวมถึงเพิ่มพูนทักษะต่างๆให้กับเหล่าเด็กๆอีกด้วย และเกมเถ้าแก่น้อยก็เป็นหนึ่งในเกมน้ำดีที่ค่ายนี้ผลิตออกมา
เกมเถ้าแก่น้อยเป็นเกมแนวฝึกสอนการคำนวณสำหรับเด็กอายุ 6 ขวบไปจนถึงเด็ก 12 ปี โดยมีตอนร้านค้ามหาสนุกซึ่งถูกวางขายเมื่อปี 2004 (พ.ศ.2547) เป็นภาคแรก ต่อมาทางค่ายเกม วิสต้า บิสซิเนสได้มีการขยายแนวเกมเพิ่มเติมไปเป็นเกมสอนภาษาอังกฤษกับเกมให้ความรู้ทั่วไป จนมีจำนวนตอนทั้งสิ้น 90 ตอน ทำให้เกมเถ้าแก่น้อยได้กลายมาเป็นเกมแฟรนไชส์เดียวของค่ายเกมนี้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดจนถูกอ้างในฐานะเครื่องมือการตลาดในเกมอื่นๆของค่ายเดียวกันว่า “สุดยอดเกมโดยทีมงาน เกมเถ้าแก่น้อย”
1
จุดเด่นที่ทำให้เกมเถ้าแก่น้อยประสบความสำเร็จและเป็นที่จดจำของเหล่าเด็กๆยุคเก่า นั่นก็คือ การที่เกมเถ้าแก่น้อยเป็นเกมแรกที่เป็นภาษาไทยและเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็นเจ้าของธุรกิจซึ่งต่อมาทางค่ายได้มีการขยายไปยังอาชีพยอดนิยมในเด็กๆอีกด้วย เช่น สถาปนิก,หมอ,และตำรวจ เป็นต้น เนื่องจากเกมนี้ได้ตอบโจทย์ความอยากรู้อยากเห็นของเหล่าเด็กๆที่ใฝ่ฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นนู่นเป็นนี่มากมาย ส่งผลให้เด็กอินกับเกมเถ้าแก่น้อยได้โดยง่าย แต่อย่างไรก็ตาม แค่มันเป็นเกมแรกที่เป็นภาษาไทยและเปิดโอกาสให้เหล่าเด็กๆได้สวมบทบาท นั้นไม่เพียงพอที่ทำให้เกมนี้กลายเป็นตำนาน ระบบการเล่นต่างหากที่เป็นพระเอกตัวจริง งานนี้ต้องขอยกเครดิตให้กับค่ายเกม วิสต้า บิสซิเนส จริงๆ ทางค่ายเกมสามารถจำลองการประกอบอาชีพต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพจ้าของธุรกิจที่มีความซับซ้อน แต่กับให้เด็กทำความเข้าใจได้ง่าย, สนุกสนานท้าทาย และในขณะเดียวกันก็ผสมผสานกับการฝึกฝนทักษะการคิดคำนวณได้อย่างลงตัว ดังนั้นเพื่อให้ทุกท่านได้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น กระผมจะขอเล่าระบบการเล่นของเกมเถ้าแก่น้อยภาคแรกสุด อันเป็นรากฐานสำคัญของระบบการเล่นของเกมเถ้าแก่น้อยทุกภาค
1
ในเกมภาคแรกสุดผู้เล่นจะได้รับบทเป็นเจ้าของร้านค้า โดยผู้เล่นมีหน้าที่เพียงแค่เลือกสิ่งของที่ถูกจัดวางอยู่ตามชั้นวางหลังเคาน์เตอร์คิดเงิน มาวางลงบนตะกร้าให้ถูกต้องตามคำสั่งของลูกค้าเท่านั้น หลังจากนั้นผู้เล่นจะต้องคิดเงินให้ถูกต้อง ซึ่งถ้าคิดผิดก็จะถูกหักเงินอีกด้วย แต่ถ้าคิดถูกก็จะได้รับเงิน โดยเป้าหมายสูงสุดของเกมนี้มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นก็คือผู้เล่นจะต้องหาเงินมาสะสมในธนาคารให้มากที่สุด ซึ่งจุดนี้เองที่ทางค่ายเกมได้สอดแทรกบทเรียนชีวิตให้กับเหล่าเด็กๆอีกด้วย