26 เม.ย. 2020 เวลา 12:05 • การศึกษา
Oil Insight : เจาะลึกฉากต่อไปของวิกฤตน้ำมัน !! การปิดตัวลงของอุตสาหกรรมกำลังจะมาถึง แม้ซาอุฯ จะตัดสินใจลดกำลังการผลิตก่อนเวลาที่กำหนด
สถานการณ์ต่อไปคืออะไร ? ซาอุฯ ลดกำลังการผลิตครั้งนี้มีความหมายอย่างไรบ้าง ? ตลาดน้ำมันมีโอกาสไปต่อในทิศทางไหน ? วันนี้ World Maker จะมาวิเคราะห์ให้ฟังกันครับ
1. The Next Chapter of the Oil Crisis : The Industry Shuts Down
ผลกระทบทางเศรษฐกิจของ Coronavirus ได้ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าทึ่งขึ้นในอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ โดยในขั้นแรก มันได้ทำลาย Demand ทั่วโลกลงด้วยการ Lockdowns ในประเทศต่าง ๆ ตามมาด้วยการเริ่มต้นสงครามราคาน้ำมันโดยกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก
หลังจากนั้นถังกักเก็บน้ำมันก็เริ่มถูกใช้ไปจนแทบหมดสิ้นทั่วโลก โดยความคาดหวังที่ว่าราคาน้ำมันจะดีขึ้นในอนาคต ขณะที่ค่าบริการสำหรับขนส่งเพิ่มสูงขึ้นทะลุเพดาน นี่เป็นสัญญาณซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดน้ำมันดิบ WTI กำลังถูกบิดเบือนอย่างมาก
ดังนั้นแล้ว ฉากต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กำลังจะเกิดขึ้น นั่นก็คือ "การปิดตัวลงของอุตสาหกรรมน้ำมันหลายแห่งในสหรัฐฯ"
ผลกระทบหลังจากนี้จะถูกส่งต่อไปยัง "การจ้างงาน"
เมื่อพูดถึงการจ้างงานแล้ว เรามาดูกันดีกว่าครับว่าอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ เนี่ย คิดเป็นการจ้างงานในสัดส่วนเท่าไหร่กันบ้าง โดย World Maker จะขออ้างอิงจากข้อมูลของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ซึ่งระบุไว้ดังนี้
(1.) อุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ มีสัดส่วนการจ้างงานกว่า 10.3 ล้านตำแหน่ง
(2.) มูลค่าของอุตสาหกรรมน้ำมันทั้งหมดคิดเป็นเกือบ 8% ของ GDP สหรัฐฯ
(3.) รายละเอียดอื่น ๆ ที่น่าสนใจดูได้ตามรูปด้านล่างนี้เลยครับ
แม้จะมีความพยายามสำหรับผู้ผลิตน้ำมันที่จะลดกำลังการผลิตลง แต่ผลกระทบในครั้งนี้ก็ได้พังทลายความพยายามของพวกเขาลง และไม่อาจหยุดยั้งการพังทลายลงไปสู่แดนลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของราคาน้ำมันดิบ WTI ซึ่งถือเป็นยิ่งกว่า Worst-Case Scenario สำหรับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันและโรงกลั่นของสหรัฐฯ
"เรากำลังวิ่งเข้าสู่จุดสิ้นสุดของเกมนี้ โดยจุด Peak จะอยู่ในช่วงต้นถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะมาถึงในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้" Torbjorn Tornqvist หัวหน้าฝ่ายซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ของ Gunvor Group Ltd. กล่าว
ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีแท่นขุดเจาะของสหรัฐฯ ปิดตัวไปแล้วเกือบ 300 แห่ง และคาดว่าอีกไม่นาน ผลกระทบเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังบริษัทและธนาคารอื่น ๆ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของอุตสาหกรรมน้ำมันเหล่านี้ และจะลามไปถึงภาคเศรษฐกิจท้องถิ่นในที่สุด
แน่นอนว่า Indicator ที่บ่งบอกได้ดีที่สุดว่าอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ ตอนนี้เป็นอย่างไรก็คือ "จำนวนแท่นขุดเจาะที่เปิดใช้งาน"
งั้นเรามาดูรายละเอียดกันดีกว่าครับว่าในช่วงที่ผ่านมา "จำนวนแท่นขุดเจาะ" ของหสรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
(1.) จำนวนแท่นขุดเจาะลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่มีการระบาดของ Coronavirus เกิดขึ้น
(2.) จำนวนแท่นขุดเจาะที่เปิดใช้งานในช่วงก่อนเกิดการระบาดอยู่ที่ 650 แห่ง
(3.) ในปัจจุบันมีแท่นขุดเจาะที่เปิดใช้งานเหลืออยู่เพียง 378 แห่ง
(4.) นั่นหมายความว่าตั้งแต่มีการระบาดของ Coronavirus เกิดขึ้น ได้มีแท่นขุดเจาะที่ปิดตัวลงไปแล้ว 272 แห่ง
(5.) แท่นขุดเจาะที่ปิดตัวลง 272 แห่ง คิดเป็น 41.85% ของจำนวนแท่นขุดเจาะทั้งหมดของสหรัฐฯ
หลังจากมีการลดลงของราคาน้ำมันดิบ WTI จนถึงระดับติดลบ 40 $/บาร์เรล กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ได้เห็นพ้องต้องกันว่ากำลังการผลิตจะลดลงประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน จนถึงเดือนธันวาคม 2020
แม้จะตัดเรื่องการเก็งกำไรในตลาดหุ้นออกไป และมามองเฉพาะในตลาดน้ำมันแบบ Physical เราก็จะพบว่าสถานการณ์นั้นย่ำแย่ไม่ต่างกัน
ผู้ผลิตใน South Texas และ Eastern Kansas จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นถึง 50 $/บาร์เรล สำหรับการผลิตน้ำมันในสัปดาห์นี้
ConocoPhillips และบริษัทผู้ผลิต Shale Oil อื่น ๆ ล้วนประกาศแผนที่จะลดกำลังการผลิต รวมถึงปิดแหล่งขุดเจาะบางส่วนลง ยกตัวอย่างเช่น Oklahoma และ New Mexico ที่ได้อนุมัติให้มีการปิดหลุมและแท่นขุดเจาะน้ำมัน โดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่
North Dakota ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมาเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการปฎิวัติอุตสาหกรรม Shale Oil ก็ได้สั่งปิดหลุมขุดเจาะกว่า 6,000 แห่ง ทำให้กำลังการผลิตลดลงถึง 405,000 บาร์เรล/วัน หรือประมาณ 30% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในรัฐ
สำหรับผู้ผลิตน้ำมันรายเล็ก พวกเขาเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์สำหรับการล้มละลาย และเป็นความท้าทายเช่นเดียวกันในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Exxon Mobil Corp. Chevron และ BP Plc. ที่ได้ประกาศลดกำลังการผลิตลงไปแล้วก่อนหน้านี้ และกำลังจะประกาศลดเพิ่มเติม โดยยักษ์ใหญ่ทั้งหลายเตรียมรายงานข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิกฤตน้ำมันในเร็ว ๆ นี้
ทางฝั่งซาอุฯ ล่าสุดประกาศลดกำลังการผลิตก่อนถึงวันกำหนดตามข้อตกลงแล้ว (เดี๋ยว World Maker จะมาวิเคราะห์เรื่องนี้ให้ฟังช่วงท้ายครับ) โดยลดจากประมาณ 12 ล้านบาร์เรล/วัน เหลือ 8.5 ล้านบาร์เรล/วัน
รัสเซียและส่วนที่เหลือของ OPEC+ ได้ให้คำมั่นที่จะลดกำลังการผลิตลงตามสัญญาในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้
โดยรวมแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2020 เป็นต้นไป Supply น้ำมันทั่วโลกจะลดลงประมาณ 10%
อย่างไรก็ตาม การลดลงครั้งนี้คาดว่าจะยังไม่เพียงพอต่อ Demand ที่ทรุดตัวลงอย่างหนัก เพราะในทุก ๆ สัปดาห์จะมีการกักเก็บน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 50 ล้านบาร์เรล และในอัตราดังกล่าว จะทำให้พื้นที่กักเก็บน้ำมันทั่วโลกเต็มในเดือนมิถุนายน 2020
ตามรายงานของ Bloomberg ระบุว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤต ทั่วโลกมีการบริโภคน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ในปัจจุบัน Demand ได้ลดลงเหลือประมาณ 65-70 ล้านบาร์เรล/วัน หรือประมาณ 25-30% นั่นเอง
ดังนั้นแล้ว Worst Case Scenario ในขณะนี้ก็คือ เราจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตน้ำมันถึง 1 ใน 3 ของโลก หรือประมาณ 33% เพื่อให้น้ำมันไม่ท่วมโลก แต่ในความเป็นจริงนั้น มีแนวโน้มสูงที่ความรุนแรงจะต่ำกว่านี้ เนื่องจากหลาย ๆ ประเทศอาจลดกำลังการผลิตลงเพิ่มเติม
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา Marathon Petroleum Corp. หนึ่งในผู้กลั่นน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ประกาศว่าจะหยุดการผลิตในโรงงานใกล้ ๆ San Francisco
Royal Dutch Shell Plc. ได้สั่งปิดการทำงานในหลายภาคส่วนสำหรับโรงกลั่น 3 แห่งใน Alabama และ Louisiana รวมถึงในยุโรปและเอเชีย ซึ่งโรงกลั่นหลายแห่งกำลังเปิดใช้งานด้วยกำลังการผลิตเพียง 50%
ขณะนี้โรงกลั่นในสหรัฐฯ ได้ผลิตน้ำมันออกมาประมาณ 12.45 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี หากไม่นับเหตุการณ์จากพายุ Hurricane
"การปิดตัวของโรงกลั่นแห่งอื่น ๆ กำลังจะตามมาในเร็ว ๆ นี้" นักเทรดน้ำมันและบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินกล่าว "โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่มีการ Lockdowns ประเทศช้ากว่าในยุโรป"
"Demand จะยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โรงกลั่นทั่วโลกอาจลดลงถึง 25% ในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะไม่มีใครสามารถหลบกระสุนลูกนี้ไปได้" Steve Sawyer ผู้จัดการโรงกลั่นของ Facts Global Energy กล่าว
2. Goldman Sachs Expects Another Oil Price Crash
ในขณะที่มีข้อโต้แย้งมากมายว่า "จุดต่ำสุดของตลาดน้ำมันโลกได้ผ่านพ้นไปแล้ว" แต่ Goldman Sachs ก็ได้เปิดเผยคาดการณ์ใหม่ล่าสุด ซึ่งระบุว่าตลาดน้ำมันอาจเผชิญกับการร่วงลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำมันดิบอีกครั้ง
Jeffrey Currie หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สินค้าโภคภัณฑ์ของ Goldman Sachs กล่าวว่า "สินค้าโภคภัณฑ์ส่วนมากนั้นแตกต่างจากหุ้นและพันธบัตร เพราะพวกมันเป็นสินค้าสำหรับการเก็งกำไร (Spot Assets) ไม่ใช่เป็นสินค้าที่มุ่งหวังคุณค่าในระยะยาว (Anticipatory Assets) และโปรดจงจำไว้ว่าสัดส่วน Demand-Supply ในขณะนี้ถูกบิดเบือนไปจากสมดุลอย่างมากในทุกตลาด"
"ขณะที่ Supply น้ำมันยังมีอยู่มหาศาลเมื่อเทียบกับ Demand ดังนั้นเราจึงมองว่าความปั่นป่วนของตลาดน้ำมันในครั้งนี้จะยังคงอยู่ไปจนถึงเดือนมิถุนายนเป็นอย่างน้อย"
Goldman Sachs ได้คาดการณ์ว่าตลาดจะเผชิญกับบททดสอบที่สำคัญอีกครั้งใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า เมื่อแหล่งกักเก็บน้ำมันทั่วโลกใกล้จะเต็มเข้าไปทุกที
สิ่งเหล่านี้จะสร้างความปั่นป่วนให้กับราคาน้ำมันมากขึ้น จนกว่าโลกจะมีความสมดุลระหว่าง Demand และ Supply เพราะเมื่อแหล่งกักเก็บน้ำมันเต็ม โลกจะไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากปิดการผลิตลง"
Comment : หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า "งั้นทองคำที่เป็น Commodity ก็คือสินค้าที่ใช้เก็งกำไรในระยะสั้นน่ะสิ ?" คำตอบคือทั้งถูกและผิดครับ
ที่ถูกต้องคือ : ทองคำในระยะสั้นสามารถปั่นราคาผ่านการเข้าซื้อ-ขายโดยกองทุน Hedge Fund ระดับยักษ์ใหญ่ โดยการใช้ Leveraged สูง ๆ ได้ครับ
ที่ผิดคือ : มีหลายอย่างที่ทองคำแตกต่างจาก Commodity ทั่วไป ยกตัวอย่างเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ
Demand และ Supply ของทองคำนั้นไม่ได้ล้นตลาดและสามารถผลิตออกมาได้เรื่อย ๆ จนเกิดภาวะเฟ้ออย่างเช่นน้ำมันในขณะนี้ แต่กลับกัน โลกในปัจจุบันกำลังขาดแคลนทองคำอย่างมาก โดยล่าสุด Bloomberg ได้ออกข่าวว่ามีการขนส่งทองคำไปที่ New York อย่างมาก เพื่อเร่งชดเชยสภาพคล่องในตลาด Physical ที่ขาดแคลนอย่างหนัก จากการปิดเหมือง
3. What's Next ? : ตลาดน้ำมันจะไปในทิศทางในต่อ ?
Analysis By World Maker
สถานการณ์ตลาดน้ำมันตอนนี้ ล่าสุดเราจะเห็นได้ว่าซาอุฯ เดินหน้าลดกำลังการผลิตล่วงหน้าแล้ว เรื่องนี้หมายความว่าอะไรกันแน่ ?
คำตอบในมุมมองของ World Maker นั้นไม่ยากเลยครับ ที่ซาอุฯ ทำแบบนั้นก็เพราะ "ต้องการลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศตัวเอง" เนื่องจากเห็นแล้วว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ "เพียงพอแล้ว" ที่จะทำให้อุตสาหกรรม Shale Oil ของสหรัฐฯ ต้อง "ปิดตัวลง"
โดยขอวิเคราะห์ให้เห็นชัดเจนเป็นข้อ ๆ ดังนี้
(1.) การลดกำลังการผลิตน้ำมันในครั้งนี้ไม่ได้สอดคล้องกับการลดลงของ Demand ในตลาดเลยแม้แต่น้อย และมันไม่อาจช่วยให้น้ำมันไม่ล้นโลกได้ หลักฐานตามข้อมูลข้างต้นที่ได้กล่าวไปแล้ว
(2.) ประเด็นสำคัญในขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่การลดกำลังผลิตในครั้งนี้เลยแม้แต่น้อย แต่กลับกันมันอยู่ที่สัดส่วนระหว่าง Demand และ Supply ซึ่งยังมีส่วนเกิน (Oversupply) อยู่อีกประมาณ 20%
(3.) ส่วนที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นตรงกันคือราคาน้ำมันจะปั่นป่วนแบบนี้ไปอีกอย่างน้อย 2 เดือน ดังนั้นเราจึงไม่อาจตัดสินผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดน้ำมันได้ จนกว่าจะผ่านไปอีก 2 เดือนเช่นกัน
(4.) คาดการณ์ตลาดน้ำมันในมุมมองของ World Maker เห็นคล้ายกันกับ Goldman Sachs คือตลาดน้ำมันจะพบกับความปั่นป่วนแบบนี้ไปอีกอย่างน้อย 1-2 เดือน และมีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะตกลงมาจนถึงระดับติดลบอีกครั้ง
(5.) ขอให้เหตุผลสนับสนุน โดยการอ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารกลางแห่ง Kansas City ซึ่งระบุว่าอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ จะต้องปิดตัวลงถึง 40% หากราคาน้ำมันดิบ WTI ยังอยู่ที่ประมาณ 30 $/บาร์เรล (ราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 17 $/บาร์เรล)
(6.) สิ่งที่ควรทำในตอนนี้คือจับตาดูตัวเลขเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ เอาไว้ในดี เพราะมีแนวโน้มสูงมากที่เราจะได้เห็นการปิดตัวลงในอีกไม่กี่สัปดาห์ที่จะมาถึงนี้
(7.) ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ WTI ในวันพรุ่งนี้มีสิทธิที่จะโดนเทขายลงมาอีก โดย World Maker ขอมองระดับคาดการณ์ไว้ที่ 110-15 $/บาร์เรล
(8.) อย่างไรก็ตามหากราคาพุ่งขึ้นไป โปรดจงจำไว้เสมอว่า อุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ จะยังไม่ปลอดภัย จนกว่าระดับราคาจะสูงกว่า 40 $/บาร์เรล
โปรดอ่าน !! ทิ้งท้าย เพื่อเตือนสติ...
คำว่าบทวิเคราะห์ หมายถึง "การที่ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณในการอ่าน -> คิด -> พิจารณา -> และพิสูจน์ด้วยตนเอง ก่อนที่จะปักใจเชื่อเนื้อหาใด ๆ"
"ไม่มีบทวิเคราะห์ใด ถูกต้อง 100% เพราะฉะนั้นจงอ่านเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา ไม่ใช่อ่านและเชื่อไปตามนั้น โดยที่ไม่ได้พิสูจน์ความจริงใด ๆ เลย"
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา