29 เม.ย. 2020 เวลา 09:38 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การทดลองที่ยาวนานที่สุด กับการไหลของพิตช์ (pitch)
ในปี ค.ศ. 1927 โทมัส พาร์เนล (Thomas Parnell) ได้เริ่มทำการทดลองที่อาจเป็นการทดลองที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยศาสตราจารย์พาร์เนลต้องการที่จะสาธิตการทดลองนี้ให้กับนักศึกษาวิชาฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อที่จะให้เห็นถึงคุณสมบัติที่น่าสนใจของ พิตช์ (pitch) ที่ได้มาจากน้ำมันดิน
โดยพิตช์มีสมบัติหยุ่นหนืด (viscoelastic) คือมันจะแยกออกจากกันได้ถ้ามีแรงมากพอ แต่ก็มีสมบัติเหมือนของเหลวหนืดที่ไหลได้ช้ามากๆ
ในการทดลองนี้พาร์เนลได้ให้ความร้อนไปยังตัวอย่างพิตช์เพื่อที่จะทำให้สามารถเทลงในกรวยได้ และส่วนของกรวยกับบีกเกอร์ที่ใช้รองหยดของพิตช์จะถูกครอบไว้ด้วยขวดแก้วรูประฆัง เขาได้นำมาวางไว้นอกห้องบรรยาย หลังจากนั้นทุกคนก็เฝ้าดูการทดลองนี้
แต่ปรากฏว่า หยดแรกของพิตช์ได้หยดลงเมื่อเวลาผ่านไป 8-9 ปี โดยที่ไม่มีใครได้เห็นตอนที่มันหยดลงมา อัตราการหยดยาวนานถึงประมาณ 1 หยด ต่อ 10 ปี โดยที่ไม่มีใครได้เห็นจนกระทั่งมันหยดไปสามหยดแล้ว
หลังจากหยดที่สามหยดลงได้ประมาณ 2-3 ปี ศาสตราจารย์จอห์น เมนสโตน (Prof.John Mainstone) ได้เป็นผู้ที่รับดูแลการทดลองนี้ต่อจากพาร์เนล โดยหลังจากที่เขาดูแลการทดลองนี่ไปได้ 52 ปี ซึ่งมันหยดเพิ่มไปอีก 5 หยด แต่เขาก็ไม่สามารถเห็นหยดทั้งห้าเลยในช่วงเวลานั้น รวมถึงหยดสุดท้าย คือหยดที่แปดที่เขาใช้กล้องเว็บแคมตั้งไว้ แต่กล้องดันมีปัญหา จึงทำให้ไม่ได้เห็นตอนที่พิตช์กำลังหยด
ความหนืดของพิตช์ที่ใช้ในการทดลองนี้มีค่าประมาณ 2.3 x 10^8 Ns/m^2 ซึ่งช้ากว่ากากน้ำตาลประมาณ 60 ล้านเท่า และเป็นที่น่าเศร้ามากที่ศาสตราจารย์เมนสโตนเสียชีวิตก่อนที่จะได้เห็นหยดที่เก้าตกลงมา แต่ก็ได้มีการถ่ายทอดวิดีโอออนไลน์ไว้ในเว็บไซต์เพื่อเป็นการให้เกียรติต่อความเสียสละทุ่มเทของเขา
สรุปแล้วการทดลองนี้ใช้เวลายาวนานกว่า 80 ปีเลยทีเดียว
ตัวอย่างวิดีโอการทดลอง
อ้างอิง :
Raymond Chang. CHEMISTRY. 12th Edition. Copy right by McGraw-Hill International Enterprise LLC.
เรียบเรียง | JameCTP
โฆษณา