27 เม.ย. 2020 เวลา 14:39 • สุขภาพ
โควิด-19และการระบาดในโรงพยาบาลของญี่ปุ่น
photo credit: NHK World Japan
ญี่ปุ่นคือหนึ่งในประเทศที่มีมาตรการการรับมือกับโคโรนาไวรัสตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการระบาดได้ดีในช่วงเกือน ก.พ. - มี.ค. ที่ผ่านมา
แต่ตัวเลข ณ วันนี้ 27 เมษายน มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 13,441 ราย รักษาหาย 2,536 ราย และมีผู้เสียชีวิต 373 ราย
เคสต้องสงสัยที่เกิดจากการติดเชื้อที่โรงพยาบาลมีมากถึง 1,086 ราย (โตเกียว 454 ราย โอซาก้า 155 ราย) ในโรงพยาบาล 60 แห่งทั่วประเทศ โดยครึ่งหนึ่งเป็นหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลมากถึง 513 ราย คนไข้ทั่วไป 534 ราย
photo credit: Japantimes.co.jp
การแพร่กระจายเชื้อโรคในโรงพยาบาลนี้ส่งผลให้บางโรงพยาบาลงดให้บริการแก่คนไข้นอก. หรือแม้กระทั่งงดผ่าตัดกรณีฉุกเฉิน
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้การติดเชื้อในโรงพยาบาลมีจำนวนมาก
โรงพยาบาลทั่วไปในญี่ปุ่นไม่มีแผนกโรคติดเชื้อเนื่องจากมีโรงพยาบาลสำหรับโรคติดเชื้อโดยเฉพาะ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อกว่าหมื่นราย โรงพยาบาลบางแห่งจำเป็นต้องดัดแปลงพื้นที่เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษให้เป็นห้องความดันลบ และติดตั้งกล้องในห้องผู้ป่วยโดยดูผ่านจอมินิเตอร์เพราะบุคลากรมีจำกัด
เนื่องจากการติดเชื้อจากผู้ป่วยทำให้เจ้าหน้าที่ที่มีอย่างจำกัดต้องกักกันตนเองอยู่ที่บ้าน ยิ่งทำให้สถานการณ์การขาดแคลนบุคลากรเลวร้ายลงไปอีก
เมื่อปัญหาการขาดแคลนบุคลากรถึงขีดสุด จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ที่นางพยาบาลในโรงพยาบาลเวชศาสตร์ฟื้นฟูนามิฮายาในโอซากาโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ของเธอว่าต้องมาทำงานถึงแม้ว่าจะพบเชื้อโควิดเนื่องจากบุคลากรไม่เพียงพอ เพื่อนร่วมงานบางคนต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก
หลังจากทวีตดังกล่าว ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการรับมือกับโควิดในโรงพยาบาลโดยเฉพาะการคัดกรองโรคโดยการแบ่งโซนสีเขียว เหลือง แดงยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ส่วนบุคลากรของโรงพยาบาลก็ไม่มีเวลาที่จะให้ความสำคัญในการป้องกันการแพร่เชื้อ เพราะต้องเอาเวลาส่วนใหญ่ไปดูแลคนป่วยแทนที่จะทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ
ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับการแพร่เชื้อในโรงพยาบาลคือการติดเชื้ออาจจะมาจากห้องพักพยาบาลและแพทย์ เนื่องจากหมอและพยาบาลมักจะถอดหน้ากากอนามัยในช่วงเวลาพัก และการระบาดที่เกิดขึ้นอาจจะผ่านการสัมผัสพื้นผิวต่างๆ เช่นเครื่องมือทางการแพทย์ ลูกบิดประตู เป็นต้น
นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน PPE และหน้ากากอนามัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก็เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นเช่นเดียวกันเพราะหน้ากากอ N95 มีไม่เพียงพอและทางรัฐบาลต่างเร่งให้ผู้ผลิตเพิ่มการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้น
ดังนั้นทางโรงพยาบาลต่างๆ จึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันพื้นฐานคือการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงการขอความร่วมมือจากคนในประเทศให้อยู่บ้านและรักษาระยะห่างทางสังคม
คงต้องใช้เวลาอีกซัก 2-3 สัปดาห์ว่าวิธีนี้จะได้ผลหรือไม่
#ขอเอาใจช่วยญี่ปุ่นให้ผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันนะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา