ในงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ยุคเก่ามีเอ่ยถึง อีเธอร์ (aether) อยู่บ่อยๆ ประหนึ่งว่าเป็นพลังงานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่จริง มีกระทั่งชั้นบรรยากาศอีเธอร์ที่ห่อหุ้มโลก และสนามแม่เหล็กอีเธอร์ ที่พวกนักวิทยาศาสตร์ใช้เป็นพลังสร้างสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์ต่างๆ รวมไปถึงการใช้พลังงานอีเธอร์อธิบายความสามารถของผู้มีพลังเหนือธรรมชาติ... และผิดธรรมชาติ
.
ขนาดที่อเล็กเซียถึงกับสรุปว่า "สุดท้ายทุกอย่างก็เกี่ยวข้องกับอีเธอร์"
.
แต่เดี๋ยวก่อน ทฤษฎีเรื่องอีเธอร์นี้มีอยู่จริงและเป็นความเชื่อที่เฟื่องฟูอยู่ในสมัยปลายยุควิกตอเรีย โดยมีการตั้งทฤษฎีว่าแสงเดินทางผ่านตัวกลางซึ่งเรียกว่า อีเธอร์
เรื่องอีเธอร์นี้มีความเชื่อกันมาตั้งแต่สมัยกรีก โดยบอกว่าธรรมชาติมีองค์ประกอบหลัก 5 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และ อีเธอร์ โดยอีเธอร์นั้นเป็นองค์ประกอบที่กระจ่างใส อยู่บนฟากฟ้าดาราสวรรค์ ไร้สี กลิ่น รส ไม่หนาวไม่ร้อน ไม่เปียกและไม่แห้ง เป็นองค์ประกอบแรกสุดของจักรวาล ทั้งเพลโต และอริสโตเติล ต่างก็สนับสนุนแนวคิดนี้
.
อีเธอร์ยังป๊อบปูลาร์เรื่อยมาจนถึงยุคกลาง โดยเฉพาะในหมู่นักเล่นแร่แปรธาตุ (นิวตันเองก็ด้วย) แต่พอวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า ความคิดเรื่องอีเธอร์ในฐานะองค์ธาตุก็ถูกลบล้างไป
.
ในศตวรรษที่ 18 มีการศึกษาการเคลื่อนไหวของแสง และนักวิทยาศาสตร์คิดว่าแสงจำเป็นต้องมีสื่อกลางสำหรับเดินทางผ่าน เหมือนเสียงที่เดินทางผ่านอากาศ (ไม่งั้นแสงอาทิตย์จะมาถึงโลกยังไง) จึงได้ยืมชื่อธาตุที่ห้าของกรีกมาตั้งชื่อตัวกลางนั้นว่า อีเธอร์
.
ทฤษฎีอีเธอร์เป็นที่ยอมรับกันแพร่หลาย ประมาณว่ามีอะไรไม่เข้าใจก็โยนว่าเพราะอีเธอร์แหละผิด จนนักฟิสิกส์ในโลกต่างผยองว่า จักรวาลนี้ไม่มีอะไรให้ศึกษาแล้ว เหลือแค่ต้องหาอุปรกณ์วัดคุณสมบัติความยืดหยุ่นของอีเธอร์ให้ละเอียดถี่ถ้วนก็พอ ความคิดนี้ไม่เว้นแม้นักฟิสิกส์ชั้นนำแห่งยุคอย่าง Maxwell (ผู้คิดทฤษฎีว่าด้วยการแผ่รังสีของแม่เหล็กไฟฟ้า) และ Lord Kelvin (ผู้พัฒนาระบบการวัดอุณหภูมิสัมบูรณ์)
.
แต่ในปี 1887 Albert Michelson (ด้วยความช่วยเหลือของ Edward Morley) ทำการทดลองเรื่องแสงหักเห โดยใช้ทฤษฎีอีเธอร์เป็นพื้นฐาน (คือเชื่อมั่นมันมาก) แต่ปรากฏว่าสุดท้ายต้องเกาหัวเมื่อพบว่า ผลมันผิดพลาดไปหมด นั่นละจ้าถึงค่อยคิดได้ว่า แสงไม่ได้เดินทางผ่านอีเธอร์ และไม่แน่ เอกภพนี้อาจจะไม่มีอีเธอร์ด้วย!
.
เสียงในวงการวิทยาศาสตร์แตกเป็นสองฝั่ง ทั้งเชื่อ และไม่เชื่อ จนกระทั่งในปี 1906 ไอน์สไตน์มาฟันธงให้ด้วยทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ และ Michelson ก็ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1907 อีเธอร์จึงตกกระป๋องนับแต่นั้นในวงการวิทยาศาสตร์ เพราะไม่ว่าจะมีจริงหรือไม่ ก็ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป
.
อนึ่ง อีเธอร์ (aether) ในที่นี้ เป็นคนละอย่างกับสารละลายอีเทอร์ (ether) ซึ่งใช้เป็นยาสลบ และเป็นสารเคมีติดไฟ