24 เม.ย. 2020 เวลา 05:05 • การศึกษา
พระสูตรเรื่อง : "ลมเวรัมภา"
ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณแสบเผ็ดหยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่น ยิ่งกว่า.
ภิกษุ ท. ! ลมชื่อว่า เวรัมภา๒ พัดอยู่แต่ในอากาศเบื้องบน. นกตัวใดบินเหินลมขึ้นไปถึงที่นั้น ลมเวรัมภาก็ซัดเอานกตัวนั้นให้ลอยปลิวไป. เมื่อนกถูกลมเวรัมภาซัดเอาแล้ว เท้าของมันขาดไปทางหนึ่ง ปีกของมันขาดไปทางหนึ่ง ศีรษะของมันขาดไปทางหนึ่ง ตัวของมันขาดไปทางหนึ่ง.
2
ภิกษุ ท. ! ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ก็เหมือนกัน : เธอถูกลาภสักการะและเสียงเยินยอครอบงำเอาแล้ว มีจิตติดแน่นอยู่ในสิ่งนั้น ๆ, ในเวลาเช้าครองจีวร ถือบาตรเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน หรือในเมือง, ไม่รักษากาย, ไม่รักษาวาจา, ไม่รักษาจิต, ไม่กำหนดสติ, ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย ;ภิกษุนั้น เห็นมาตุคามในที่นั้น ๆ ที่นุ่งชั่วห่มชั่ว, ครั้นเห็นมาตุคามผู้นุ่งชั่วห่มชั่วแล้ว ความกำหนัดก็เสียบแทงจิตของเธอ. เธอนั้น ครั้นจิตถูกความกำหนัดเสียบแทงแล้ว ก็บอกคืนสิกขา (สึก) กลับคืนไปสู่เพศต่ำแห่งคฤหัสถ์. ภิกษุพวกหนึ่ง เอาจีวรของเธอไป ภิกษุพวกหนึ่ง เอาบาตรของเธอไป ภิกษุพวกหนึ่ง เอาผ้านิสีทนะของเธอไป ภิกษุพวกหนึ่ง เอากล่องเข็มของเธอไป เช่นเดียวกับอวัยวะของนก ซึ่งถูกลมเวรัมภาซัดเสีย กระจัดกระจายแล้ว ฉะนั้น.
ภิกษุ ท. ! ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นอันตรายที่ทารุณแสบเผ็ดหยาบคาย ต่อการบรรลุพระนิพพานอันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ด้วยอาการอย่างนี้. เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ดังนี้ว่า “เราทั้งหลายจักไม่เยื่อใยในลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น. อนึ่ง ลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่มาห่อหุ้มอยู่ที่จิตของเรา”. ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้ แล.
๑. บาลี พระพุทธภาษิต นิทาน. สํ. ๑๖/๒๗๑/๕๕๕-๖.
๒. ลมเวรัมภา น่าจะได้แก่ลมที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า ลมกรดนั่นเอง. ตามอรรถกถากล่าวว่า ถ้ามีคนขึ้นไปบนท้องฟ้า ขนาดที่สูงพอมองเห็นทวีปทั้งสี่ เล็กประมาณเท่าใบบัว ระยะสูงประมาณนี้แหละ เป็นระยะที่ลมเวรัมภาพัด. ยังมีนกชนิดหนึ่งที่บินไปถึงระยะสูงขนาดนั้น เรียกชื่อว่า “ วาตสกุณ-นกชอบ บินเหินลม” และชอบเที่ยวร้องในเวลาฝนตกแล้วใหม่ ๆ แล้วบินไปในท้องฟ้าสูงขนาดมีลมเวรัมภาพัด จึงถูกซัดเอาเท้า ปีก ศีรษะ และตัว ขาดไปคนละทิศละทาง.
อ้างอิงจาก : ชุดจากพระโอษฐ์ ๕ เล่ม เล่มที่ ๑
ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์
หน้าที่ ๖๓ - ๖๔
พุทธวจน (ธรรมะจากพระโอษฐ์)
เว็บไซต์ข้อมูลเพิ่มเติม : http://watnapp.com
ศึกษาดูพระสูตรเพิ่มเติม : https://etipitaka.com/search/
ฟังเสียงธรรมะพระสูตรเพิ่มเติม : https://m.soundcloud.com/search?q=พุทธวจน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา