Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Good books for life
•
ติดตาม
25 เม.ย. 2020 เวลา 13:15 • ประวัติศาสตร์
21 Lessons for the 21st Century
“In a world deluged by irrelevant information, clarity is power.” 463 หน้าเน้นๆ แต่มี footnote 50 หน้า ถือหนักปวดแขนเหมือนเดิมแต่อ่านจบแล้ว ความคิดจะติดสปีด กลายเป็นกระต่ายที่ตื่นมาทันก่อนการวิ่งแข่งกับเต่าจะจบลง
Sapiens: เล่าเรื่องราวของการวิวัฒนาการจาก “สิ่งมีชีวิตที่ไม่สำคัญ” จนกลายมาเป็น “มนุษย์” ในยุคปัจจุบันที่มีอำนาจเหนือทุกสรรพสิ่งบนโลก
Homo Deus: เล่าเรื่องราวของโลกอนาคตในระยะยาวที่มนุษย์สามารถก้าวผ่านไปสู่การเป็น “พระเจ้า” ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และชีววิศวกรรม พร้อมกับผลลัพธ์ที่จะตามมามากมายทั้งในแง่มุมของการปกครอง สังคมและเศรษฐกิจ
ในหนังสือเล่มล่าสุด 21 Lessons for the 21st Century ศาสตราจารย์ Yuval Noah Harari ได้นำเอาบทเรียนที่ได้จากการศึกษาอดีตและอนาคตมาสังเคราะห์และกลั่นกรองออกมาเป็น “บทเรียน 21 ประการ” ของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความท้าทายระดับโลกมากมายที่มนุษย์ทุกคนควรให้ความสำคัญไม่ว่าเราจะมีฐานะและบทบาทใดในสังคมของโลกก็ตาม
มนุษย์คิดหรือตัดสินใจด้วย “เรื่องเล่า” มากกว่า “ข้อเท็จจริง” อยู่ตลอดเวลา
มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความท้าทายระดับโลกมากมายที่มนุษย์ทุกคนควรให้ความสำคัญไม่ว่าเราจะมีฐานะและบทบาทใดในสังคมของโลกก็ตาม
โลกของมนุษย์ในช่วงกลางของศตวรรษที่ 20 นั้นถูกกลุ่มผู้มีอำนาจในมหานครนิวยอร์ค ลอนดอน เบอร์ลินและมอสโกสร้าง “อภิมหาเรื่องเล่า” สามเรื่องอย่าง เสรีนิยม (liberalism), ชาตินิยมฟาสซิสต์ (fascism) และคอมมิวนิสต์ (communism) ที่ต่างก็แข่งขันกันอย่างรุนแรงจนโลกต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและสงครามหลายรอบ…
จนกระทั่งหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เรื่องเล่าของ “เสรีนิยม” ที่ว่าด้วยเสรีภาพของปัจเจกบุคคลสามารถสร้างความเป็นใหญ่ได้ในช่วงปลายของศตวรรษที่ผ่านมาจนเรื่องเล่านี้ได้กลายมาเป็น “คู่มือ” ของมนุษยชาติที่ส่งเสริมแก้ปัญหาของโลกด้วยการปกป้องสิทธิมนุษยชน หลักการปกครองแบบประชาธิปไตย การค้าเสรีและโลกาภิวัตน์
สองเหตุการณ์สำคัญในปี 2016 อย่างชัยชนะของประธานธิบดี Donald Trump และผลโหวต BREXIT ประกอบกับความก้าวหน้าของรัฐคอมมิวนิสต์อย่างประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ นั้นก็ได้เริ่มส่งสัญญาณถึง “การสิ้นสุดของยุคเสรีนิยม” ที่สร้างการเจริญเติบโตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา…
แผนภาพประชากรที่โหวตให้อยู่หรือออก เครดิตข้อมูลและภาพจาก Wiki
ซึ่งปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การเสื่อมถอยของเสรีนิยมที่เคยใช้ได้ผลดีในยุคอุตสาหกรรม คือ “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี” ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนระบอบการปกครองแบบเสรีนิยมไม่สามารถควบคุมได้
ความสามารถของมนุษย์นั้นแบ่งออกได้เป็นด้านกายภาพ และด้านการรับรู้ การสื่อสาร การตัดสินใจของมนุษย์นั้นเกิดจาก “เซลล์ประสาท (neuron)” นับพันล้านเซลล์ในสมองโดยไม่ได้เกิดจากปาฏิหาริย์ใดๆที่วิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้
ความเชื่อที่ว่าอารมณ์ของมนุษย์นั้นเป็นสัญลักษณ์ของการมีอยู่ของ “เจตจำนงเสรี (free will)” นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ความจริง… ความรู้สึกของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดล้วนเป็น algorithm ที่มีเหตุผลทางชีวภาพที่ได้รับการขัดเกลาจากวิวัฒนาการและการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นในอดีต
คุณสมบัติสำคัญที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆบนโลกก็คือ ความสามารถในการ “คิดร่วมกันเป็นกลุ่ม” ที่เปิดโอกาสให้มนุษย์แบ่งปันความรู้และทำงานที่ใหญ่กว่าความสามารถของคนคนเดียวได้เป็นร้อยเป็นพันเท่า แต่คุณสมบัตินี้ก็ได้ก่อให้เกิด “ภาพลวงตาของความรู้” ให้กับมนุษย์ทุกคน พวกเราต่างมั่นใจว่าเรามีความรู้กับเรื่องรอบๆตัวเราเป็นอย่างดี ทั้งๆที่จริงๆแล้วเรารู้เรื่องราวเกี่ยวกับโลกของเราน้อยมากๆ [ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เรารู้ที่มาที่ไปของลาเต้เย็นที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันมากน้อยแค่ไหน กาแฟคั่วยังไง นมสดซื้อมาจากไหนและแก้วพลาสติกมีกระบวนการผลิตอย่างไร] ความรู้ของมนุษยชาติในยุคปัจจุบันจึงเป็น “ความรู้ของหมู่คณะ” ที่เราสามารถต่อยอดความรู้ของบุคคลอื่นในด้านบางด้านโดยเฉพาะมาสร้างประโยชน์ให้กับตัวเองได้
ฟังดูแล้วที่กล่าวมาทั้งหมดเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ภาพลวงตาของความรู้นั้นได้ก่อปัญหาอย่างใหญ่หลวงในโลกที่ทุกอย่างมีความซับซ้อนสูงจนทำให้คนหนึ่งคนไม่สามารถประมวลผลข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในปัญหาใหญ่ๆ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีและการกำหนดนโยบายของรัฐบาล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนนำมาสู่การหาทางออกของความคิดแบบง่ายๆผ่านการคิดตามผู้อื่น และคิดตามอารมณ์ที่ล้วนไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดและสามารถส่งผลกระทบให้โลกตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าเดิมได้ ดังนั้น สิ่งที่มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ควรทำก็คือการยอมรับถึง “ความไม่รู้” ของตัวเอง
ความสมดุลระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งนั้นสามารถสร้างพลังอำนาจอันมหาศาลให้กับมนุษย์ได้ หลังจากที่เรารู้แล้วว่าเครื่องมือที่ดีที่สุดในการส่งอิทธิพลทางความคิดให้กับมนุษย์ก็คือ “เรื่องเล่า” ที่ยิ่งเข้าใจง่ายมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เครื่องมือที่น่าจะมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในศตวรรษที่ 21 นี้จึงหนีไม่พ้น “เรื่องเล่า"
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันจะทำให้มนุษย์สามารถทำความเข้าใจกลไกของสมองได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ความเข้าใจถึงกลไกของ “จิตใจ” อันเป็นศูนย์กลางของอารมณ์ความรู้สึกที่พวกเราสัมผัสได้จริงๆนั้นยังถือว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก เครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยให้มนุษย์ทำความเข้าใจจิตใจของตัวเองได้ดีที่สุดในปัจจุบันคือ “การทำสมาธิ” อาทิ การทำวิปัสสนาอย่างที่ผู้เขียน Yuval Noah Harari ฝึกฝนอยู่ทุกวัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ละทิ้งความคิดต่างๆที่อยู่นอกกายเพื่อหันมาสนใจกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายในจิตใจและร่างกายของตัวเอง เช่น การรู้ถึงการหายใจเข้าออกและการสัมผัสถึงร่างกายเวลาเกิดอารมณ์ต่างๆ
การทำความเข้าใจจิตใจของพวกเราเองนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากในศตวรรษที่ 21
ภาพจาก ted.com
สำหรับใครที่มีเวลาและอยากรู้แบบละเอียดๆ แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่อ่านค่อนข้างยาก "เหมือนยาขมมากกว่าไอติม" แต่เราก็ขอแนะนำ เพราะทำให้เข้าใจกลไกและสังคมโลกในปัจจุบันอย่างมากขึ้นจริงๆ
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย