23 เม.ย. 2020 เวลา 15:18 • ธุรกิจ
การมอบอำนาจในนามของนิติบุคคล จะต้องดูหนังสือรับรองนิติบุคคลด้วยว่า จะต้องมีตรานิติบุคคลประทับในเอกสารด้วยหรือไม่ (บางนิติบุคคลไม่ได้จดทะเบียนตราประทับ)
ถ้าในหนังสือรับรองมีการระบุว่าเมื่อผู้แทนนิติบุคคลลงนามและต้องประทับตราด้วย ก็จะต้องประทับตราในหนังสือมอบอำนาจด้วยเช่นกัน
ถ้าลืม!!!!! ประทับตรา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง บางครั้งอาจเกิดจากการแก้ไขเอกสารหลายรอบ เอกสารรีบมาก เพราะพี่รุ่งก็เคยลืมเหมือนกัน
วิธีแก้คือก่อนออกเอกสารต้องช่วยกันตรวจ 2 คน ตรวจทั้งคำผิด ตรวจตราประทับ ตรวจจำนวนอากรว่าปิดครบหรือไม่
แต่ถ้าลืมแล้วจะต้องมีข้อต่อสู้อย่างไร (ตอนนึกออกว่าลืม……ใจมันแว๊บ เป็นกันมั๊ย)
วันนี้เอาคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องกับตราประทับมารวมไว้ให้เพื่อน ๆ เผื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้
1.กรณีไม่ประทับตราเลย
คำพิพากษาฎีกาที่ 777/2496
กรรมการบริษัทจำกัดลงชื่อในหนังสือโดยไม่มีตราของบริษัทประทับ ผิดข้อบังคับของบริษัท แต่บริษัทได้เชิดกรรมการผู้นั้นออกเป็นตัวแทนตลอดมาตั้งแต่แรก และต่อจากนั้นไปอีก การกระทำของกรรมการผู้นั้นย่อมผูกพันบริษัทได้
2. ประทับตราบริษัท แต่มีขนาดเล็กกว่าที่ได้จดทะเบียนไว้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2885/2532
ตราสำคัญของบริษัทโจทก์ที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมีรูปร่างลักษณะเหมือนกับตราสำคัญซึ่งได้จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท แม้จะมีขนาดเล็กกว่า
แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามไว้ และเป็นตราที่โจทก์ใช้ในกิจการทั่ว ๆ ไปเป็นประจำทั้งกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ยืนยันว่าเป็นผู้มอบอำนาจให้ฟ้องคดี การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์จึงชอบแล้ว
3. หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีทำไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ สามารถแก้ไขข้อบกพร่องโดยส่งหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่ให้ถูกต้องได้
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2463/2517
บริษัทโจทก์มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีแทน โดย ส.กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ซึ่งมีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท เป็นผู้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจตามภาพถ่ายท้ายฟ้องซึ่งไม่ได้ประทับตราบริษัทก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์
ส. กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้สัตยาบันการที่ บ. ฟ้องคดีแทนบริษัทโจทก์พร้อมทั้งขอส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจอันมีตราของบริษัทประทับถูกต้องและชี้แจงประกอบด้วย ย่อมเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันในการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งห้ามไว้แต่ประการใด
เมื่อพิจารณามาตรา 47 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบด้วยแล้ว ศาลชอบที่จะพึงรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวนี้ได้ บ. จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
จากตัวอย่าคดีสรุปได้คือ ถือว่าเป็นการเชิดกรรมการกระทำการแทน แต่ถ้ามอบอำนาจให้ฟ้องคดี และมีการส่งมอบอำนาจใหม่ก็ถือว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การมอบอำนาจนั้น
ทางที่ดี ไม่ลืมประทับตราจะเป็นการดีที่สุด จะได้ไม่ต้องเสียเวลา เสียเงิน และมาลุ้นกันให้เหนื่อยอีก เข้าใจมั๊ยว่าลืมแล้ว ใจมันแว๊บ!!!!!
#กฎหมายเพื่อผู้ประกอบการ
#ตราประทับนิติบุคคล
#ลืมประทับตราบริษัท
ติดตามกฎหมายเพื่อผู้ประกอบการได้ที่
Reference:
คำพิพากษาฎีกาที่ 777/2496
คำพิพากษาฎีกาที่ 2885/2532
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2463/2517
โฆษณา