26 เม.ย. 2020 เวลา 16:10 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เรากำลังใกล้ที่จะค้นพบหนทางสู่ยาอายุวัฒนะแล้ว?? 😮🧐
เมื่อทีมนักวิจัยประสบความสำเร็จในการซ่อมแซมเซลล์ที่แก่ก่อนวัย...
ที่เห็นนี้หาใช่ปาท่องโก๋ไม่ มันคือโครโมโซมซึ่งอัดแน่นด้วยข้อมูลของตัวเรา
เคยได้ยินโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) กันไหมครับ โรคนี้เกิดจากการที่ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดออกมาได้เพียงพอ เป็นโรคเลือดชนิดหนึ่ง
ซึ่งสาเหตุหนึ่งในนั้นคือความผิดปกติของยีนที่ส่งต่อจากพ่อแม่สู่ลูก โดยเจ้ายีน Dyskeratosis congenita ที่ผิดปกตินั้นจะทำให้ telomere ส่วนปลายของโครโมโซมที่ปัจจุบันรู้กันว่าเป็นส่วนควบคุมความแก่ชรานั้นเกิดการเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ
อันเป็นผลให้เซลล์เกิดการเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร ซึ่งปัจจุบันการรักษาโรคนี้ต้องทำการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะต้องกินยากดภูมิคุ้มกันระหว่างการปลูกถ่าย
และก็แก้ปัญหาได้แค่ระบบเลือดแต่ไม่ได้ช่วยแก้ไขผลจากความผิดปกติจาก telomere ในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
มาวันนี้ทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยโรคมะเร็งและความผิดปกติของโลหิตในเด็ก Dana-Farber/Boston ได้ค้นพบสารประกอบที่สามารถช่วยย้อนคืนกระบวนการเสื่อมสภาพก่อนเวลาของ telomere นี้แล้ว
ทั้งนี้ telomere นั้นทำหน้าที่เหมือนหมวกแก๊ปป้องกันไม่ให้เกลียวด้าย DNA ที่ร้อยอัดเป็นโครโมโซมนั้นหลุดคลายเสื่อมสลายจนทำให้เซลล์แก่ชรา
ซึ่ง telomere นั้นก็ไม่ได้อยู่ยั้งยืนยง ทุกครั้งที่เซลล์แบ่งตัวก็จะหดสั้นลงเรื่อย ๆ นั่นทำให้ทุกชีวิตย่อมต้องแก่ชราและสิ้นอายุขัย 😔
telomere หดสั้นลงเรื่อย ๆ ตามจำนวนครั้งของการแบ่งเซลล์
สำหรับกลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของ telomere นี้ก็เกิดจากที่ telomere เกิดการเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ
โดยส่วนประกอบของ telomere นั้นคือเอนไซม์ที่เรียกว่า telomerase
ถ้าร่างกายไม่สามารถสร้างเอนไซม์ telomerase ได้มากพอเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายก็จะมี telomere หดสั้นลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดอาการของโรคนั่นเอง
โดยเจ้าเอนไซม์ Telomerase ประกอบด้วยโมเลกุล 2 ประเภท TERT กับ TERC มารวมกัน ซึ่งโมเลกุลทั้ง 2 นี้ควบคุมการสร้างโดยยีน PARN
ซึ่งงานวิจัยนี้มุ่งเน้นการยับยั้งเอนไซม์ที่รบกวนการทำงานของยีน PARN ที่เรียกว่า PAPD5 ซึ่งจะช่วยให้การสร้างโมเลกุล TERC กลับมาเป็นปกติ
1
เมื่อได้รับยาเซลล์สามารถซ่อมแซม telomere กลับมายาวดังเดิมได้
ซึ่งผลการทดสอบในหนูทดลองได้ผลเป็นที่น่าพอใจหนูที่ได้รับยานั้น เซลล์สามารถซ่อมแซม telomere กลับมาได้ยาวเท่าเดิม โดยยังไม่พบผลกระทบข้างเคียงเชิงลบด้วย
1
ทีมวิจัยหวังว่ายาชนิดใหม่นี้จะสามารถเริ่มการทดสอบการรักษาทางคลินิกได้เร็ว ๆ นี้ และหวังว่ายายับยั้งเอนไซม์ PAPD5 นี้จะช่วยรักษาโรคที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของ telomere อื่น ๆ รวมถึงยับยั้งการแก่ชราของเราด้วย 😉
1
แต่ทั้งนี้ก็อย่าเพิ่งดีใจลิงโลดกันไปว่าเราเจอยาอายุวัฒนะแล้ว เพราะตั้งแต่มนุษย์เรารู้จักเจ้า telomere นี้ ก็มีเหล่าบริษัท Bio Tech มากมายอ้างว่ามีวิธีหรือยาชลอวัยด้วยการรักษา telomere ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดแล้วก็หายไป...
กว่าจะถึงวันที่เจ้ายาตัวนี้จะนำมารักษาโรคเกี่ยวกับ telomere หรือสุดท้ายมายับยั้งการแก่ชราได้จริงก็คงยังต้องใช้เวลาศึกษาค้นคว้ากันอีกนานน่อ 😔

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา