28 เม.ย. 2020 เวลา 15:10 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"Cinder Lake Crater Field" สถานที่ถ่ายทำ เอ๊ย ไม่ใช่ 😅
สถานที่ฝึกซ้อมปฏิบัติการเพื่อเตรียมการสำหรับการเหยียบดวงจันทร์ของโครงการอะพอลโล
กับการสร้างผิวดวงจันทร์จำลองขึ้นมาเพื่อให้เหล่านักบินอวกาศได้ฝึกซ้อมภารกิจก่อนเริ่มการเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์จริง ๆ 🧐👍
สร้างสภาพจำลองของพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อให้เหล่านักบินอวกาศได้ฝึกซ้อมภารกิจก่อนเริ่มการเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์จริง ๆ
ในปี 1967 สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ USGS ได้ร่วมกับ NASA ในการสร้างทุ่งหลุมอุกกาบาตเทียมจำนวนมากที่บริเวณซึ่งเคยเป็นภูเขาไฟเก่าแก่มาก่อน โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ที่ Cinder Lake มลรัฐอริโซน่า
ภาพถ่ายทางอากาศของ Cinder Lake Crater Field
โดยก่อนหน้าภารกิจอะพอลโล 11 นั้นหนึ่งในสถานที่ฝึกซ้อมของทีมนักบินอวกาศคือพื้นที่บริเวณทางตอนเหนือของประเทศไอซ์แลนด์อันเต็มไปด้วยหินบะซอลท์ซึ่งเหมาะกับการจำลองสภาพเสมือนของพื้นผิวดวงจันทร์
แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอดังนั้นจึงมีการพิจารณาเลือก Cinder Lake เป็นอีกพื้นที่หนึ่งในการฝึกซ้อม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเถ้าถ่านของภูเขาไฟและทุ่งหินบะซอลต์อันเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟในปี 1064
ภาพสแกนพื้นผิวแบบ 3 มิติของบริเวณ Cinder Lake Crater Field และบริเวณใกล้เคียง
โดย Cinder Lake Crater Field นั้นไม่ได้มีแค่ทุ่งเดียว แต่มีอยู่ 2 ทุ่งด้วยกัน และปัจจุบันก็ยังคงสภาพพื้นที่มาจนถึงทุกวันนี้
แต่หลุมก็อาจจะตื้นเขินไปบ้างตามกาลเวลาไม่เหมือนตอนที่ทำเสร็จใหม่ ๆ
ภาพถ่ายทางอากาศของ Cinder Lake Crater Field ทั้งสองแห่งในปัจจุบัน
แล้ว USGS นั้นสร้างพื้นผิวดวงจันทร์จำลองขึ้นมาได้ยังไง??
คำตอบก็คือ ระเบิดแม่มเลย!!! ใช่ครับ ใช้ระเบิดไดนาไมด์นี่แหละในการสร้างทุ่งหลุมอุกกาบาตจำลองนี้
เริ่มตั้งแต่ปี 1963 ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ USGS และ NASA ร่วมกันศึกษาแนวทางการสร้างทุ่งอุกกาบาตจำลองนี้
การทดลองระเบิดแบบหลุมเดี่ยว
ซึ่งการจะสร้างสภาพทุ่งอุกกาบาตที่เหมือนบนดวงจันทร์นั้นทีมงานต้องทำการคำนวนและวางระเบิดในปริมาณที่แตกต่างกันในแต่ละหลุม
และก่อนหน้านั้นก็ต้องมีการระเบิดทดสอบเพื่อประเมินผลลัพธ์ จากรูปด้านบนนั้นเป็นการใช้ไดนาไมด์ 312.5 ปอนด์และแอมโมเนียกว่า 13,500 ปอนด์ในการระเบิด
ภาพระหว่างการเตรียมการ
และหัวใจสำคัญคือการจุดระเบิดแบบปูพรมไล่เวลาให้ใกล้เคียงแต่ไม่พร้อมกันซะทีเดียว เพื่อให้ได้สภาพของทุ่งอุกกาบาตที่เหมือนจริง
ยังกับระเบิดปูพรมเลยทีเดียว
ในที่สุดปี 1967 Cinder Lake Crater Field หมายเลข 1 ก็ถูกกสร้างขึ้นโดยมีจำนวนหลุมอุกกาบาตจำลอง 142 หลุม โดยเจ้าทุ่งหมายเลข 1 นี้มีชื่อเล่นว่า 143
Cinder Lake Crater Field #1 หรือ 143
ซึ่ง 143 นี้ถูกใช้เป็นสนามทดสอบปฏิบัติการของทีมนักบินอวกาศ รวมถึงการทดสอบยาน Lunar Lander ด้วย
โดยการทดสอบมีทั้งการนำยาน Lander วางบริเวณขอบปากหลุมอุกกาบาตเพื่อทดสอบยานรวมถึงทดสอบการออกแบบระบบช่วงล่าง
ภาพขณะทำการทดสอบต่าง ๆ
หลังจากนั้น Cinder Lake Crater Field #2 ก็ถูกสร้างขึ้นโดยมีจำนวนหลุมอุกกาบาตมากถึง 354 หลุม และแน่นอนว่าทุ่งที่ 2 นี้จะมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าทุ่งแรกเป็นเท่าตัว
ซึ่งทุ่งที่ 2 นี้มีความพิเศษกว่าทุ่งแรก โดยการระเบิดเพื่อทำทุ่งอุกกาบาตนั้นจะเป็นการระเบิดเป็นชุด ๆ หลังจากระเบิดชุดแรกและฝุ่นดินเซตตัวแล้วจึงทำการระเบิดหลุมชุดถัดไป
ทั้งนี้เพื่อจำลองสภาพการทับถมของหลุมอุกกาบาตเก่าโดยเศษฝุ่นและหินที่เกิดจากการชนของอุกกาบาตลูกใหม่
ดังนั้นเมื่อนักบินอวกาศมาทำการฝึกซ้อมเก็บตัวอย่างชั้นดินก็จะรู้ว่าได้ว่าหลุมไหนเป็นหลุมใหม่และหลุมไหนเป็นหลุมเก่า และสามารถประเมินอายุของหลุมอุกกาบาตได้ ซึ่งเป็นทักษะที่นักบินอวกาศต้องฝึกให้สำเร็จก่อนไปเหยียบดวงจันทร์นั่นเอง
ภาพการฝึกซ้อม
ทั้งนี้กว่าที่ Cinder Lake Crater Field #2 จะถูกใช้งานในการฝึกนักบินอวกาศก็สำหรับทีมอะพอลโล 15 ซึ่งมุ่งเน้นการสำรวจด้านธรณีวิทยาของดวงจันทร์ และเจ้าทุ่ง 2 นี้ก็มีประโยชน์อย่างมากในการฝึกทีมอะพอลโล 15
และทีมฝึกที่ใช้งาน Cinder Lake Crater Field #2 นั้นก็คือทีมอะพอลโล 17 ในปี 1972 หลังจากนั้น Cinder Lake Crater Field ก็ถูกเช่าใช้งานโดยบริษัทภาพยนตร์ต่าง ๆ เช่น Disney ในการถ่ายทำฉากดวงจันทร์ในภาพยนตร์
สภาพของ Cinder Lake Crater Field ในปัจจุบัน เรียกได้ว่าแทบไม่เหลือเค้าโครงของทุ่งอุกกาบาตบนดวงจันทร์สักเท่าไหร่
สภาพของ Cinder Lake Crater Field ในปัจจุบัน
แต่ก็ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของการพามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์
และนี่ก็คือเรื่องราวของทุ่งหลุมอุกกาบาตจำลอง สถานที่ซึ่งเหล่านักบินอวกาศได้ใช้ทำการฝึกก่อนที่จะได้ไปเหยียบดวงจันทร์
Lunar Module กำลังลงสู่ดวงจันทร์
เบื้องหลังการสำรวจอวกาศ มีอะไรมากมาย กว่าที่มนุษย์เราจะได้ไปเหยียบดวงจันทร์ และอีกไม่นานมนุษย์คงจะได้ไปเหยียบพื้นดาวเคราะห์ดวงอื่นอีก 😉

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา