27 เม.ย. 2020 เวลา 11:47 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Filter Bubble : ฟองตัวกรองแยกโลก
ถ้ามีคนบอกว่า คุณกำลังถูกขังในโลกส่วนตัว คุณจะเชื่อหรือไม่ ?
ในทุกวันนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่าพวกเราทุกคนต่างพึ่งพาอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก เป็นไปไม่ได้เลยในทุกวันนี้ที่จะหันไปแล้วไม่เจอคนก้มหน้าเล่นเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไลน์ หรืออินตาแกรม เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเลี่ยงจากยูทูปหรือกูเกิ้ล จากความสะดวกสบายต่อการหาข้อมูลและการสื่อสาร
แต่ความสะดวกสบายนั้น ก็มีสิ่งที่ต้องแลกมา และสิ่งหนึ่งที่เราต้องแลก คือการที่เราอาจจะไม่มีวันได้เห็นโลกในอีกมุมหนึ่งเลย
นี่คือ Filter Bubble เป็นคำศัพท์ที่คิดขึ้นมาโดย Eli Pariser ในปี 2010 เพื่อบรรยายถึงสถานการณ์ของโลกอินเทอร์เน็ตปัจจุบัน หากจะให้นิยามสั้น ๆ Filter Bubble คือการที่ประสบการณ์ในการเข้าถึงข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตของแต่ละคนจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงแม้จะเป็นหัวข้อเดียวกัน
แต่ทำไมล่ะ ? เหตุผลก็คือ ทุกบริการบนอินเทอร์เน็ตต่างต้องการจะให้ผู้ใช้บริการและลูกค้าใช้บริการของพวกเขานาน ๆ ทำให้พวกเขาสร้างอัลกอริทึมที่จะช่วยจัดสรรข้อมูลที่ผู้ใช้บริการต้องการจะหา
การทำงานของอัลกอริทึมที่ว่าพึ่งพาระบบ Machine Learning ซึ่งหลักการเชิงลึกค่อนข้างซับซ้อน แต่หลักการเบื้องต้นคือตัวอัลกอริทึมรับข้อมูลสิ่งที่ผู้ใช้ป้อนเข้ามา เทียบกับเกณฑ์ประเมิน (เช่น ระยะเวลาในการส่องคลิป ยอดไลค์ หรืออื่น ๆ) แล้วทำการปรับ “สมอง” ของมันเพื่อให้มันจำแนกข้อมูลที่ผู้ใช้น่าจะชอบ (ตามเกณฑ์ประเมิน) มากขึ้น แล้วนำเสนอแก่ผู้ใช้ แล้วก็วนลูป รับ เทียบ ปรับ ไปเรื่อย ๆ (จนกว่าผู้ใช้จะหยุดใช้ คนสร้างจะปลดระวางมันหรือเปลี่ยนวิธีเรียนหรือเกณฑ์) ซึ่งความสามารถของ Machine Learning ในการแบ่งประเภทข้อมูลนี้มีประสิทธิภาพมาก จนมีการนำไปใช้ในหลากหลายวงการที่พึ่งพาการจำแนกข้อมูล รวมถึงการเลือกข้อมูลมานำเสนอผู้ใช้บริการ Social Network, ซื้อขายออนไลน์, และ Search Engine
แต่ทว่า ด้วยอัลกอริทึมเดียวกันนี้ ทำให้กลายเป็นว่า ผู้ใช้บริการเหล่านั้นจะเห็นแค่ข้อมูลที่ตรงกับความ “เชื่อ” และความ “ชอบ” ส่วนตัว โดยมีโอกาสน้อยหรือไม่มีโอกาสเห็นข้อมูลในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ตนเชื่อเลย
สิ่งนี้ทำให้ผู้คนบนอินเทอร์เน็ตต่างจับกลุ่มตามความเชื่อตัวเอง โดยไม่ได้เปิดโอกาสไปเจอกับกลุ่มคนที่มีความเชื่อที่ต่างจากเรามาก และเมื่อทุกคนรอบตัวเราเหมือนจะคิดอะไรแบบเดียว เห็นอะไรเหมือนกันเรา และเราก็เชื่อว่ามันคือความจริงจากการลำเอียงที่เรียกว่า Confirmation Bias (เราจะลำเอียงไปเชื่อข้อมูลที่ตรงกับความเชื่อเรามากที่สุด) แม้มันอาจจะไม่ใกล้เคียงเลยก็ตาม
ในยุคสมัยที่ข้อมูลคืออาวุธ ความรู้คือพลัง Filter Bubble สามารถทำให้อาวุธนั้นถูกปิดกัน และพลังที่ว่าถูกบิดเบือนไม่แพ้ข่าวลวงหรือการป้ายสี และแม้จะมีความพยายามจะเตือนและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่ว่าสุดท้าย การที่จะละทิ้งความไม่รู้ และออกจาก “กรง” ของตัวเองได้ คุณก็ต้องเป็นคนลุกขึ้นมาเจาะฟองของตัวเอง
คุณแน่ใจหรือว่าคุณไม่ได้ถูกขังในโลกส่วนตัว ?
อ้างอิงจาก : หนังสือ The Filter Bubble โดย Eli Pariser
เรียบเรียงโดย : bbsaver
#STORY
โฆษณา