โดยในเกมมีระดับความยาก 3 ระดับ ยิ่งเล่นระดับที่สูงขึ้นเท่าใดผู้เล่นก็จะได้รับเงินมากขึ้นเท่านั้นและในขณะเดียวกันก็จะถูกหักเงินมากขึ้นเท่านั้นหากคิดเลขผิด ดังนั้นถ้าเด็กๆอยากได้เงินเป็นจำนวนมากๆจะต้องฝึกฝนทักษะคิดเลขให้เก่งขึ้นเท่านั้น นั่นก็เพราะไม่มีใครได้เงินจำนวนมากมายมหาศาลมาได้ง่ายๆ อีกทั้งยังจะต้องฝึกฝนตัวเองให้เก่งคู่ควรกับเงินจำนวนมหาศาลอีกด้วย
ด้วยเอกลักษณ์ความสนุกสนานที่ผู้เล่นได้สวมบาทเป็นเจ้าของร้านค้าจริงๆและการใช้ระบบเงินแทนระบบคะแนนทั่วๆไปทำให้เกมเถ้าแก่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคแรกได้กลายมาเป็นที่จดจำของเหล่าเด็กยุคเก่าๆมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงกระนั้นมันก็ยังดีไม่พอที่จะทำให้เกมนี้กลายเป็นเกมที่ประสบความสำเร็จได้ หลังจากนั้นอีก 1 ปีให้หลัง ทางค่ายเกมได้ออกภาคต่อของเกมเถ้าแก่น้อยออกมาถึง 4 ตอน ได้แก่ตอน ซูซิบอย , พิซซ่าบอย,ไอศกรีมแสนอร่อย,และเจ้าของร้านเบเกอรี่ โดยเกมทั้ง 4 ตอนนี้ไม่ใช่แค่เพียงภาคต่อธรรมดาที่แค่เปลี่ยนอาชีพ ในขณะที่ระบบการเล่นก็ยังคงเดิม แต่ภาคนี้มันได้ยกระดับรูปแบบการเล่นเกมให้ดีและสนุกสนานลงตัวยิ่งขึ้น จนมันได้กลายมาเป็นแม่แบบให้ภาคหลังได้นำระบบภาคนี้ไปใช้ต่อ
และอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ค่ายนี้มีชื่อเสียงอย่างมาก ซึ่งนั่นคือตัวระบบเกมที่ทางค่ายเกมได้พัฒนาขึ้นจนทำให้มันได้กลายเป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวของค่ายเกมนี้และหาไม่ได้ในเกมอื่นๆในตลาด นั่นก็คือการที่เกมเถ้าแก่น้อยทั้ง 4ตอนสามารถเล่นร่วมกันได้ เนื่องจากเกมเถ้าแก่น้อยทั้ง 4 ตอนตั้งอยู่ในเมืองเดียวกัน เมืองที่มีชื่อว่าพีททาวน์ ซึ่งทำให้ผู้เล่นสามารถสลับแผ่นเล่นเวลาอยากเล่นร้านใดร้านหนึ่งเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งจุดนี้เองมันก็ทำให้เกิดการเล่นแบบชาญฉลาดขึ้น เด็กๆสามารถเลือกที่จะเล่นร้านที่สามารถเล่นและหาเงินให้ได้ง่ายๆที่สุดเพื่อนำมาใช้กับร้านที่เหลืออีก 3 ร้าน(หมายเหตุ : ทั้ง 4 ร้านที่ว่ามานั้นมีอยู่ร้านหนึ่งเป็นถึงร้านอาหารต่างชาติที่คนไทยนิยมกินมากที่สุด และ เหล่า Youtuber ชอบไปรีวิวมากที่สุด) ด้วยเหตุนี้นี่จึงถือเป็นข้อดีของการที่เกมสามารถเล่นร่วมกันได้ ทำให้เราสามารถนำเงินกลางมาใช้ร่วมกัน จนส่งผลให้รูปแบบการเล่นเกมมีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าภาคแรกที่เราเป็นเจ้าของร้านเพียงร้านเดียวเท่านั้น ซึ่งจุดนี้เองก็ได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของเกมเถ้าแก่น้อยที่เหล่าเด็กยุคเก่าจดจำได้เป็นอย่างดี ถึงกระนั้นมันก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เกมเถ้าแก่น้อยในภาคหลังๆได้ตัดระบบนี้ทิ้งออกไปแล้วก็ตาม
