29 เม.ย. 2020 เวลา 04:15 • สุขภาพ
ปัจจุบันโลกของเรากำลังต่อสู้อยู่กับโรคติดต่ออย่าง Covid-19 หรือ Coronavirus Disease 2019 ซึ่งกลายเป็นระดับการระบาดแบบ Pandemic หรือระบาดทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อย โดยใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือนหากเทียบกับโรคระบาดอื่นๆ ในอดีตที่ใช้เวลาหลายสิบปี เนื่องด้วยการเดินทางข้ามซีกโลก ทุกวันนี้ทำได้ง่ายมาก ส่งผลให้การระบาดเป็นไปได้ง่ายเช่นกัน
Covid-19 นับเป็นการระบาดที่ Disrupt ทุกอย่าง ทั้งการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ชีวิตประจำวัน
เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร แต่เราสามารถเรียนรู้จากอดีตได้ว่า เราผ่านพ้นแต่ละวิกฤติมาได้ยังไง และเราจะวางแผนรับมือกับมันได้มากน้อยเพียงใด
เรามาดูกันว่าสยามประเทศของเรา เคยผ่านโรคระบาดอะไรมาบ้าง หนักหนาแค่ไหน
กาฬโรค หรือที่รู้จักกันในชื่อ Black death
เกิดจาดเชื้อแบคทีเรีย Yersinia pestisโดยมีหนูหรือสัตว์ฟันแทะและหมัดเป็นพาหะนำโรค รวมถึงสามารถแพร่ในอากาศ ผ่านการสัมผัสโดยตรง โดยอาหารหรือวัสดุที่ปนเปื้อน
นับว่าเป็นโรคระบาดที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในโลกแบบที่ไม่มีโรคใดเทียบได้ โดยผลาญชีวิตคนทั่วโลกไปประมาณ 100 ล้านคน ในระยะเวลาการระบาดอันยาวนานกว่า 500 ปี ถึงจะมียารักษา
เชื้อแบคทีเรีย Yersinia pestis
ผู้ติดเชื้อจะมีฝีที่ขาหนีบ รักแร้ ส่วนตามผิวหนัง นิ้วมือจะมีสีดำน่ากลัว เนื่องจากเลือดไปคลั่งอยู่ใต้ผิวหนังกำพร้า และไอเป็นเลือดสีดำ เหตุนี้เองนี้ทำให้มีการขนานนามชื่อว่า Black death หมายถึง ความตายสีดำนั่นเอง หลังจากติดเชื้อผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 5 วัน
นิ้วที่เน่าเพราะเนื้อเยื่อตายจากกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง / Cr. Wikipedia
โดยในอดีตมีการระบาดใหญ่ของกาฬโรคเกิดขึ้น 3 ครั้ง ได้แก่
การระบาดครั้งที่ 1
กาฬโรคแห่งจัสติเนียน (Plague of Justinian)
เกิดในระหว่างปี ค.ศ. 541-542 ในอาณาจักรไบแซนไทน์ตรงกับ สมัยของจักรพรรดิทีมีชื่อว่าจัสติเนียน คาดกันว่ากาฬโรคซึ่งมีต้นกำเนิดในจีน แพร่กระจายสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิล จากธัญพืชที่นำเข้าจากอียิปต์ ประกอบกับนครแห่งนี้มีหนูและหมัดเป็นจำนวนมากจึงระบาดอย่างรวดเร็ว
ระหว่างการระบาดมีชาวคอนสแตนติโนเปิลต้องเสียชีวิตอย่างน้อยวันละ 5,000-10,000 คน
ส่งผลให้ประชากรหายไปถึง 40% ก่อนที่จะระบาดไปทั่วโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านคน
จำนวนประชากรในยุโรปลดลงกว่า 50% ในช่วง ค.ศ. 541-700 โดยชาวยุโรปต้องใช้เวลาถึง200 ปี เพื่อทำให้ประชากรกลับมาดังเก่า
Cr. Torchback.co
การระบาดครั้งที่ 2
Great Pestilence โรคระบาดครั้งใหญ่
เกิดในศตวรรษที 14 ช่วงป ค.ศ. 1347-1351 หรือ พ.ศ. 1890-1894 เชื่อกันว่าเปนโรคระบาดที่มาจาก พ่อค้าชาวจีน-มองโกล ได้เป็นผู้นำเชื้อมาแพร่ในยุโรปโดยมีพาหะเปนหมัดบนตัวหนู
เหตุนี้ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศในโซนยุโรป ประเทศที่ได้รับความเสียหายอย่างมากก็คงเป็นอิตาลีและลอนดอน
โดยอิตาลีต้องเสียประชาการ 2 ใน 3 หรือกว่า 60% ของประเทศไป
ส่วนลอนดอนมีคนตายถึง 70% จากจำนวนประชากร 450,000 คน เหลือเพียง 60,000 คน และการระบาดในยุโรปในช่วงนี้มีประชากรตายประมาณ 25 ล้านคน
การแพร่ระบาดบอง Black death ในทวีปยุโรป / Cr. Wikipedia
การระบาดครั้งที่ 3
เกิดในปี ค.ศ. 1855 เริ่มต้นมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ก่อนจะระบาดไปทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิต12 ล้านคน แต่ครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน โดยในปี ค.ศ. 1894 ได้มีการค้นพบเชื้อที่ก่อโรค และมีการพัฒนาวัคซีนในปี ค.ศ. 1897 จนในท้ายที่สุดโรคนี้ก็สามารถรักษาให้หายได้แล้ว
จากการระบาดอย่างบ้าคลั่ง ทั้ง 3 ครั้งนั้น สยามประเทศเราก็โดนหางเลขไปด้วย ในช่วงของการระบาดครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 3 อย่างที่กล่าวไปนั่นเอง
กาฬโรคนี้ระบาดครั้งแรกในไทยในช่วง พ.ศ. 1893 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เกิดกาฬโรคระบาดเพราะการติดต่อค้าขายทางเรือสำเภากับจีน โดยมีหมัดหนูเกาะติดตัวหนูอยู่ใต้ท้องเรือ เมื่อเรือเทียบท่าที่ใด หนูใต้ท้องเรือก็เอาหมัดหนูออกไปแพร่เชื้อในบ้านเมืองแห่งนั้นตลอดเส้นทาง สยามประเทศในเวลานั้น มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก
จนมาถึงช่วง รัชกาล 5 ก็มีการระบาดขึ้นอีก แต่ในยุคสมัยที่พัฒนาขึ้น เรามีการรับมือกับกาฬโรคได้ดีขึ้น โดยมีการกักกันเรือสำเภาจากที่มาจากพื้นที่เสียงเป็นครั้งแรก โดยกักไว้ที่เกาะไผ่ เป็นเวลา 9 วัน ก่อนจะให้เข้าสยามประเทศ เพื่อลดอัตรการแพร่เชื้อเข้าประเทศ
ผนวกกับโลกได้มีการคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จ กาฬโรคจึงค่อยๆ ลดลงและหายไปในที่สุด
ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ยังไม่ก้าวหน้ากว่าจะมีวัคซีนที่ต้านเชื้อไวรัส ก็กินเวลาไป 500 ปีเลยทีเดียว
อหิวาตกโรค
เป็นโรคที่ระบาดต้นกำเนิด มาจากเบงกอล ประเทศอินเดีย โดยเกิดจากเชื้อโรคที่มีชื่อว่า วิบริโอ คอเลอเร (Vibrio Cholerae)
ติดต่อกันโดยการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรค หรือพิษของเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารสุกๆ ดิบๆ ซึ่งเกิดจากการจากอุจจาระหรืออาเจียนของผู้ป่วย แพร่กระจายอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำโรค
เชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae / Cr. Wikipedia
อหิวาตกโรคนับว่าเป็นโรคที่ระบาดบ่อยมากในอดีต โดยระบาดครั้งใหญ่ถึง 7 ครั้ง โดยแต่ละครั้งก็สร้างความเสียหายไม่น้อยเลยทีเดียว
โดยครั้งแรกเริ่มจากประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ. 2359 ก่อนที่จะแพร่ขยายไปสู่ทวีปอินเดีย จีน และเข้ามาสู่ทวีปยุโรป และระบาดอย่างต่อเนื่องถึง 6 ครั้ง ภายในระยะเวลา 100 ปี สร้างความเสียหายอย่างมาก โดยลอนดอน ฝรั่งเศส มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นราย และที่หนักที่สุดคือรัสเซียมีผู้เสียชีวิตสูงถึงล้านคนในรอบการระบาดครั้งที่ 3 ปี พใศ. 2395
อหิวาตกโรคในไทย
ในไทยเริ่มระบาดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2363 ในยุคของ รัชกาลที่ 2 เริ่มจากการระบาดจากอินเดีย เข้ามาไทย ผ่านทางปีนัง ประเทศมาเลเซีย และหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ก่อนจะเข้ามาระบาดในพระนคร
ระหว่างการระบาด มีคนตายจำนวนมากในกรุงเทพฯ และเมืองใกล้เคียงมากถึงสามหมื่นคน
ถัดมาอีก 30 ปี ในปี พ.ศ.2392 ช่วงรัชกาลที่ 3 อหิวาต์ได้กลับมาระบาดอีกในกรุงเทพ เป็นระยะเวลา 1 เดือน มีคนตายมากมาย จนวัดเผาศพไม่ทัน กองอยู่ในวัดต่างๆ ได้แก่ วัดตีนเลน วัดบางลำพู และที่เยอะสุดคงเป็นวัดสระเกศที่มีศพกองไว้ถึง 2,765 ศพ ด้วยจำนวนศพที่มากมายขนาดนี้ ทำให้เกิดเหตุการณ์แร้งแห่มาแทะซากศพอย่างหิวกระหาย จนเป็นที่มาของคำว่า ''แร้งวัดสระเกศ''
แร้งที่มารอแทะซากศพที่วัดสระเกศ / Cr. Matichon
ต่อมาในปี พ.ศ. 2416 ในสมัย รัชกาลที่ 5
ก็เกิดการระบาดขึ้นอีกครั้งโดยระบาดเป็นระยะเวลา 1เดือนกว่าๆ คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 6,600 คน แต่ด้วยยุคที่พัฒนาขึ้น ทำให้รัชกาลที่ 5 โปรดให้มีการจัดการและป้องกันอหิวาตกโรคตามหลักวิชาการขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยการจัดตั้งกรมพยาบาลจัดการสุขาภิบาลและการประปาขึ้น เพื่อบรรเทาโรคระบาดในสมัยนั้น
หลังจากนั้นเกิดเหตุระบาดขึ้นอีกหลายครั้ง แต่ไม่ได้ร้ายแรงเหมือนยุคสมัยก่อน ๆ และปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ในระยะเวลา 1-5 วัน เนื่องด้วยการแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศพัฒนาไปมาก ซึ่งอหิวาตกโรคก็ไม่ได้หายไปจากไทยซะทีเดียว และยังพบผู้ติดเชื้อบ้างประปรายในยุคปัจจุบัน
ด้วยความที่โรคนี้ไม่ได้รุนแรงเหมือนสมัยก่อนแล้ว ในปี 2532 ประเทศไทยจึงเลิกรายงานผู้ป่วยอหิวาตกโรค และได้เปลี่ยนชื่อโรคใหม่เป็น โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง
จะสังเกตได้ว่า โรคติดต่อจะระบาดหนักก็ต่อเมื่อเกิดการเดินทางสัญจร การพบปะชุมนุม เพราะฉะนั้นการกักตัวเพื่อลดอัตรการแพร่ระบาด เป็นเรื่องที่ง่ายที่ควรทำอย่างยิ่ง
สำหรับ Covid-19 ก็เหมือนโรคระบาดอื่น ๆ ที่เคยมีมาแล้วในอดีต ไม่ช้าก็เร็ววิกฤตินี้ก็จะสงบลง และจะเหลือไว้เป็นเพียงแค่คำจารึกในประวัติศาสตร์เท่านั้น เพียงแต่เราอย่าตระหนกจนเกินไป เพราะสิ่งสำคัญที่รับมือกับสถานการณ์แบบนี้ได้ดีที่สุดคือการมีสติ พร้อมกับสภาพจิตใจที่ดีต่างหาก
จากข้อมูลที่เสนอไปข้างต้น โรคระบาดจะมีวัฏจักรของมัน Covid-19 ก็เช่นกัน แน่นอนว่าระลอกที่ 2 อาจจะเกิดขึ้น แต่คำถามคือเมื่อเวลานั้นมาถึงเราจะพร้อมรับมือกับมันมากแค่ไหนเท่านั้นเอง
โฆษณา