22 เม.ย. 2020 เวลา 13:48 • ประวัติศาสตร์
ไทยไม่ได้ยกเลิกดีล F-18 สมัยต้มยำกุ้ง
จากข่าวที่กองทัพบกไทยจะจัดหารถหุ้มเกราะล้อยาง Stryker จากสหรัฐฯ รวมถึงโครงการจัดหาอาวุธอื่นๆของทั้งสามเหล่าทัพที่ถูกชะลอไป ผมเห็นหลายคนนำไปเปรียบเทียบกับดีล F-18 สมัยต้มยำกุ้ง ประมาณว่าสมัยนั้นไทยยังยกเลิกดีล F-18 ได้เลย (จริงหรือ ?) ตอนนี้ก็น่าจะยกเลิกได้เช่นกัน ผมเลยจะเล่าที่มาที่ไปของดีล F-18 ไทยอย่างย่อๆอีกครั้งหนึ่งครับ
สมัยนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา กองทัพอากาศไทยสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ F/A-18 C/D Hornet จำนวน 8 ลำจากสหรัฐฯ เริ่มทยอยจ่ายเงินไปแล้ว แต่ต่อมาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งก่อนจะได้เข้าประจำการ ในสมัยนายกฯ ชวน หลีกภัย ไทยจึงเจรจากับสหรัฐฯ ส่งผลให้ทางเพนตากอนรับซื้อ F/A-18 C/D ชุดดังกล่าวไว้แทน เข้าประจำการในหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ ส่วนนี้ต้องถือเป็นบุญคุณของสหรัฐฯ เพราะถ้าสหรัฐฯไม่รับซื้อ F/A-18 C/D ชุดดังกล่าว แล้วไทยต้องยกเลิกสัญญาขึ้นมา ไทยอาจถูกปรับหรือถูกยึดเงินที่จ่ายไปแล้วทั้งหมดก็ได้
อย่างไรก็ตาม พูดถึงเงินค่า F/A-18 C/D ที่ไทยจ่ายไปก่อนหน้านั้น สหรัฐฯไม่ได้คืนให้แต่อย่างใดครับ ไทยจึงเจรจาขอใช้เงินดังกล่าวซื้อเครื่องบินขับไล่ F-16 ADF มือสองจากสหรัฐฯจำนวน 16 ลำแทน (ไม่อย่างนั้นสหรัฐฯก็ไม่คืนเงินให้อยู่ดี) รับมอบครบสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร
จะเห็นได้ว่าสมัยต้มยำกุ้ง ไทยไม่ได้ยกเลิกดีล F-18 เฉยๆแบบที่หลายคนเข้าใจ ความจริงคือไทยขอให้สหรัฐฯช่วยรับซื้อ F-18 ไว้แทน แต่สหรัฐฯก็ไม่ได้คืนเงินค่า F-18 ที่ไทยจ่ายไปแล้วแต่อย่างใด ภายหลังไทยต้องเอาเงินส่วนนี้ไปซื้อ F-16 มือสองมาแทน ไม่อย่างนั้นก็เสียเงินฟรี
สวัสดี
22.04.2020
ภาพเครื่องบินขับไล่ F/A-18 C Hornet ของสหรัฐฯขึ้นบินจากเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Kitty Hawk (CV 63) เมื่อปี 2005 โดย Jonathan Chandler จาก wikipedia
โฆษณา