ส่วนระบบการใช้เงินแทนคะแนน ทางค่ายเกมได้มีการพัฒนาต่อยอดจากภาคแรกให้มีความลุ่มลึกและมีความสนุกสนานท้าทายมากขึ้น โดยทางค่ายเกมเล็งเห็นว่าในภาคแรก การที่ผู้เล่นสามารถปรับระดับความยากในการเล่นได้อย่างอิสระในตอนแรกๆเพื่อสามารถหาเงินจำนวนมากให้ได้ในทันทีและการที่ให้ผู้เล่นแค่สะสมเงินในธนาคารให้มากที่สุดโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย มันอาจทำให้เด็กเบื่อได้ง่ายเนื่องจากเล่นแค่แปบเดียวก็ตันแล้ว ส่งผลให้ในภาคต่อมา ทางค่ายได้มีการปรับปรุงระบบให้มีความลุ่มลึกและท้าทายยิ่งขึ้น โดยระบบจะบังคับให้ผู้เล่นเริ่มต้นเล่นจากร้านเล็กๆก่อน ผู้เล่นจะต้องเล่นไปเรื่อยๆ จนสามารถสะสมเงินไปซื้อร้านที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งร้านใหญ่ขึ้นเท่าใดระดับความยากก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับรายได้เมื่อเทียบกับภาคแรกที่สามารถเลือกปรับระดับความยากได้อย่างอิสระ ส่วนเงินในธนาคารนอกจากสามารถใช้อัพเกรดร้านได้แล้ว มันยังสามารถใช้ซื้อทรัพย์สินอื่นๆเช่นบ้านกับรถยนต์ ซึ่งมันก็ได้เติมเต็มความใฝ่ฝันของเด็กๆที่อยากมีบ้านกับรถยนต์ได้อีกด้วย ส่งผลให้เกิดแรงผลักดันทำให้เด็กๆอยากเล่นเกมนี้นานยิ่งขึ้น
ด้วยการปรับปรุงระบบการเล่นให้มีความลุ่มลึกสนุกสนานมากขึ้น และมีเอกลักษณ์ จนทำให้เป็นที่จดจำของเหล่าเด็กๆยุคเก่า และการเลือก 4 อาชีพที่ใกล้ตัวเด็กที่สุด อย่างเจ้าของร้านซูซิ ,พิซซ่า ,ไอศกรีม และ เบเกอรี่ มาทำเป็นเกม ส่งผลให้เกมเถ้าแก่น้อยทั้ง 4ตอนได้ถูกยกย่องจากเหล่าแฟนๆว่าเป็นภาคที่ดีสุดของแฟรนไชส์ ส่งผลให้เกมเถ้าแก่น้อยทั้ง 4 ตอนนี้ได้ถูกนำไปพอร์ทลงในเกมมือถือในปี 2013 (พ.ศ.2556)
ถึงแม้ทางค่ายเกม วิสต้า บิสซิเนส จะสามารถพัฒนาระบบเกมให้มีความสนุกสนาน รวมถึงการทำการตลาดโดยการขายแผ่นเกมในร้านหนังสือชื่อดังอย่าง ซีเอ็ด (SED-ED) และ B2S ซึ่งเป็นสถานที่เด็กๆมักถูกพ่อแม่พาไปเลือกซื้อหนังสือเรียนหรืออุปกรณ์เครื่องเขียนต่างๆอีกด้วย ทำให้เกมเถ้าแก่น้อยมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของเหล่าเด็กๆในระดับหนึ่งจากการบอกต่อๆในกลุ่มเพื่อนหรือจากการเล่นที่บ้านเพื่อน ถึงกระนั้นทางเกมเถ้าแก่น้อยยังมีอุปสรรคที่สำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือราคาแผ่นเกมที่แพงกว่าเงินค่าขนมเด็กๆในช่วงสมัยนั้น (ประมาณปี2005-2006) เกมเถ้าแก่น้อยขายราคาแผ่นละ 199 บาท ด้วยจำนวนเงินเท่านี้เด็กสามารถซื้อหนังสือการ์ตูน จำพวก One piece , Naruto ,และ Bleach เป็นต้น ซึ่งขายราคาเพียงเล่มละ 35 บาทในสมัยนั้นได้ถึง 5 เล่ม (175บาท)เลยทีเดียว เมื่อเงินไม่พอก็ทำให้เด็กจำต้องรบเร้าให้พ่อแม่ซื้อให้ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ทางค่ายจำต้องฟันฝ่าและเอาชนะเหล่าผู้ปกครองซึ่งถือได้ว่าเป็นอุปสรรคชิ้นโตชิ้นสุดท้ายให้จงได้ แต่อย่างที่ทุกท่านทราบว่าภาพลักษณ์ของเกมในสายตาผู้ใหญ่ไทยนั่นไม่ดีเอาเสียเลย นี่จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่อาจมีเด็กหลายคนต้องอกหัก แต่ทว่าโชคดีที่เกมเถ้าแก่น้อยเกิดในยุคที่กระแสของคุณ ต๊อบ อิทธิพันธ์ กุลพงษ์วณิชย์ หรือรู้จักในนามเถ้าแก่น้อยได้ดังพลุแตกขึ้นในสังคมไทยในช่วงปี 2006 (พ.ศ.2549) โดยคุณต๊อบโด่งดังมาจากการที่เขาเป็นเจ้าของบริษัทและแบรนด์สาหร่ายญี่ปุ่นทอด “เถ้าแก่น้อย”ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ส่งผลให้คุณต๊อบได้กลายมาเป็นเถ้าแก่ในขณะที่อายุเพียงแค่ 21 ปีเท่านั้นและเขาได้กลายมาเป็นไอคอนของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันในฐานะอายุน้อยร้อยล้านคนแรกของไทย ด้วยภาพลักษณ์จากเด็กติดเกมสู่เจ้าของธุรกิจมูลค่าร้อยล้าน ส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองบางส่วนเริ่มเปิดใจให้เกมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมเถ้าแก่น้อยที่นอกจากใช้ชื่อเกมเดียวกันแล้ว มันยังเป็นเกมแนวสวมบทบาทเป็นเจ้าของธุรกิจและเป็นเกมสอนคิดเลขอีกด้วย ทำให้พ่อแม่ของเด็กบางคนที่อยากให้ลูกเป็นเหมือนคุณต๊อบจึงซื้อเกมนี้มาให้ลูกเล่น ส่งผลให้เกมเถ้าแก่น้อยโด่งดังขายดีและประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงปี 2006 ทำให้ในปีนั้นทางค่ายออกเกมเถ้าแก่น้อยมาถึง 13 ตอนในทีเดียว และเป็นปีที่ทางค่ายออกจำนวนภาคมากที่สุดอีกด้วย แต่ทว่าความสำเร็จนี้กลับไม่ยั่งยืนเอาเสียเลย เพราะในอีก10 ปีต่อมาเกมเถ้าแก่น้อยได้ถูกปิดตัวลงอย่างน่าใจหาย แล้วอะไรกันล่ะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกมที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่นิยมในหมู่เด็กๆกลับมีจุดจบลงเช่นนี้ จนถูกลืมไปตามกาลเวลาและสุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงในที่สุด โปรดติดตามพาร์ทต่อไป
2
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพโดย
เกมเถ้าแก่น้อย ตอนร้านค้ามหาสนุก
เกมเถ้าแก่น้อย ตอนซูซิบอย ,
เกมเถ้าแก่น้อย ตอน ไอศกรีมแสนอร่อย
โฆษณา