1 พ.ค. 2020 เวลา 00:25 • การศึกษา
DATA (ไม่) พาเพลิน #14 : "ต่า ตัว ฆาย"
DATA (ไม่) พาเพลิน #14 : "ต่า ตัว ฆาย"
ขอบอกก่อนว่า...
โพสต์นี้ยาวมาก และเครียดโคตร
เพราะบทความนี้ "ต่า ตัว ฆาย" คือ...
เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการ"ฆ่าตัวตาย"
(ขอสลับตัวอักษรกัน เพื่อลดความรุนแรงทางสายตานะครับ)
1
สำหรับผู้ที่กำลังจะอ่านบทความต่อไปนี้
โปรดใช้"อากาศยาน"ในการรับชมนะครับ
(นั่น! ขอสักหน่อย ก่อนจะไปเครียดกัน)
สืบเนื่องจากเมื่อเร็วๆนี้...
เพิ่งมีดราม่าเรื่องการวิจัยสถิติฆ่าตัวตายเพราะโควิด-19 ออกมา
และก็โดนถล่มจากนักวิชาการ
และผู้เชี่ยวชาญต่างๆอย่างหนัก
เพราะงานวิจัยนี้...
มีแต่อคติทางการเมืองปะปนอยู่
และในไม่กี่วันต่อมาก็มีข่าวว่า...
Dr Lorna Breen ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของแผนกฉุกเฉินที่โรงพยาบาล
New York-Presbyterian Allen Hospital ในแมนฮัตตัน เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย
ผมเลยทำข้อมูลชุดนี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับการป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น
เพราะพฤติกรรมการค้นหาใน"กู๋"
คือแรงจูงใจชั้นดี ที่ไม่อาจมองข้ามได้
โดยผมจะเริ่มจากให้เห็นภาพกว้าง
คือ ทั่วโลก และลงมาแคบในบ้านเรา
เรามาเริ่มกันเลยนะครับ...
ผมเริ่มจากคำว่า"suicide"(ฆ่าตัวตาย)
ค้นหาตั้งแต่ปี 2004 จากทั่วโลก
และนี่คือผลลัพธ์ที่ได้...
(1)
(1)
คำว่า "suicide" มีจุดพีคในปี 2559
(แถบสีแดง)
นั่นคือภาพยนตร์เรื่อง "suicide squad"
และเมื่อลองดูคำเชื่อมโยงภายใน
ก็ปรากฏว่า..."suicide" ถูกรบกวนด้วย "suicide squad" อยู่มากทีเดียว
(สงสัยผมต้องลองหาทางเข้าใหม่)
แต่ก็มีคำเชื่อมโยงที่หลุดรอดออกมา 4 อัน
ที่ไม่เกี่ยวข้องกับหนัง คือ...
- อาโอกิงาฮาระ (ป่าบริเวณเชิงภูเขาฟูจิด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ในประเทศญี่ปุ่น อาโอกิงาฮาระเป็นสถานที่ที่ชาวญี่ปุ่นมาฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง)
- การฆ่าคนและพลีชีพคน
- สายด่วยยามวิกฤติ
- Hotline
ผมต้องหาทางเข้าใหม่
เพื่อให้ได้ข้อมูลจากการสืบค้นมากกว่านี้
ผมเลยใช้คำว่า...
"how to suicide" (วิธีการฆ่าตัวตาย)
ค้นหาตั้งแต่ปี 2004 จากทั่วโลก
และผลลัพธ์ก็ปรากฏขึ้น...
(2)
(2)
แถบสีแดง ยังมีความเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่อง "suicide squad" อยู่
และประเทศที่สืบค้นมากที่สุด 5 อันดับ
จาก 44 ประเทศคือ...
- แอฟริกาใต้
- นิวซีแลนด์
- ออสเตรเลีย
- สหรัฐอเมริกา
- ฟิลิปปินส์
...ไม่มีญี่ปุ่น (และญี่ปุ่นอยู่อันดับสุดท้าย)
ซึ่งขัดกับสิ่งเราที่ได้รับรู้มาจากข่าวสารโดยทั่วไปว่า ประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงคือประเทศญี่ปุ่น ในกรณีนี้ผมว่าน่าจะเป็นที่การใช้ภาษาในการค้นหา เดี๋ยวผมจะลองใช้ภาษาญี่ปุ่นในการค้นหาดูในลำดับต่อไป
ต่อมา...
คำและหัวข้อที่เชื่อมโยง
มีความน่าสนใจอยู่มาก
(3)
(3)
ในฝั่งซ้ายมือคือหัวข้อที่เชื่อมโยง
ที่ทำให้เราสามารถเห็นภาพใหญ่ๆของเรื่องนี้ได้ เริ่มจาก...
1. จากการสืบค้นจะนิยมค้นหาวิธีในการฆ่าตัวตาย
2. วิธีในการฆ่าตัวตายมีปรากฏอยู่ อาทิ การได้รับยาเกินขนาด (overdose), อาวุธปืน, การแขวนคอ
3. ในนี้ยังแสดงให้เห็นถึงมูลเหตุที่ทำให้เกิดแรงจูงใจ เช่น โรคซึมเศร้า, ความเจ็บปวดเรื้อรังจากโรค, การถูกรังแก, พ่อแม่, ความผิดปกติทางจิต, การฆ่าตัวตายโดยได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ (ตามกฏหมายว่าด้วยเรื่องความต้องการตายของแต่ละประเทศ)
4. มีคำอย่าง Attempt suicide การพยายามที่จะฆ่าตัวตาย
5.ในภาพใหญ่ยังบ่งบอกได้ถึง การหาข้อมูลในการเตรียมพร้อมที่จะฆ่าตัวตาย
เช่น วิธีเขียนจดหมายลาตาย
6. มีสิ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการยับยั้งเหตุ เช่น การป้องกันการฆ่าตัวตาย, สายด่วยยามวิกฤติ, Hotline
ในฝั่งขวาคือการค้นหายอดนิยมที่เชื่อมโยงกับคำว่า"how to suicide" (วิธีการฆ่าตัวตาย) ซึ่งผมได้จำแนกมาดังนี้...
(4)
(4)
ในจำนวนการค้นหายอดนิยม 25 คำ
- (หัวกะโหลกสีแดง) มีการสื่อถึงแรงจูงใจในการฆ่าตัวตายมากถึง 18 คำ
โดยส่วนใหญ่ต้องการหาวิธีในการฆ่าตัวตาย
ในรูปแบบต่างๆ
- (รูปมือสีเขียว) คือสิ่งที่บ่งบอกถึงการพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ต่อมา
ผมขอเดินกลับไปดูที่ประเทศญี่ปุ่นกันสักนิด
โดยคำว่า"自殺" (ฆ่าตัวตาย)
ค้นหาตั้งแต่ปี 2004 ประเทศญี่ปุ่น
(5)
(5)
และภาพใหญ่ทั้งหมดของการค้นหา
มีสิ่งที่แสดงให้เห็นการเชื่อมโยง อาทิ...
1.การฆ่าตัวตายด้วยการกระโดด, การแขวนคอ, การใช้สารเคมี เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า/ก๊าซเฉื่อย/ก๊าซพิษ)*
(*เพิ่มเติม ในปี 2551 ได้เกิดพฤติกรรมการฆ่าตัวตายด้วยการรมก๊าซพิษ โดยการใช้ผงซักฟอกและเกลืออาบน้ำ ซึ่งเป็นวิธีฆ่าตัวตายที่มีการเลียนแบบกันเป็นอย่างมากในญี่ปุ่น ณ ช่วงเวลาดังกล่าว)
2. มีสิ่งบอกเหตุถึงแรงจูงใจ อาทิ การถูกรังแก, การถูก Bully จากที่โรงเรียน, โรคซึมเศร้า
3. มีคำอย่าง Attempt การพยายามที่จะฆ่าตัวตาย
4. ข่าวการฆ่าตัวตายของไอดอลญี่ปุ่น
ทั้งหมดนี้ผมสนใจอยู่ 2 คำคือ
- incident (อุบัติการณ์) คือสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด และนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ (ทำนอง...ตั้งใจทำ แต่ให้เหมือนเป็นอุบัติเหตุ)
และอีกอันนึงคือ...
- internet suicide pact มันคือการฆ่าตัวตายหมู่ครับ เป็นการทำข้อตกลงการฆ่าตัวตายที่มีการเจรจากันบนอินเทอร์เน็ต ระหว่างคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน*
(*เพิ่มเติม ในปี 2546-2547 การฆ่าตัวตายหมู่ในญี่ปุ่นมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการพบปะกันทางอินเทอร์เน็ต และได้วางแผนฆ่าตัวตายหมู่ผ่านเว็บไซต์เฉพาะกลุ่ม โดยกำหนดรูปแบบ, สถานที่ และวันเวลา อย่างแน่ชัด )
นี่คือ...ของประเทศญี่ปุ่น
ส่วนในบ้านเรา
ผมขอใช้ข้อมูลจาก"กู๋"และข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตมาประกอบกัน
ผมจะใช้คีย์เวิร์ด 2 คำ
คำแรกคือ"อยากตาย"
ค้นหาตั้งแต่ปี 2004 เฉพาะประเทศไทย
(6)
(6)
"อยากตาย" มีจุดพีคในเดือนกันยายน ปี 2554
เมื่อกลับไปค้นเหตุการณ์ในช่วงเดือนกันยายน ปี 2554 ก็พบว่า...
เป็น timeline ของเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในปี 2554
และมีวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายน(ของทุกปี)
ผมลองค้นในลึกเข้าไป แต่กลับไม่พบความเชื่อมโยงกัน แต่ประการใด
ส่วนจังหวัดที่นิยมค้นหาคือ...
กรุงเทพ / เชียงใหม่ / ชลบุรี
ต่อมา...
เรามาดูหัวข้อที่เกี่ยวข้องในฝั่งซ้ายมือ
ซึ่งโดยรวมแล้ว ก็ไม่ได้แอดวานซ์เท่ากับหัวข้อของทั่วโลก และของประเทศญี่ปุ่นสักเท่าไหร่นัก
(ทั้งสองอันบ่งชี้ให้เห็นถึงวิธีการฆ่าตัวตาย)
และเมื่อเชื่อมโยงคำในหัวข้อที่เกิดขึ้น อาทิ
ความตาย+หัวใจ+ชีวิต+การกอด+ความเศร้า+เหตุผล
เมื่อนำทุกคำมาตีความร่วมกัน...
เป็นไปได้มั้ย...
สาเหตุที่เป็นแรงจึงจูงใจในการฆ่าตัวตายในบ้านเรา
ส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุมาจากปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ (ในวงใน)
ไม่ว่าจะเป็นกับคนในครอบครัว พ่อ แม่ สามี ภรรยา
(ไม่ใช่วงนอก อาทิเช่น สังคม คนรู้จัก เพื่อนเรียน เพื่อนร่วมงาน )
เราลองดูจากการค้นหาคำว่า"อยากตาย"
ในบล็อกสี่เหลี่ยมของ"กู๋"ดูนะครับ
มีคำที่สัมพันธ์กันแบบอัตโนมัติคือ...
- ไม่อยากอยู่แล้ว
- อยากหลับ ไม่ตื่น pantip
- ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ควร ทำอย่างไร
- เมื่อ รู้สึกไม่อยากมีชีวิต
- เหนื่อยกับการมีชีวิตอยู่
- ลักษณะ คน คิดสั้น
- ถ้าไม่อยากมีชีวิตอยู่
- รมควันตัวเอง pantip
ผมสนใจคำว่า"รมควัน pantip"
จึงสืบค้นเข้าไปดูก็ถึงกับตกใจ!
