23 เม.ย. 2020 เวลา 12:49 • กีฬา
ทำไมการเทกโอเวอร์ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ถึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่แฟนสาลิกาดงทั่วโลก ต้องการให้เกิดขึ้นด้วยใจระทึก วิเคราะห์บอลจริงจังสรุปทุกอย่างโพสต์เดียวจบ
นิวคาสเซิล คือเมืองที่ตั้งอยู่ที่ทางตอนเหนือของอังกฤษ อีกแค่นิดเดียวก็จะเข้าถึงสกอตแลนด์แล้ว นี่คือเมืองขนาดกลางที่มีประชากรราว 3 แสนคน
ที่อังกฤษ เมืองไซส์ขนาดนี้ มักจะมีทีมฟุตบอลอย่างน้อย 2 ทีม อย่างบริสตอล ก็มีบริสตอล โรเวอร์ส กับ บริสตอล ซิตี้ หรือ เชฟฟิลด์ ก็มีเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และ เชฟฟิลด์ เว้นสเดย์
แต่กับนิวคาสเซิลนั้น พวกเขามีแค่สโมสรเดียวในเมือง คือนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ดังนั้นเวลาแมตช์เดย์มาถึง ทั้งเมืองจะมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมาก คือโฟกัสเชียร์แค่ทีมเดียวเท่านั้น
ที่เมืองลิเวอร์พูลเราจะเห็นแฟนเอฟเวอร์ตันแช่งลิเวอร์พูล แฟนลิเวอร์พูลแอบแขวะแอฟเวอร์ตัน แม้แต่ในบ้านเดียวกันอาจมีกองเชียร์หลายทีมปะปะกันไป แต่ที่นิวคาสเซิลไม่ใช่แบบนั้น ทุกคนคือสาวกแม็กพายส์หมด
1
การที่ประชากร 3 แสนคนเชียร์ทีมเดียว มันแปลว่ายอดคนดูในสนามเซนต์เจมส์พาร์ก มีตัวเลขที่สูงมากตลอด สโมสรขายตั๋วได้เยอะเสมอ เช่นเดียวกับของที่ระลึก ทำอะไรมาก็ขายได้ มีแฟนซื้ออยู่แล้ว
ด้วยความที่นิวคาสเซิลเป็นสโมสรที่มี Passion แบบนี้ นักธุรกิจก็อยากเข้ามาลงทุน มาเทกโอเวอร์เป็นเจ้าของ เพราะรู้ว่าสโมสรมีสิทธิเติบโตไปไกลได้แน่ๆในอนาคต
ในประวัติศาสตร์ 100 ปี ของนิวคาสเซิล นี่คือสโมสรที่ถูกถือครองโดยตระกูลซีมัวร์ และตระกูลแม็คคีก กลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นในเมือง เป็นเหมือนธุรกิจของครอบครัว แต่หลังจากทีมตกต่ำอย่างหนัก ในปี 1989 เมื่อตกชั้นไปเล่นในดิวิชั่น 2 (หรือเดอะ แชมเปี้ยนชิพ ในปัจจุบัน) ก็มีเสียงเรียกร้องจากแฟนบอล ว่าถึงเวลาแล้ว ที่ตระกูลซีมัวร์ จะปล่อยสโมสรให้กับคนที่มีฐานะดีกว่า พร้อมจะขับเคลื่อนนิวคาสเซิลไปข้างหน้า
ดูจากอันดับของนิวคาสเซิลในช่วงนั้น จะเห็นว่าค่อยๆดร็อปลงมาเรื่อยๆ
1989-90 อันดับ 3 ของดิวิชั่น 2 (ไม่ได้เลื่อนชั้น)
1990-91 อันดับ 11 ของดิวิชั่น 2 (ไม่ได้เลื่อนชั้น)
1991-92 อันดับ 20 ของดิวิชั่น 2 (ไม่ได้เลื่อนชั้น)
ไม่ใช่แค่ไม่ได้เลื่อนชั้นเท่านั้น แต่เกือบจะตกไปเล่นในดิวิชั่น 3 (ลีกวัน) เลยด้วยซ้ำ โดยในซีซั่น 1991-92 อันดับห่างจากโซนตกชั้นแค่ 4 คะแนนเท่านั้น เรียกได้ว่ารอดไปแบบหวุดหวิดมาก
1
สุดท้าย ตระกูลซีมัวร์ จึงตัดสินใจจะขายหุ้นของตัวเอง ให้กับเศรษฐีคนอื่น มาดูแลนิวคาสเซิลต่อ
คนที่เข้ามาซื้อ คือเซอร์จอห์น ฮอลล์ นักธุรกิจที่รวยที่สุดในแคว้นไทน์ แอนด์ แวร์ ซึ่งเป็นแฟนของนิวคาสเซิลแต่แรกอยู่แล้ว เขาตัดสินใจซื้อหุ้นจากตระกูลซีมัวร์ และกลายเป็นเจ้าของทีมคนใหม่ โดยถือหุ้น 87.64% พร้อมแต่งตั้งตัวเองเป็นประธานสโมสร
แฟนบอลนิวคาสเซิลนั้น เพราะความโล่งใจที่เปลี่ยนเจ้าของซะที
ทำไมถึงโล่งใจขนาดนั้น ต้องอธิบายว่า ในฤดูกาล 1992-93 "พรีเมียร์ลีก" ถูกก่อตั้งขึ้นโดยมีการเปลี่ยนชื่อ ดิวิชั่น 1 กลายเป็นพรีเมียร์ลีก
1
การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่แค่เรื่องชื่อ แต่เป็นเรื่องเม็ดเงินด้วย คือทีมที่อยู่ในพรีเมียร์ลีกจะได้เงินมหาศาล มากกว่าทีมในระดับแชมเปี้ยนชิพหลายเท่า ซึ่งแฟนนิวคาสเซิลกลัวว่า ถ้าไม่สามารถเลื่อนชั้นไปได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ช่องว่างระหว่างทีมพรีเมียร์ลีก กับ ทีมลีกรองจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ และถ้านิวคาสเซิลยังอยู่ในดิวิชั่น 2 ก็อาจโดนทีมใหญ่ๆทิ้งห่างไปเรื่อยๆ
พอเปลี่ยนเจ้าของปั๊บ เซอร์จอห์น ฮอลล์ เอาเม็ดเงินมาลงทุนให้นิวคาสเซิลอย่างเต็มที่ เขาปลดโค้ชคนเดิม ออสซี่ อาร์ดิเลสออก แล้วแต่งตั้งเควิน คีแกน ขึ้นเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ พร้อมทั้งซื้อตัวผู้เล่นดีๆ อย่างแอนดี้ โคล จากบริสตอล ซิตี้ ในราคา 1.75 ล้านปอนด์ และโรเบิร์ต ลี ในราคา 7 แสนปอนด์จากชาร์ลตัน นั่นทำให้นิวคาสเซิลแกร่งขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน
สุดท้าย ในฤดูกาล 1992-93 นิวคาสเซิลคว้าแชมป์ลีกรองได้สำเร็จ เก็บได้ 96 แต้ม ยิงได้มากสุด เสียประตูน้อยสุด เลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกได้อย่างสง่างาม ซีซั่นแรกของเควิน คีแกน เขาพาทีมเลื่อนชั้นได้ทันที
แน่นอน ส่วนหนึ่งที่ต้องให้เครดิตคือการเปลี่ยนเจ้าของทีมนี่ล่ะ เพราะการมีเม็ดเงินเข้ามาแบบเป็นชิ้นเป็นอัน ทำให้ทีมยกระดับขึ้น และสามารถประสบความสำเร็จในที่สุด
นิวคาสเซิลเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 1993-94 เซอร์จอห์น ฮอลล์ ยังคงเปย์เงินต่อไป เขาต้องการสร้างนิวคาสเซิลให้แข็งแกร่งจนสามารถแข่งขันกับทีมแชมป์ลีกอย่างแมนฯยูไนเต็ดได้
เซอร์จอห์นซื้อนักเตะเข้ามาอีก 10 คน ในฤดูกาลนั้น หนึ่งในนั้นคือ ปีเตอร์ เบียร์ดสลีย์ แข้งอัจฉริยะทีมชาติอังกฤษ ที่มีดีกรีแชมป์ลีกสองสมัยกับลิเวอร์พูล นั่นทำให้นิวคาสเซิลมีทีมที่แกร่งขึ้นมากและจบได้ถึงอันดับ 3 ในปีแรกที่เลื่อนชั้นมาเล่นในลีกสูงสุด
นิวคาสเซิล ยังคงความแข็งแกร่งต่อไป และไปได้สูงสุดคืออันดับ 2 ในพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 1995-96 และ 1996-97 พวกเขาอาจจะไม่ได้แชมป์ แต่ก็เป็นทีมที่น่ากลัว สามารถยืนหยัดในลีกสุงสุดได้อย่างมั่นคงมากๆ
เซอร์จอห์น ฮอลล์ เป็นคนจริงจังกับการทำทีมฟุตบอลมาก ไม่ใช่แค่จ่ายเงินยกระดับทีม แต่เขายัง Rebuild สนามเซนต์เจมส์พาร์กใหม่ด้วย โดยทุบทำลายสแตนด์ฝั่งลีซเอนด์ และฝั่งแกลโลว์เกต เอนด์ ก่อนจะสร้างใหม่ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ปลอดภัยขึ้น และรองรับผู้ชมได้มากขึ้น จากเดิมที่สแตนด์ทั้ง 4 จะแยกกัน ก็สร้างแสตนด์ขยายจุดมุมสนามให้ครบ ให้เพื่อเดินเชื่อมถึงกันได้ มีการเพิ่มไฟส่องสว่าง สร้างระบบระบายน้ำ และเปลี่ยนพื้นหญ้าใหม่ ในปี 1993 เซนต์เจมส์พาร์ก จุคนได้ 36,610 คน
ด้วยความที่นิวคาสเซิล เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในปี 1998 เขาขยายสนามอีก เพิ่มความจุเป็น 52,143 คน ซึ่งกลายเป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในอังกฤษ เป็นรองแค่เวมบลีย์ กับโอลด์แทรฟฟอร์ดแค่นั้น
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเซอร์จอห์น ฮอลล์ ยังไปได้ดี ส่วนตัวสโมสรเองนั้นก็พอทำกำไรได้ ไม่ได้ขาดทุนอะไร ซึ่งถ้าเป็นไปในทิศทางนี้ อีกไม่นาน นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด คงก้าวไปถึงแชมป์อะไรสักรายการได้
แต่ปัญหาเริ่มออกสตาร์ตในปี 2000 เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลฮอลล์เกิดสภาวะทรุดหนักอย่างรุนแรง นั่นทำให้เซอร์จอห์น ฮอลล์ ต้องเอาสินทรัพย์ส่วนตัว ไปอุดรอยรั่วที่บริษัทขาดทุน
ในปี 1999 เซอร์จอห์น ฮอลล์ มีทรัพย์สิน 70.8 ล้านปอนด์ แต่แค่ช่วง 1 ปี เขาเหลือเงินแค่ 12.2 ล้านปอนด์เท่านั้น ซึ่งด้วยเงินที่มีน้อยลง ส่งผลต่อสโมสรนิวคาสเซิลไปโดยปริยาย จากเดิมที่พร้อมมีเงินอัดฉีดจากเศรษฐีตลอดเวลา ในตอนนี้ เงินส่วนนั้นก็หายไปแล้ว ต้องใช้เงินที่มาจากรายได้ของสโมสรเพียงอย่างเดียว
ยิ่งไปกว่านั้นในบางปี กลายเป็นนิวคาสเซิลเองด้วยซ้ำที่ต้องเอาเงินรายได้จากสโมสร ไปพยุงธุรกิจของตระกูลฮอลล์
เมื่อไม่มีเงินอัดฉีดจากเจ้าของ และธุรกิจของนิวคาสเซิลก็ไม่ได้ Worldwide เหมือนแมนฯยูไนเต็ด หรืออาร์เซน่อล ที่จะมีรายได้เข้ามาทุกทิศทาง ทำให้ผลงานของทีมสาลิกาดง ค่อยๆร่วงลงมาเรื่อยๆ จากกลุ่มท็อปโฟร์ หล่นไปอันดับ 7 ในปี 2005-06 และอันดับ 13 ในปี 2006-07
ถึงจุดนี้ตระกูลฮอลล์ ก็โดนแฟนบอลตำหนิขึ้นเรื่อยๆ ว่า ถ้าคุณไม่พร้อมจะควักเงินจริงๆ ก็ขายทีมดีกว่า ขอบคุณทุกอย่างที่ทำเพื่อกันมา แต่สโมสรไม่ใช่ที่ปั๊มเงินของใคร
สุดท้ายเซอร์จอห์น ฮอลล์ ด้วยความรักสโมสร เขาก็ต้องยอมรับว่า ไม่สามารถพานิวคาสเซิลไปต่อได้ไกลกว่านี้แล้ว คือแค่ประคองตัวไปเรื่อยๆ คงพอทำได้ แต่จะให้ไปสู้กับทีมใหญ่ๆ ถ้าไม่มีเงินซื้อนักเตะบิ๊กเนมเลย คงไม่มีวันเทียบพวกแมนฯยูไนเต็ด ได้แน่นอน
ดังนั้นเซอร์จอห์น จึงเตรียมขายทีมให้กับเจ้าของคนใหม่ สิ่งสำคัญคือ คนที่เข้ามาซื้อเขาต้องเลือกให้ดีที่สุด ไม่อย่างนั้น อาจทำให้เกิดหายนะกับสโมสรได้
คือถ้าได้เจ้าของที่ทุ่มจริง รวยจริง แบบโรมัน อบราโมวิชกับเชลซี วิธีนี้นิวคาสเซิลจะไปไกลแน่ แต่ถ้าเลือกผิด แบบที่ลิเวอร์พูลเลือกจอร์จ ยิลเลตต์ กับทอม ฮิคส์ เป็นเจ้าของใหม่ สโมสรก็พังได้เหมือนกัน
ในตอนแรกมีกลุ่มนักลงทุนจากอเมริกาให้ความสนใจ แต่เซอร์จอห์นยังคงไม่แน่ใจ เพราะคนอเมริกันกับกีฬาฟุตบอล ไม่รู้ว่าจะจริงจังกับมันแค่ไหน ดังนั้นเขาจึงรอก่อน และสุดท้ายได้ข้อเสนอที่น่าสนใจ จากเศรษฐีที่รวยที่สุดอันดับ 25 ของอังกฤษ
เขาคือเจ้าของบริษัทสปอร์ต ไดเร็กต์ ร้านค้าอุปกรณ์กีฬาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ กับอายุแค่ 42 ปี แต่กลับเป็นคนรุ่นใหม่ ที่สร้างตัวได้เร็วมาก
เขาคนนี้ชื่อ ไมค์ แอชลีย์
ไมค์ แอชลีย์ เป็นนักธุรกิจที่มาแรงมากๆ บริษัท สปอร์ตไดเร็กต์ ก่อตั้งหลังเจ้าตลาดเดิมอย่าง JD Sports แต่สามารถก้าวขึ้นมามียอดขายอันดับ 1 และเข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จ
1
แอชลีย์ เกิดที่เมืองวอลซอลล์ เขาไม่ได้มีความผูกพันใดๆกับนิวคาสเซิลเลย แต่มองเห็นว่าการเป็นเจ้าของทีมนิวคาสเซิลเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดีในการสร้างรายได้ และทำให้อาณาจักรสปอร์ตไดเร็กต์ของเขา สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งทางภาคเหนือ
แอชลีย์เข้ามาเจรจากับเซอร์จอห์น และให้ข้อเสนอที่ดีมากๆ โดยตอนแรกมูลค่าหุ้นของนิวคาสเซิล อยู่ที่หุ้นละ 0.54 ปอนด์ แต่แอชลีย์จะจ่ายให้เซอร์จอห์น หุ้นละ 1 ปอนด์ พร้อมทั้งจะดันให้เซอร์จอห์นขึ้นเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของทีม คือไม่ได้ตัดขาดอะไรกันไปเลย
ด้วยข้อเสนอตัวเลขที่ดี บวกกับบุคลิกของไมค์ แอชลีย์ เป็นคนหนุ่มไฟแรง ทำงานในวงการกีฬา ดังนั้นเซอร์จอห์นจึงมองว่า น่าจะเป็นคนที่ตอบโจทย์กว่ากลุ่มทุนอเมริกัน
23 พฤษภาคม 2007 ตระกูลฮอลล์ จึงขายหุ้นทั้งหมด 41.6% ให้กับไมค์ แอชลีย์ จากนั้นเมื่อเซอร์จอห์นขาย ทำให้คนถือหุ้นรายอื่นก็ยินดีจะปล่อยด้วย โดยเฟรดดี้ เชพเพิร์ด คนที่หุ้นอันดับ 2 ที่ 28% ก็ขายส่วนของตัวเองให้แอชลีย์ทั้งหมดด้วย
จากนั้นแอชลีย์ไล่ช้อนซื้อหุ้นรายย่อยอีกส่วนหนึ่ง รวมทั้งหมดเขาถือครองหุ้น 77.06% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสโมสรเรียบร้อย โดยใช้เงินทั้งหมด 133 ล้านปอนด์
"ไมค์ แอชลีย์ คือคนที่มีชื่อเสียงในวงการกีฬาตอนนี้" เซอร์จอห์น ฮอลล์ อธิบายเหตุผลที่เลือกขายให้แอชลีย์ "เขาชักจูงให้ผมเห็นว่าทำไมเขาคือตัวเลือกที่เหมาะสมในการผลักดันสโมสรเดินไปข้างหน้า ผมมั่นใจว่าเขาจะสร้างประโยชน์ให้กับทีมแน่นอน และหวังว่าเขาจะมีความสุขกับช่วงเวลาที่นิวคาสเซิล เหมือนที่ผมรู้สึกมาตลอด"
ในช่วงแรกแฟนนิวคาสเซิลสรรเสริญการเข้ามาของแอชลีย์ เพราะเหมือนตัวเองจะได้ปลดแอดจากยุคสมัยของตระกูลฮอลล์แล้ว คือแรกๆเซอร์จอห์นก็ดีจริงๆนั่นล่ะ แต่หลังๆมา พอธุรกิจพัง กลายเป็นว่าเขาไม่สามารถทำทีมให้ไปไกลกว่าเดิมได้แล้ว
โดยไมค์ แอชลีย์นั้น มีบุคลิกติดดินมาก ตอนเทกโอเวอร์ได้ใหม่ๆ เขาใส่เสื้อฟุตบอลขาวดำของสโมสร ไปเที่ยวผับชื่อบลู บัมบู กลางเมืองนิวคาสเซิล พอเข้าไปในผับ เขาก็ประกาศว่า วันนี้ใครอยากดื่มอะไร เดี๋ยวเขาเลี้ยงเอง และควักเงิน 2,500 ปอนด์ จ่ายให้แฟนบอลที่อยู่ในผับวันนั้น
ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ มันทำให้ชวนคิดว่า เออ แอชลีย์ก็ใจถึง พร้อมเปย์อยู่เหมือนกันนะ
แฟนๆนิวคาสเซิลที่รอคอยความสำเร็จมาตลอด ก็ได้แต่หวังว่า เจ้าของคราวนี้ น่าจะเป็นชอยส์ที่ถูกต้อง และได้เวลาที่นิวคาสเซิลจะไปลุ้นท้าทายกับทีมกลุ่มนำของตาราง
แต่พอเทกโอเวอร์ได้ไม่นานนัก การบริหารงานของแอชลีย์ก็เกิดคำถามมากมาย เริ่มจากในปี 2008 เขาปลดแซม อัลลาร์ไดซ์ออกจากตำแหน่ง ทั้งๆที่คุมทีมได้แค่ 8 เดือนเท่านั้น
แอชลีย์ แต่งตั้งเควิน คีแกน ขึ้นเป็นผู้จัดการทีม ซึ่งเป็นการคัมแบ็กสู่สโมสรอีกครั้งในรอบ 11 ปี แต่คีแกนอยู่กับนิวคาสเซิลได้แค่ 9 เดือนเท่านั้น ก็ประกาศลาออกจากทีม สาเหตุเพราะไม่พอใจในการซื้อขายของสโมสร
ไมค์ แอชลีย์ ขายเจมส์ มิลเนอร์ไปให้แอสตัน วิลล่า โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากคีแกน และไปคว้าตัวนาโช่ กอนซาเลส ดาวเตะโนเนมจากสโมสรดานุบบิโอ ในอุรุกวัยที่ไม่เคยมีใครเห็นฟอร์มมาก่อน โดยคีแกนระบุว่าแอชลีย์ กับผู้อำนวยการกีฬาเดนนิส ไวส์ เซ็นสัญญาจากการดูฟอร์มผ่าน YouTube
พอปลดคีแกน ก็แต่งตั้งโจ คินเนียร์ ผู้จัดการทีมที่ไม่ได้คุมสโมสรมา 4 ปี เป็นกุนซือคนใหม่ สาเหตุเพราะค่าจ้างที่ถูกมาก ซึ่งก็ไม่แปลกที่ผลงานจะผกผันตามราคา ในฤดูกาล 2008-09 คินเนียร์คุมทีมไป 18 เกม ชนะไป 4 เกม นิวคาสเซิลจมดิ่งอยู่โซนหนีตาย
1
ฟอร์มของคินเนียร์ก็แย่อยู่แล้ว เจ้าตัวต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวใจอีก ซึ่งแอชลีย์จึงแต่งตั้งอลัน เชียเรอร์ ขึ้นมาเป็นผู้จัดการทีมชั่วคราว แต่ด้วยความที่เชียเรอร์ ก็ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเลย ทำให้ 8 เกมที่เหลือ ที่เขาคุมทีม มีสถิติ ชนะ 1 เสมอ 2 แพ้ 5 สุดท้าย นิวคาสเซิลตกชั้นในที่สุด
ในยุคเซอร์จอห์น ฮอลล์ จะดีจะร้ายนิวคาสเซิลไม่เคยตกชั้น แต่พอเป็นแอชลีย์มาได้แค่ 2 ปี ทีมร่วงไปแชมเปี้ยนชิพเฉยเลย
แอชลีย์ สร้างความขัดใจให้แฟนๆด้วยการไม่ควักเงินของตัวเอง นอกจากนั้นยังขายสตาร์เพื่อเอากำไรอีกต่างหาก ตัวอย่างเช่นในฤดูกาล 2010-11 นิวคาสเซิลที่กลับเลื่อนชั้นมาแล้ว กำลังทิศทางดีๆ พวกเขาก็ต้องมาเสียแอนดี้ แคร์โรลล์ ให้ลิเวอร์พูลในราคา 35 ล้านปอนด์ ซึ่งสำหรับแฟนๆแม็กพายส์มองว่า แม้ลิเวอร์พูลจะให้ราคาขนาดนี้ แต่ทีมไม่จำเป็นต้องขายก็ได้
2
ซัมเมอร์ปี 2011 ขายเควิน โนแลน ให้เวสต์แฮม, ขายโฆเซ่ เอ็นริเก้ ให้ลิเวอร์พูล ตามด้วย ขายโจอี้ บาร์ตัน ให้ควีนสพาร์ก เรนเจอร์ส มีแต่ปล่อยสตาร์คนสำคัญออกไปทั้งนั้น
ตามด้วยปลายปี 2011 ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อสนาม จากเซนต์เจมส์พาร์ก เป็นสปอร์ต ไดเร็กต์ อารีน่า ตามสปอนเซอร์หลัก ซึ่งก็คือบริษัทที่เขาเป็นเจ้าของนั่นเอง นี่เป็นแผนของแอชลีย์อยู่แล้ว นั่นคือต้องการขยายสปอร์ต ไดเร็กต์ ให้เป็นที่นิยมมากขึ้นในเขตภาคเหนือของอังกฤษ และไม่มีอะไรจะดีไปกว่า เปลี่ยนชื่อสนาม เป็นชื่อบริษัทซะเลย
2
สิ่งที่แฟนๆไม่พอใจในตัวแอชลีย์คือ ทำไมไม่คิดจะลงทุนอะไรกับสโมสรบ้าง คือจ่ายเงินแค่พอให้ทีมประคองตัวในลีกสูงสุดได้ แต่ไม่กล้าควักเงินสู้แบบจริงๆจังๆ
แล้วนิวคาสเซิลก็มีผู้สนใจตลอดอยากเทกโอเวอร์ทีม แต่แอชลีย์ก็ไม่ขาย เก็บไว้ก็เหมือนห่านทองคำ ตราบใดที่สโมสรยังเล่นในพรีเมียร์ลีก มันก็ทำกำไรให้เขาเรื่อยๆ ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องปล่อยให้ใคร
หลักการของแอชลีย์คือ "Can't win, why try?" หรือแปลว่า ลงทุนไปเท่าไหร่ คิดว่าจะได้แชมป์ลีกหรอ แล้วจะพยายามไปทำไม สู้ประคองตัวไปเรื่อยๆทุกปี แค่ให้รอดตกชั้นก็โอเคแล้ว
ในมุมของแฟนบอลนิวคาสเซิล มันคือความคิดของ Loser พวกเขาเชื่อว่า สโมสรมีศักยภาพมากพอ ที่จะไปสู่ท็อปโฟร์ หรือ ท็อปซิกส์ของลีก ไม่ใช่ดิ้นรนหนีการตกชั้นแบบนี้ สนามก็สวย แฟนบอลก็เยอะ แต่ที่ต้องมาดิ้นรนแบบนี้ มันเพราะทัศนคติของเจ้าของทีมต่างหาก
จุดแตกหักที่ทำให้แฟนบอลหมดความอดทนอย่างสิ้นเชิง คือกรณีของราฟาเอล เบนิเตซ
ราฟา คือกุนซือระดับโลก แต่ยอมมาอยู่นิวคาสเซิล เขาช่วยพาทีมแม็กพายส์ที่ตกชั้น ในซีซั่น 2015-16 เลื่อนกลับมาสู่พรีเมียร์ลีกได้ในปีเดียว ด้วยการคว้าแชมป์ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ในซีซั่น 2016-17 ผลงานนั้นโดดเด่นชัดเจนอยู่แล้ว
จุดสำคัญคือช่วงเวลาที่ราฟา อยู่กับนิวคาสเซิลนั้น เขาใช้เงินน้อยกว่างบเสมอ อย่างซีซั่น 2016-17 ราฟาขายนักเตะไป 87 ล้านปอนด์ แล้วใช้เงินแค่ 57 ล้านปอนด์ ซื้อนักเตะใหม่ แถมยังพานิวคาสเซิลเลื่อนชั้นได้อีกต่างหาก
พอกลับมาสู่พรีเมียร์ลีก ในซีซั่น 2017-18 นิวคาสเซิลได้เงินจากการถ่ายทอดสดร้อยล้านปอนด์ และขายนักเตะได้อีก 30 ล้านปอนด์ แต่ได้งบซื้อนักเตะใหม่ แค่ 44.9 ล้านปอนด์ คือสโมสรแทบไม่ควักอะไรเลย ตามด้วยซีซั่น 2018-19 ราฟาขายนักเตะไปหลายคน ได้เงินมา 44.25 ล้านปอนด์ แต่ได้เงินซื้อนักเตะตอนซัมเมอร์แค่ 22.5 ล้านปอนด์เท่านั้น
ด้วยความอึดอัดใจในการทำงาน ที่ไม่ได้รับการซัพพอร์ทจากไมค์ แอชลีย์ และด้วยทัศนคติ "Can't win, why try?" สุดท้ายราฟา ทนไม่ไหวจริงๆ และประกาศแยกทางกับนิวคาสเซิลในที่สุด
ตรงจุดนี้ แฟนบอลไม่พอใจอย่างมาก คือคุณเป็นเจ้าของทีม ทำไมคุณกั๊กเงินเอาไว้เข้าบริษัทอย่างเดียว แทนที่จะเอามายกระดับทีมให้แข็งแกร่งขึ้น แล้วพอราฟาย้ายออกไป คิดหรือว่าจะได้กุนซือระดับนี้มาอีก
ซึ่งก็เป็นไปอย่างที่แฟนๆนิวคาสเซิลคิด คนที่เข้ามาสานงานต่อคือ สตีฟ บรูซ เหตุผลคือ "ราคาถูก" เพราะบรูซมีค่าจ้าง 1 ล้านปอนด์ต่อปี ถูกที่สุดในบรรดาทีมพรีเมียร์ลีกด้วยกัน และก็อย่างที่ทุกคนรู้กัน ฝีมือก็แปรผันตามราคานั่นล่ะ
1
ดังนั้น แฟนนิวคาสเซิลจึงรู้สึกกลับตัวไม่ได้ จะไปก็ไม่ถึง คือแอชลีย์ก็ไม่ยอมขายซะที แต่จะให้เกลียดทีมก็ไม่ได้ ก็เลยต้องอยู่กันไปแบบครึ่งๆกลางๆแบบนี้ อยู่แบบไม่มีหวังที่จะประสบความสำเร็จ
ในยุคเซอร์จอห์น ฮอลล์ นิวคาสเซิลทะเยอทะยานถึงขนาดคิดจะเซ็นสัญญากับโรแบร์โต บาจโจ้มาแล้ว แต่พอเป็นในยุคนี้ ความทะเยอทะยานแบบนั้นของเจ้าของทีมอยู่ที่ไหน หรือมันไม่เคยมี
ดังนั้นความรู้สึกของแฟนๆนิวคาสเซิลทั่วโลก เมื่อมีข่าวว่ากลุ่มทุนจากซาอุดิอาระเบียจะเข้ามาซื้อทีม จึงรอลุ้นที่สุด ว่าขอให้มันเกิดขึ้นซะที คือจะให้อยู่กันไปแบบนี้ตลอดกาล มันก็ไม่ไหว
1
แฟนบอลเชียร์ทีมก็อยากให้ทีมประสบความสำเร็จ จะให้พอใจแค่หนีตายทุกๆปี มันทำไม่ได้หรอก
สถานการณ์ตอนนี้ กลุ่มทุนจากซาอุฯ ที่ชื่อ PIF (Public Investment Fund of Saudi Arabia) กำลังเดินหน้าซื้อนิวคาสเซิลอย่างจริงจัง คือเรื่องเงินไม่มีปัญหา แอชลีย์ เรียกเท่าไหร่ก็จ่ายได้เท่านั้น
กลุ่มทุนนี้ มีเงิน 320,000 ล้านดอลลาร์ เป็นกลุ่มทุนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก พวกเขาเอาเงินจากรัฐฯ ไปลงทุนในธุรกิจของประเทศต่างๆ เพื่อทำกำไร คล้ายๆกับ เทมาเส็กของสิงคโปร์ หรือ 1MDB ของมาเลเซีย
2
PIF เอาเงินทุนไปซื้อหุ้นของธุรกิจต่างๆเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว อย่างเช่น บริษัทเหล็กปอสโก้ ที่เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลโปฮัง สตีลเลอร์ ในเกาหลีใต้ ก็ถูก PIF ซื้อหุ้นไป 38%
3
แปลง่ายๆว่า ถ้าการเทกโอเวอร์เสร็จสมบูรณ์ นิวคาสเซิลจะกลายเป็นสโมสรที่รวยที่สุดในโลก รวยยิ่งกว่าปารีส แซงต์ แชร์กแมง และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้เสียอีก พวกเขาจะมีเงินทุนมหาศาลในมือ
คือแน่นอน กฎไฟนอลแฟร์เพลย์ (FFP) ยังมี แต่อย่าลืมว่ากฎ FFP ไม่ได้ครอบคลุม ตัวที่ย้ายด้วยกฎบอสแมนนี่ สมมตินักเตะหมดสัญญากับทีมเดิม ปกติรับอยู่ที่ 150,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ทีนี้เจ้าของนิวคาสเซิลก็สามารถประกาศได้เลยว่า ถ้าย้ายมาอยู่กับเรา เราให้ 5 แสนปอนด์ ถามว่า คุณไม่อยากมาอยู่หรอ ได้ทั้งเงิน และอาจเป็นจุดเริ่มต้นกับอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของนิวคาสเซิลด้วยนะ
และกฎ FFP ก็ไม่ได้ครอบคลุมค่าจ้างผู้จัดการทีมด้วย ดังนั้นผู้จัดการทีมระดับโลกคนไหนบอกมาเลย เดี๋ยวสโมสรจ่ายให้ ไม่จำเป็นต้องทนใช้สตีฟ บรูซอยู่แบบนี้
2
แฟนๆนิวคาสเซิลตอนนี้จึงรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะไม่ใช่แค่เทกโอเวอร์ เอาแอชลีย์ออกไปให้พ้นเท่านั้น แต่คนที่เข้ามาแทน คือองค์กรที่รวยจริง ไม่ใช่ของเก๊ ไก่กา เศรษฐีท้องถิ่น แต่เป็นกลุ่มทุนที่รวยที่สุดในโลก มันคือยกระดับไปอีกขั้นเลย
1
แล้วปัญหาตอนนี้คืออะไร ทำไมการซื้อขายไม่จบเสียที จะว่าไปมันก็ควรตกลงกันได้ง่ายๆนี่นา ล่าสุดแอชลีย์เรียกไป 300 ล้านปอนด์ ซึ่ง PIF พร้อมจ่ายได้ทันที
สิ่งที่ทำให้ติดขัดตอนนี้ สาเหตุเพราะประธานของ PIF คือ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฏราชกุมารของซาอุดิอาระเบีย ซึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าชายซัลมาน ตกเป็นข่าวว่า สั่งฆ่าจามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวของนสพ.วอชิงตัน โพสต์ ที่ชอบวิจารณ์ราชสำนักซาอุฯ อยู่เสมอ
คู่หมั้นของจามาล คาช็อกกี ออกมาเตือนพรีเมียร์ลีกว่า ระวังบิน ซัลมาน จะใช้พรีเมียร์ลีกเป็นเครื่องฟอกตัว สร้างภาพลักษณ์ตัวเองให้ดีขึ้น และถ้าพรีเมียร์ลีกยอมให้เทกโอเวอร์ได้ ก็เหมือนเป็นการสนับสนุนฆาตกรทางอ้อม
เช่นเดียวกับ แอมเนสตี้ ที่ส่งจดหมายเตือนพรีเมียร์ลีกว่า พรีเมียร์ลีกคือลีกฟุตบอลอันดับหนึ่งของโลก ที่ผู้คนทุกเพศทุกวัย สามารถเข้าถึงฟุตบอลได้ แต่ซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นว่าเล่น ผู้หญิงที่ซาอุฯไม่มีสิทธิมีเสียงใดๆ แม้แต่ฟุตบอลในสนามยังเข้าดูไม่ได้ ดังนั้นบริษัทเงินทุนจากซาอุฯ สมควรหรือไม่ ที่จะมีความผูกพันกับฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอย่างเต็มตัวขนาดนี้
ส่วนอีกประเด็นเล็กๆคือ บีอินสปอร์ต จากกาตาร์ ออกมาโวยว่าซาอุฯ เป็นประเทศที่ละเมิดลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเป็นว่าเล่น และกลัวว่าซาอุฯเข้ามาอยู่ในวงจรพรีเมียร์ลีกเต็มตัว อาจทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์ในเขตอาหรับยิ่งรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเหตุผลต่างๆ จะ "เบา" เกินไปที่จะหยุดยั้งการซื้อขายครั้งนี้ แม้แต่รัฐบาลของสหราชอาณาจักรก็ยังยอมรับว่า คงไม่สามารถไปก้าวก่ายอะไรได้
มีรายงานว่า ดีลครั้งนี้จะจบแค่ไม่กี่วัน ซึ่งถ้าการซื้อขายสิ้นสุดเมื่อไหร่ นิวคาสเซิลจะแปลงร่าง กลายเป็นมหาเศรษฐีในพริบตา
เวลานี้ที่อังกฤษ ก็มีแฟนๆหลายสโมสรค่อนแขวะว่า นิวคาสเซิล ตกถังข้าวสาร รวยทางลัด วิจารณ์ต่างๆนานา
แต่ตอนนี้ แฟนนิวคาสเซิลไม่สนใจหรอก ใครจะว่ายังไงก็ช่าง จะเป็นสาลิกาอาหรับก็ไม่แคร์
อย่าลืมว่า นิวคาสเซิลที่พวกเขาเชียร์ ไม่ได้แชมป์อะไรเลยในประเทศ ทั้งลีกสูงสุด, เอฟเอคัพ หรือ ลีกคัพ มา 65 ปี ติดต่อกันแล้วนะ ตัวเลข 65 ปีคือช่วงชีวิตของคนหนึ่งคน ที่เกิดมาแล้วตายไป โดยไม่เคยเห็นทีมที่ตัวเองรักได้แชมป์อะไรสักถ้วยเลย
ดังนั้น ถามหน่อยว่า พวกเขาผิดตรงไหน ก็แค่อยากมีความสุขกับทีมที่ตัวเองรักบ้างเสียที
#Newcastle
โฆษณา