27 เม.ย. 2020 เวลา 05:54
[6] โถส้วมของน้องงงง
#โถ
หม้อข้าวหม้อแกงลิงหรือ Nepenthes เป็นพืชกินสัตว์ (carnivorous plant) ที่มีกลยุทธ์พิเศษในการรับมือกับภาวะขาดธาตุไนโตรเจน ลักษณะเด่นของพืชกลุ่มนี้คือหม้อดักแมลง (pitcher) รูปร่างคล้ายแจกันที่ยื่นยาวออกมาจากปลายใบ เมื่อมีแมลงหรือสัตว์ขาข้ออื่น ๆ พลาดท่าตกลงมาในหม้อมฤตยูนี้ พวกมันจะถูกน้ำย่อยภายในหม้อกัดกร่อนร่างและถูกสูบธาตุไนโตรเจนไปเป็นอาหารเสริมให้หม้อข้าวหม้อแกงลิง
ทุกคนรู้หรือไม่ว่านอกจากกับดักทรงแจกันของหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะทำหน้าที่เป็นไหสูบชีวิตแมลงได้แล้ว มันยังรับบทบาทเป็น “โถส้วม” ได้ด้วยนะ
#น้องงงง
หม้อข้าวหม้อแกงลิงบางชนิดปรับเปลี่ยนโครงสร้างของหม้อดักแมลงใหม่ทำให้สามารถรับธาตุไนโตรเจนจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่แมลงได้ และแหล่งไนโตรเจนนั้นก็คือ “มูลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม” นั่นเอง ตัวอย่างเช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง Nepenthes lowii และ Nepenthes hemsleyana แห่งเกาะบอร์เนียวซึ่งปรับโครงสร้างหม้อดักแมลงเหนือพื้นดิน (aerial pitcher) ใหม่จนกลายมาเป็นโถส้วมให้เพื่อนที่น่ารักของเรา
1
หม้อของ N. lowii รับบทบาทเป็นภาชนะสูบธาตุไนโตรเจนจากมูลของเจ้ากระแต Tupaia montana โดยนอกจากเจ้ากระแตจะได้สบายท้องแล้วพวกมันยังได้น้ำหวานจากต่อมบริเวณฝาหม้อของ N. lowii เป็นของตอบแทนอีกด้วย (Clarke et al., 2009)
ในขณะที่หม้อของ N. hemsleyana นั้นมีพื้นผิวภายในปากหม้อที่สะท้อนคลื่นเสียงความถี่สูงของค้างคาวยอดกล้วยปีกใส Kerivoulla hardwickii ได้ จึงดึงดูดให้เจ้าหนูมีปีกชนิดนี้เข้ามาเกาะพักภายในหม้อและถ่ายมูลอันอุดมไปด้วยไนโตรเจนให้ N. hemsleyana ได้ดูดซึม (Schöner et al., 2015) ส่วนเจ้าค้างคาวเองก็ได้ประโยชน์เช่นกันเพราะการมาพักกลางวันภายในหม้อนี้สุขสบายกว่าสถานที่อื่นทั้งในแง่อุณหภูมิและความชื้นที่คงที่ พื้นที่ที่พอดีตัว และอัตราการติดปรสิต (แมลงวันค้างคาวและไรค้างคาว) ที่น้อยกว่า แถมน้ำย่อยในหม้อยังมีน้อยมากจนไม่ต้องห่วงว่าปีกสวย ๆ จะโดนย่อยไปด้วย (Grafe et al., 2011; Schöner et al., 2013)
จะเห็นได้ว่าภาวะ “โถส้วมแห่งพงไพร” นี้เป็นภาวะที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน (+,+) น่ารักใช่ไหมล่ะ?
#Nepenthes #Kerivoulla #Tupaia #mutualism
เอกสารอ้างอิง:
Clarke C.M., Bauer U., Lee C.C., Tuen A.A., Rembold K. & Moran J.A. (2009) Tree shrew lavatories: a novel nitrogen sequestration strategy in a tropical pitcher plant. Biol. Lett. 5: 632–635. https://doi.org/10.1098/rsbl.2009.0311
Grafe T.U., Schöner C.R., Kerth G., Junaidi A. & Schöner M.G. (2011). A novel resource–service mutualism between bats and pitcher plants. Biol Lett. 7: 436–439. https://doi.org/10.1098/rsbl.2010.1141
Schöner C.R., Schöner M.G., Kerth G. & Grafe T.U. (2013) Supply determines demands: influence of partner quality and quantity on the interactions between bats and pitcher plants. Oecologia. 173: 191–202. https://doi.org/10.1007/s00442-013-2615-x
Schöner M.G., Schöner C.R., Simon R., Grafe T.U., Puechmaille S.J., Ji L.L. & Kerth G. (2015) Bats are acoustically attracted to mutualistic carnivorous plants. Current Biology. 25: 1911–1916. http://dx.doi.org/10.1016/j.cub.2015.05.054
โฆษณา