25 เม.ย. 2020 เวลา 09:46 • กีฬา
ซื้อ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด คุ้มหรือไม่?
ข่าว Takeover สโมสรนิวคาสเซิล ด้วยเม็ดเงินกว่า 300 ล้านปอนด์ ของกลุ่มทุนจากตะวันออกกลาง นับว่าเป็นหนึ่งในข่าวที่ร้อนแรงในวงการฟุตบอลในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้ผมจะพาทุกคนมารู้จักสโมสรนิวคาสเซิลและมาดูกันซิว่า ดีลนี้คุ้มหรือไม่คุ้ม ในมุมมองของ On the Pitch กันครับ
--- ทีมสาลิกาดงคนอีสาน ---
ในปี 1892 เมืองนิวคาสเซิล อัพพอน ไทน์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอังกฤษ มีการรวมตัวกันของทีมฟุตบอลสองทีม คือ นิวคาสเซิลอีสต์เอนด์ กับ นิวคาสเซิลเวสต์เอนด์ ภายใต้แบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า “นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด” หรือ “เดอะ แม็กพาย” แฟนบอลชาวไทยมักจะเรียกว่า “สาลิกาดง”
ปัจจุบันเมืองนิวคาสเซิลฯ และพื้นที่ใกล้เคียง มีประชากรมากกว่า 800,000 คน นับเป็นอันดับ 7 ของเกาะอังกฤษ ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติด 1 ใน 10 ของประเทศ
ทำให้นิวคาลเซิลถือเป็นเมืองใหญ่ที่มีทีมฟุตบอลเพียงทีมเดียว ต่างกับลิเวอร์พูลหรือแมนเชสเตอร์ ทีมสาลิกาดงจึงเปรียบเสมือนตัวแทนและความภาคภูมิใจของชาวเมืองก็ว่าได้
สโมสรมีสนามเซนต์ เจมส์ พาร์ค (St. James’ Park) เป็นสังเวียนลับแข้งตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร (กว่า 128 ปี) ในทุกสัปดาห์แฟนบอลกว่า 50,000 คน พร้อมใจมาเชียร์ทีมรักจนสนามแทบแตก ด้วยค่าเฉลี่ย 99.8% ของความจุสนามในฤดูกาล 2018-2019 นับเป็นอันดับสามของพรีเมียร์ลีค
เดอะ แม็กพาย เคยประสบความสำเร็จเป็นแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษ 4 สมัย แชมป์ FA Cup 6 สมัย และลีกคัพ 1 สมัย มีนักเตะชื่อดังร่วมทีมมากมาย อย่างเช่น เควิน คีแกน ปีเตอร์ วิธ (อดีดผจก.ทีมชาติไทย) อลัน เชียเรอร์ แอนดี้ โคล เชย์ กิฟเวน โนแบร์โต้ โซลาโน่
--- ใครคือเจ้าของนิวคาสเซิล ---
ปัจจุบันไมค์ แอชลี่ย์ บิลเลี่ยนแนร์ชาวอังกฤษ เจ้าของอาณาจักร Sport Direct ร้านขายสินค้ากีฬาที่มีสาขากว่า 600 สาขาทั่วโลก ได้ครอบครองหุ้น 80% ของสโมสรมาตั้งแต่กลางปี 2007 ด้วยการทุ่มทุนกว่า 131 ล้านปอนด์
สรุปผลงานของไมค์ แอชลี่ย์ ตั้งแต่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสโมสร
สโมสรตกชั้น 2 ครั้ง แต่สามารถขึ้นชั้นได้ในปีถัดมาทั้ง 2 ครั้ง
จ้างเดนนิส ไวส์ อดีตกัปตันทีมเชลซี ผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหาร เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการด้านกีฬา
ทะเลาะกับเควิน คีแกน ผู้จัดการทีมและตำนานนักเตะของทีม จนคีแกน ขอลาออก
ตั้งแต่ฤดูกาล 2007 ถึงปัจจุบัน (13 ฤดูกาล) สโมสรลงทุนซื้อนักเตะ 496.73 ล้านปอนด์ ขายนักเตะได้เงิน 393.52 ล้านปอนด์ นับเป็นการลงทุนซื้อนักเตะสุทธิ 103.21 ล้านปอนด์ เฉลี่ยสโมสรลงทุนปีละ 7.94 ล้านปอนด์
เปลี่ยนชื่อสนามเซนต์ เจมส์ พาร์ค เป็น “สปอร์ต ไดเร็ก อารีน่า” ชื่อบริษัทตนเอง โดยไม่เสียเงินสักปอนด์
ตั้งแต่ปี 2009 - 2017 โฆษณาแบรนด์ Sport Direct ในสนามโดยไม่เสียเงินสักปอนด์ ส่วนปี 2018 ไม่เปิดเผยตัวเลข
ให้สโมสรนิวคาสเซิล ซื้อสินค้าจากสปอร์ต ไดเร็ก ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2018 มูลค่ารวมประมาณ 10 ล้านปอนด์
ซื้อนักเตะในราคาเกิน 15 ล้านปอนด์ รวม 6 คน และขายนักเตะได้เกิน 15 ล้านปอนด์ รวม 6 คน
ตั้งแต่ปี 2007 หากไม่รวมฤดูกาล 2019-2020 นิวคาสเซิลได้แข่งขันในลีคสูงสุด 10 ฤดูกาล จบฤดูกาลด้วยอันดับ 10 ขึ้นไป ทั้งหมด 3 ฤดูกาล (อันดับ 5 หนึ่งครั้ง อันดับ 10 สองครั้ง)
ตอนเข้ามา takeover ได้ชำระคืนเงินกู้ให้สโมสร โดยให้สโมสรกู้เงินตนเองแบบไม่คิดดอกเบี้ยไปชำระหนี้
จนถึงปี 2018 ไมค์ให้สโมสรกู้เงิน 144 ล้านปอนด์ เป็นเงินกู้ระยะยาว 111 ล้านปอนด์ และเงินกู้ระยะสั้น 33 ล้านปอนด์ โดยเงินกู้ทั้งหมดไม่คิดดอกเบี้ย
ปีแรกที่ไมค์ แอชลี่ย์ ถือครองทีม สโมสรมีรายได้เท่ากับ 98.83 ล้านปอนด์ ในปี 2018 เท่ากับ 178.50 ล้านปอนด์ รายได้เติบโต 80.61% ภายในเวลา 11 ปี
ตลอด 13 ปี ที่ไมค์ ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้านายใหญ่แห่งถิ่นเซนต์ เจมส์ พาร์ค ทิศทางการบริหารทีมของเขาดูจะไม่ส่งผลดีต่อผลงานในสนามของทีมเท่าไหร่นัก ทำให้เขาถูกโจมตีจากแฟนบอลมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้เองก่อนหน้านี้เขาจึงประกาศขายสโมสรมาแล้ว 3 ครั้ง และล้มเหลวทุกครั้ง แต่ในครั้งที่ 4 นี้ (ปี 2020) มีทีท่าว่าการขายทีมให้กับกลุ่มทุนจากตะวันออกกลางดูจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด
--- ใครคือคนที่เข้ามา takeover ---
กลุ่มทุนที่สนใจเข้ามาซื้อหุ้นในส่วนของไมค์ คือ Public Investment Fund (PIF) กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศซาอุดีอาระเบีย กองทุนนี้มีรัฐบาลของประเทศซาอุฯ เป็นเจ้าของ
มีมงกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นแม่ทัพ กองทุนมีสินทรัพย์มากกว่า 260,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท ถือเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 10 ของโลก
กองทุน PIF มีภารกิจในการนำเงินที่ได้จากรัฐบาลซาอุฯ ไปกระจายการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากการลงทุนทั่วทุกมุมโลก
ปัจจุบัน PIF ลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปิโตรเคมี ธนาคาร การแพทย์ โลจิสติกส์ อาหาร เหมืองแร่ การเกษตร สาธารณูปโภค เทคโนโลยี และอื่น ๆ เรียกได้ว่าลงทุนในแถบจะทุกอุตสาหกรรม
หากดีลในการ takeover นิวคาสเซิลในครั้งนี้สำเร็จ ด้วยมูลค่า 300 ล้านปอนด์ จะนับเป็นการเจียดเงินเพียง 0.11% ของสินทรัพย์ที่ PIF มีเท่านั้น นับว่าใช้เงินลงทุนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์ที่มี ฉะนั้น เรื่องเงินจึงไม่น่าจะมีปัญหา ต่อให้จ่ายซื้อแพงกว่านี้อีกสักหน่อยก็ทำได้ไม่ยาก
หากกสามารถการันตีว่ากองทุนฯ จะได้ถือหุ้นทีมนิวคาสเซิลแน่นอนและใช้ระยะเวลาในการปิดดีลรวดเร็ว การจ่ายแพงอีกสักเล็กน้อยจึงไม่ใช่ประเด็นที่แย่นัก แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่า คือ “ความคุ้มค่าในการลงทุน” ซื้อนิวคาสเซิล คุ้มหรือไม่?
--- คุ้มหรือไม่คุ้ม ---
เมื่อมองถึงความคุ้มค่า ก็ต้องถามว่าใครคุ้ม คนซื้อหรือคนขาย
ในมุมมองของไมค์ แอชลี่ย์ (คนขาย)
เขาใช้เงินลงทุนในการซื้อทีม 131 ล้านปอนด์ หักกับยอดเงิน takeover ที่เขาจะได้รับ 300 ล้านปอนด์ ไมค์จะฟันกำไร 169 ล้านปอนด์ เท่ากับว่าตลอด 13 ปี ที่เขาลงทุนในสโมสรนิวคาสเซิล เขาได้กำไรปีละประมาณ 13 ล้านปอนด์ (ไม่ได้เงินปันผลเลยตลอด 13 ปี)
แต่ช้าก่อน อย่าลืมว่า Sport Direct ได้รายได้จากการขายสินค้าให้สโมสรนิวคาสเซิล ประมาณ 10 ล้านปอนด์ อีกทั้งยังไม่ต้องเสียค่าโฆษณาแบรนด์ Sport Direct ในสนามที่มีแฟนบอลเข้าสนามไม่ต่ำกว่า 50,000 คน พร้อมถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ถึง 9 ปีเต็ม ในปีที่ 10 ก็ยังไม่เปิดเผยตัวเลข
เมื่อรวมผลประโยชน์ที่ไมค์ แอชลี่ย์ ได้ทั้งหมด ก็ไม่ใช่น้อย แถมยังได้กำไรที่เป็นเงินสดไปลงทุนต่ออีกก้อนนึง นี่ยังไม่รวมเงินได้หยุมหยิมสมัยที่เขานั่งเป็นผู้บริหารทีมอีก ดังนั้น ในมุมมองของ On the Pitch ผลประโยชน์ที่ได้ก็ดูคุ้มค่าไม่ใช่น้อย
สำหรับในมุมของ Public Investment Fund (ผู้ซื้อ)
การลงทุนกับสโมสรนิวคาสเซิลครั้งนี้ หาก PIF หวังจะได้รับเงินปันผลและขายทำกำไรในช่วงเวลาอันสั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากตามรายงานงบการเงินของทีมในปี 2018 สโมสรยังมีผลขาดทุนสะสม อีกกว่า 26 ล้านปอนด์ ทำให้ยังไม่น่าจะจ่ายเงินปันผลได้ทันที
ส่วนการจะหานักลงทุนมาซื้อสโมสรต่อด้วยมูลค่าที่สูงกว่า 300 ล้านปอนด์ ในปีนี้ปีหน้าคงเป็นไปได้ยาก การลงทุนครั้งนี้จึงน่าจะเป็นการลงทุนในระยะยาว
การรวมเอาทีมฟุตบอลเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอของ PIF ถือเป็นโอกาสดีที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทอื่นของ PIF เป็นอย่างมาก จากพื้นที่โฆษณาของสโมสรนิวคาสเซิล ทั้งกลางหน้าอกชุดแข่ง ชื่อสนาม และการทำการตลาดร่วมกันของแบรนด์กับสโมสร
ฤดูกาลที่ผ่านมานับเฉพาะในพรีเมียร์ลีค นิวคาสเซิล มีเกมส์ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก รวม 19 แมทช์ เป็นรองแค่ทีมท๊อปซิกส์ของลีคเท่านั้น และ St. James’ Park เป็นสนามที่มีแฟนบอลเข้ามาอัดแน่นในสนามทุกเกมส์ การเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจในเครือของ PIF จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
นอกจากนี้ฐานรายได้เดิมของสโมสรในปัจจุบัน มาจากพรีเมียร์ลีคและแฟนบอลที่เข้ามาชมในสนามเป็นหลัก มีรายได้จากสปอนเซอร์และการขายสินค้าสโมสร (Commercial) เพียง 26.70 ล้านปอนด์ ถือว่ามีรายได้ในส่วน Commercial น้อยมากเมื่อเทียบกับหกทีมใหญ่ในลีค
จึงพอมีความเป็นไปได้ที่สโมสรอาจจะเพิ่มรายได้ส่วนนี้ จากกลยุทธ์ทางการตลาดและ connection ที่กองทุนฯ มีอยู่เดิม
ไม่เพียงเท่านั้น หากสโมสรสามารถผ่านเข้าไปเล่นในบอลยูโรปได้สักครั้ง แม้จะเป็นแค่รายการยูโรป้าก็ตาม สโมสรจะมีรายได้อีกก้อนหนึ่งจาก UEFA ทำให้รายได้รวมของสโมสรเพิ่มขึ้นไปอีก มูลค่าของสโมสรก็น่าจะพุ่งขึ้นไม่ต่างกัน
ดังนั้น ในมุมมองของ On the Pitch หากมองเฉพาะการลงทุนในสโมสรนิวคาสเซิลเพียงอย่างเดียว กลุ่มทุนจากซาอุฯ อาจต้องใช้พละกำลังสักหน่อยในการลดขาดทุนสะสมและเพิ่มรายได้ของสโมสรให้มากขึ้น จนสามารถถอนทุนคืนจากเงินปันผลได้ ในระยะเวลาอันสั้นจึงอาจจะยังไม่เห็นเงินลงทุน 300 ล้านปอนด์ คุ้มค่ามากนัก
แต่ถ้ามองในภาพรวมของกองทุนฯ การมีทีมนิวคาสเซิล เข้ามาอยู่ในอาณาจักร อาจจะทำให้มูลค่าเงินลงทุนโดยรวมของกองทุนฯ เพิ่มสูงขึ้น และอาจเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้แก่บริษัทในกลุ่ม ดีลนี้จึงนับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าไม่ใช่น้อย
ถ้าชอบเรื่องเล่านี้ Comment มาคุยกันได้นะครับ อย่าลืมกด Like กด Share เป็นกำลังใจสำหรับเรื่องราวต่อไปด้วยนะครับ
- หวังว่าจะมีความสุขกับการอ่านนะครับ -
โฆษณา