มีคำถามที่ดูเหมือนจะต้องการคำตอบอยู่มาก ในเรื่องของการฆ่าตัวตายด้วยวิธีนี้
มีการแนะนำอุปกรณ์ที่เรียกว่า suicide bag หรือ exit bag อีกด้วย
ผมขอไม่ขยายต่อนะครับ
เพราะมันไม่ใช่เรื่องบันเทิงเอาเสียเลย
(เพราะทำไปก็เครียดไปเหมือนกัน ไม่ไหว...)
ต่อมา...
เรามาดูคำค้นหายอดนิยมกันที่เชื่อมโยงกับคำว่า"อยากตาย" ซึ่งผมได้จำแนกมาดังนี้...
(7)
(7)
ใน 25 คำค้นหา
1. มีคำที่บ่งบอกแรงจูงใจทั้งสิ้นเพียง 6 คำ
2. มีคำที่เกี่ยวข้องกับเพลงมากอยู่ถึง 15 คำ
แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ไม่มีชุดคำที่บ่งบอกถึงการยับยั้งเหตุ เหมือนของทั่วโลกและของประเทศญี่ปุ่น แต่อย่างใด
ในส่วนของเพลงที่เกี่ยวข้องในคำค้นหานี้
ผมลองสืบค้นลึกลงไป ก็จะมีคอนเทนต์ประเภท 10 เพลงฆ่าตัวตาย, เพลงต้องห้ามของคนฆ่าตัวตาย บลา บลา บลา
ซึ่งผมคิดว่า มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินกว่าที่จะนำมาวิเคราะห์กันได้
(*เพิ่มเติม มีคำอย่าง หนอน ตาย อยาก ซึ่งเป็นการสะกดคำผิดในการค้นหา คำที่ถูกต้องคือ หนอน ตาย หยาก เป็นพืชชนิดหนึ่ง)
มีคำที่น่าสนใจคือคำว่า"เบื่อ"
และเมื่อผมค้นเข้าไปดู ก็พบว่า...
"เบื่อ"คือต้นเหตุของอาการซึมเศร้า
หากมีความรู้สึกเช่นนี้สะสมเป็นเวลานานๆ
เราลองดูจากการค้นหาคำว่า"เบื่อ"
ในบล็อกสี่เหลี่ยมของ"กู๋"ดูสิครับ
เมื่อเสิร์ชคำว่า"เบื่อ"
"กู๋"จะแสดงผลคำถัดมาคือ"เบื่อชีวิต"ทันที!
ต่อมาผมขอใช้คีย์เวิร์ดอีกหนึ่งคำ
คือ"ฆ่าตัวตาย"
ค้นหาตั้งแต่ปี 2004 เฉพาะประเทศไทย
(8)
(8)
"ฆ่าตัวตาย"
มีจุดพีคในเดือนธันวาคม ปี 2553
เมื่อกลับไปค้นเหตุการณ์ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2553 ก็พบว่า...
เป็นข่าวเหตุการณ์การกระโดดตึกฆ่าตัวตายของนักศึกษา ม.เกษตรศาสตร์
และยอดแหลมอันที่ 2 คือ ข่าว“สิงห์” มือกีตาร์วง “สควีซ แอนิมอล” กระโดดตึกฆ่าตัวตาย ในเดือนกรกฏาคม ปี 2558
ต่อมา...
เรามาดูหัวข้อที่เกี่ยวข้องในฝั่งซ้ายมือมีคำอย่าง...
ความเศร้า+การฆ่าคน+โรคซึมเศร้า+ความซึมเศร้า+กระโดด
ซึ่งดูจะสัมพันธ์กับข่าวทั้งสองที่กล่าวมา
ต่อมา...
เรามาดูคำค้นหายอดนิยมกันที่เชื่อมโยงกับคำว่า"ฆ่าตัวตาย" ซึ่งผมได้จำแนกมาดังนี้...
(9)
(9)
ใน 25 คำค้นหา
1. มีคำที่บ่งบอกแรงจูงใจทั้งสิ้นเพียง 7 คำ
(มีคำที่บ่งบอกถึงวิธีฆ่าตัวตายด้วยการกินยา, ยาฆ่าตัวตาย)
2. มีคำที่น่าสนใจอย่าง ฆ่า ตัว ตาย pantip ซึ่งเมื่อสืบค้นเข้าไปดูก็พบว่า...มีการแชร์ประสบการณ์การฆ่าตัวตาย, การให้กำลังใจ, การบ่งบอกถึงการอยากฆ่าตัวตาย รวมอยู่ปะปนกันไป
cr : google & pantip
ต่อมา...
3. มีคำมีคำที่เกี่ยวข้องกับข่าวการฆ่าตัวตาย 7 คำ
4. มีคำมีคำที่เกี่ยวข้องกับความฝันในเรื่องตายอยู่ 4 คำ
คราวนี้เราลองดูมาข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตกันบ้าง ผมเลือกดูข้อมูลโดยรวมตั้งแต่ปี 2540 - 2561 และนี่คือผลลัพธ์ที่ได้...
(10)
(10)
จากกราฟอัตราการฆ่าตัวตาย
พุ่งสูงขึ้นในปี 2540 จนถึง ปี 2545
มันคือช่วงเหตุการณ์วิกฤติ"ตุ้มยำกุ้ง"นั่นเอง
ต่อมา...
คือการลงลึกถึงข้อมูลของแต่ละจังหวัด
(11)
(11)
กราฟแรก(บน)คือ 10 อันดับจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด ตั้งแต่ปี 2547 - 2561
ส่วนกราฟที่สอง (ล่าง ไฮไลท์สีแดง)
คืออัตราการฆ่าตัวตายในจังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งดูจะเชื่อมโยงกับการค้นหา"อยากตาย"ดังที่กล่าวมาข้างต้น และตั้งแต่ปี 2547 - 2561
จังหวัดเชียงใหม่ไม่เคยหลุดจากลิสต์ 10 อันดับเลย
และเมื่อผมลองย่อยลงไปอีก
ก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจบางอย่าง
(12)
(12)
ข้อมูลกำลังบอกเราว่า 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด
(จากไฮไลท์แถบสีเหลือง)
แม่ฮ่องสอน / เชียงราย / เชียงใหม่ / ลำปาง / ลำพูน / พะเยา / น่าน / แพร่
และอันดับที่ 1 ที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด
คือจังหวัด...ลำพูน
(เมื่อเปรียบต่อประชากร 1 แสนคน)
มาถึงตรงนี้
ผมยังติดใจกับอัตราการฆ่าตัวตาย
จากกรมสุขภาพจิต ที่ขัดแย้งกับผลการค้นหาคำ นั่นคือ ไม่มีกรุงเทพติดอันดับอยู่บนลิสต์เลย
เมื่อสืบค้นเข้าไปดู ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจ
เป็นบทสัมภาษณ์ของ นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ (ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต) สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย คุณกฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ผมขอสรุปแบบถอดความ มาให้ดังนี้...
1. ตัวเลขการฆ่าตัวตายของเรา
เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากทั่วโลกถือว่า ยังต่ำอยู่ เราอาจจะเคยสูงเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว (วิกฤติต้มยำกุ้ง) แต่หลังจากนั้นก็ลดลงมาเรื่อยๆ
2. คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยปี 4,000 คน ซึ่งจำนวนนี้สูงกว่าการตายด้วยโรคไข้เลือดออกและโรคอื่นๆ การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายผิดธรรมชาติที่สูงเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ คนไทยฆ่ากันตายน้อยกว่าฆ่าตัวตายเอง ประมาณ 3-4 เท่า
3. เรามีแบบสำรวจทางระบาดวิทยาที่กรมสุขภาพจิตดำเนินการอยู่ก็สามารถระบุได้พอสมควรว่า ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมีปัจจัยของปัญหาด้านความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด กับคนในครอบครัว การทะเลาะเบาะแว้ง การถูกตำหนิติเตียน หรือการถูกด่าว่าอย่างรุนแรง ก็เป็นปัจจัยที่เราพบก่อนการฆ่าตัวตาย
(นั่นคือข้อมูลที่ผมได้ในตอนต้น)
ภาพใหญ่ที่เชื่อมโยงคำในหัวข้อของคำว่า"อยากตาย"
4. ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จก็พบว่ามีปัจจัยด้านโรคซึมเศร้า ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์พบปัจจัยด้านโรคจิตเภท ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์พบว่ามีปัญหาการดื่มสุราร่วมด้วย แล้วก็ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์พบว่าเป็นการฆ่าตัวตายซ้ำ หมายถึงว่าเคยทำร้ายตัวเองมาก่อน แต่ไม่สำเร็จ มาสำเร็จเอาครั้งนี้ และผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จที่เป็นการฆ่าตัวตายซ้ำส่วนใหญ่ทำร้ายตัวเองซ้ำในช่วงเวลา 1 ปีหลังการกระทำครั้งล่าสุด
5. ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง 4 เท่า เป็นอย่างนี้เหมือนกันทุกปี และเรื่องที่แปลกคือ ผู้หญิงจะมีการพยายามทำร้ายตนเองสูงกว่าผู้ชายประมาณ 3-4 เท่า แต่ผู้ชายทำสำเร็จมากกว่า
6. ส่วนอายุ ถ้านับเป็นจำนวน วัยทำงานเป็นช่วงที่พบการฆ่าตัวตายสูงที่สุดเพราะคนวัยทำงานมีเยอะ แต่ถ้านับเป็นอัตราต่อแสนปรากฏว่าอัตราจะสูงอยู่ที่วัยสูงอายุ อย่างปี 2561 เราพบว่ากลุ่มอายุที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดคือช่วงอายุ 70-74 ปี
7. ผู้สูงอายุชายเลือกวิธีการที่มีความรุนแรงสูง เลือกวิธีการที่มีอัตราความสำเร็จ และเราพบว่าผู้สูงอายุเวลาฆ่าตัวตายจะมีความเด็ดเดี่ยวอยู่พอสมควรเมื่อเทียบกับวัยอื่นๆ บางครั้งพบว่ามีการวางแผน ในแบบสำรวจทางระบาดวิทยาพบว่ามีปัจจัยการเป็นโรคเรื้อรังทางกาย เป็นปัจจัยที่นำมาอันดับ 2 รองจากเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว
8. ปัจจัยที่เราพบใหญ่ๆ คือปัญหาจากคนใกล้ชิด ปัญหาในครอบครัว ถัดมาเป็นปัจจัยการเป็นโรคซึมเศร้า ถัดมาคือปัจจัยด้านโรคจิตเภท ถัดมาอีกเป็นปัญหาด้านการดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม บางคนเราพบปัญหาการว่างงานซึ่งโยงอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม แต่แน่นอน ไม่มีใครที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเพราะปัจจัยเดียวคือว่างงาน คนคนหนึ่งจะมีหลายปัจจัยเสมอ
9. การฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอมาเป็นอันดับ 1 (70-80 เปอร์เซ็นต์) คนไทยใช้วิธีแขวนคอ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ใช้วิธีกินยากำจัดศัตรูพืช/ยาฆ่าแมลงซึ่งถือว่าไม่น้อยทุกภูมิภาคในประเทศไทยแขวนคอมากที่สุด ตรงกัน แต่การกินยากำจัดศัตรูพืช/ยาฆ่าแมลงเราพบว่าไม่เท่ากัน เราพบว่าภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนเป็นภาคที่คนฆ่าตัวตายโดยใช้ยากำจัดศัตรูพืช/ยาฆ่าแมลงสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ
( 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน )
10. ถ้าดูตามสถานที่ กรุงเทพฯ มีคนภูมิลำเนาอื่นฆ่าตัวตายมาก ผมว่าโดยสามัญสำนึกเข้าใจได้ แล้วก็จังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่หลักๆ เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น ชลบุรี จังหวัดที่มีการย้ายภูมิลำเนาเข้ามาทำงานมากๆ ก็สามารถเข้าใจได้ แต่พอไปดูอัตราการฆ่าตัวตายของจังหวัดนั้นๆ กลับไม่สูง เพราะหนึ่งก็คือจังหวัดนั้นอาจมีประชากรมาก พอคำนวณอัตราแล้วก็อาจดูไม่สูง สองก็คือการคิดอัตราฆ่าตัวตายในปัจจุบัน เรายังคิดตามทะเบียนบ้าน สมมติคนอุดรฯ มาทำงานอยู่กรุงเทพฯ ได้ 3 เดือน ยังไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน แล้วตัดสินใจฆ่าตัวตายที่กรุงเทพฯ บางทีเลขอาจไม่ได้ขึ้นที่กรุงเทพฯ ทำให้เราไม่สามารถคำนวณโดยใช้สถานที่ตายได้ทั้งหมด
(และข้อสงสัยของผมก็หมดไป)
อ้างอิงข้อมูลและบทสัมภาษณ์จาก
เมื่อดูข้อมูลทั้งหมดจบ
จึงมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า...
"วิกฤติโควิด
จะซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้งหรือไม่"
"มีโอกาสที่วิกฤติโควิดจะทำให้คนฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นหรือไม่"
ผมก็ตอบไม่ได้...
แต่เมื่อเห็นข้อมูลในบทความนี้
ผมก็เห็นบางอย่างที่พอจะ"กลั่น"ออกมา
เพื่อช่วยบรรเทากันในยามวิกฤตินี้
นั่นคือ"กำลังใจจากคนในครอบครัว"
น่าจะเป็นยาบำรุงหัวใจชั้นดี
ที่ผลิตได้ก่อนวัคซีน
ในสภาวะวิกฤติเช่นนี้
อย่างที่ผมเคยบอกไป...
เราต้องมีชีวิตอยู่
เพื่อรอดู"จุดจบ!!!"
...ของไอ้ไวรัสโควิดบ้าๆนี่ให้ได้
มันก็น่า"สะใจชีวิต!!!"
ในชาติภพนี้...อยู่ไม่น้อย!!!
มารอดูไปพร้อมๆกันครับ
โพสต์ยาวและเครียด
ขอจบลงเพียงเท่านี้...
ขอให้กัลยาณมิตร ทุกท่าน
อยู่รอดและปลอดภัย
ขอบคุณทุกการติดตาม
❤️❤️❤️
ชอบ กดไลก์
ใช่ กดติดตาม
รับประกันจะสรรหาเรื่องราวข้อมูลใหม่ๆ
มาให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้ต่อยอดทางความคิดกันตลอดครับ
ขอบพระคุณผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน
DATAพาเพลิน
DATAPAPLEARN
***หมายเหตุ DATA ข้อมูลที่เกิดขึ้นในโพสต์นี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลคำค้นหาบนแพลตฟอร์มของกูเกิ้ลอย่างเดียวเท่านั้น ข้อมูลและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากการรวบรวมและบันทึก ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ผู้เขียนและทีมงาน DATA พาเพลิน มีเจตนารมณ์เพื่อให้ชุดข้อมูลดังกล่าว เกิดการต่อยอดทางความคิดแก่ผู้อ่าน ไม่ได้มีความประสงค์จะชี้นำในเรื่องใดๆแต่อย่างใด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา