24 เม.ย. 2020 เวลา 16:49 • สุขภาพ
ความหวังของพวกเรากับการพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรค COVID-19
BBC.thai
โรคโควิด-19 ได้ระบาดมาร่วมนับ 4 เดือนแล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนที่ผ่านการทดสอบ แต่มียาบางชนิดที่สามารถใช้บรรเทาอาการนี้ได้
การสร้างภูมิคุ้มกันโดยวัคซีน คืออะไร?
คือ การที่เราแนะนำให้ร่างกายได้รู้จักกับเชื้อโรคหรือบางส่วนของเชื้อโรค โดยที่ไม่ทำให้เกิดอันตราย เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถเรียนรู้วิธีต่อสู้ป้องกันตนเอง
โดยเมื่อถึงคราวได้รับเชื้อหรือติดเชื้อนั้นเข้าจริง ๆ โปรตีนที่เรียกว่าแอนติเจนในวัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีหรือสารที่สามารถต้านทานเชื้อขึ้นมานั่นเอง
โดยเทคนิคที่นักวิจัยได้ใช้พัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 มี 5 แบบ คือ
แบบที่ 1
เป็นการทำให้เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิดอ่อนแรงลง โดยจะเอาเชื้อจากผู้ป่วยแล้วนำมาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการก่อนใช้เป็นวัคซีน
แบบที่ 2
นักวิจัยได้ ใช้ไวรัสชนิดที่ไม่ก่อโรคในมนุษย์มาเป็นพาหะ เพื่อนำแอนติเจนหรือโปรตีนที่ก่อโรคของไวรัสก่อโรคโควิดเข้าสู่ร่างกาย
แบบที่ 3
นักวิจัยได้ผลิตแอนติเจนของไวรัสก่อโรคโควิดมาใหม่ โดยแทรกรหัสพันธุกรรมของไวรัสเฉพาะส่วนที่สร้างแอนติเจนได้ เข้าไปในเซลล์ของแบคทีเรียหรือเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพื่อให้เซลล์เหล่านี้ผลิตแอนติเจนชนิดเดียวกับไวรัสออกมา ซึ่งสามารถจะนำไปใช้เป็นวัคซีนได้
แบบที่ 4
วัคซีนแบบดีเอ็นเอ โดยจะใช้การฉีดดีเอ็นเอของไวรัสก่อโรคโควิดเฉพาะส่วนที่สร้างแอนติเจนก่อโรค เข้าไปในตัวของผู้รับวัคซีนโดยตรง เพื่อให้สร้างแอนติเจนของไวรัสขึ้นในร่างกาย และกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีที่จำเพาะกับบุคคลผู้นั้นได้อย่างรวดเร็ว
แบบที่ 5
วัคซีนอาร์เอ็นเอ โดยจะใช้สารพันธุกรรมของไวรัสในอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า เมสเซนเจอร์อาร์เอ็นเอ (mRNA) ฉีดเข้าไปในร่างกายโดยตรง ซึ่งจะทำให้เกิดผลแบบเดียวกับวัคซีนดีเอ็นเอ แต่จะมีความปลอดภัยมากกว่า เพราะไม่มีความเสี่ยงที่ดีเอ็นเอของไวรัสจะเข้าไปรวมตัวกับดีเอ็นเอของมนุษย์
ปกติในการพัฒนาวัคซีนจะต้องผ่านการทดสอบขั้นต้นในห้องปฏิบัติการ ทดลองในสัตว์เสียก่อน จึงจะมาถึงขั้นการทดลองทางคลินิก (clinical trials) ซึ่งจะต้องใช้เวลาพอสมควร เพื่อความปลอดภัยอาจจะต้องใช้เวลานานหลายปี
แต่ก็ยังดีที่นักวิทยาศาสตร์ได้นำยาที่ใช้เป็นยาต้านไวรัสมาใช้ในการรักษาโรคโควิดได้ค่อนข้างดี เช่น
1. ยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งโปรตีนที่ช่วยให้ไวรัสซาร์สซีโอวีทูเพิ่มจำนวนขึ้นในปอด ทั้งเป็นตัวยาที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อต้านทานไวรัสโคโรนาและไวรัสอีโบลาโดยตรง มีการทดลองใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในบางประเทศแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้ผลดีและมีความปลอดภัย
2. ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) โลปินาเวียร์ (Lopinavir) และริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ซึ่งดูเหมือนจะใช้ยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรคโควิดในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลองอย่างหนูและลิงได้ผลดี อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองเบื้องต้นกับคนไข้ที่มีอาการหนัก ดูเหมือนว่าจะไม่สู้มีประสิทธิภาพ
3. ยาต้านไวรัส "อีไอดีดี-ทู-เอต-ซีโร-วัน" (EIDD-2801) ยารักษาไข้หวัดใหญ่อาวีแกน (Avigan) หรือฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่ใช้ได้ในปัจจุบัน
ส่วนการสกัดแอนติบอดีจากน้ำเลือดหรือพลาสมาของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 ก็ยังสามารถใช้ในการรักษาได้ เป็นอีกความหวังหนึ่งในการพัฒนายารักษาด้วยวิธีรับภูมิคุ้มกันที่ได้จากผู้อื่นมาโดยตรง โดยแอนติบอดีในน้ำเลือดที่ผ่านการทำให้บริสุทธิ์ สามารถใช้ได้ผลในห้องปฏิบัติการ และดูเหมือนว่าจะมีความปลอดภัยในการใช้กับมนุษย์ด้วย
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปได้ในไม่ช้านี้ และจะได้วัคซีนที่ปลอดภัยมาใช้ด้วย สู้ไปด้วยกัน และดูแลรักษาสุขภาพด้วยนะคะทุกคน ❤
โฆษณา