29 เม.ย. 2020 เวลา 14:34 • ธุรกิจ
วันนี้.. ไทยแอร์เอเชียเจ็บหนักที่สุด!
Source : K. Wuthivet
คุณธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ หรือคุณโจ หัวเรือใหญ่สายการบินไทยแอร์เอเชียบอกว่า "วิกฤติครั้งนี้ หนักที่สุดที่เคยเจอมา"
คำถามคือ หนึ่ง บริษัทจะเเก้ปัญหาอย่างไร?
เมื่อไม่บิน.. ก็ไม่มีรายได้เข้ามา ขายตั๋วไม่ได้ ขายของบนเครื่องไม่ได้ อาหาร น้ำหนักกระเป๋า ของที่ระลึก รวมถึงหลายๆ อย่าง ที่นำรายได้เข้ามามากกว่า 80% ของรายได้รวม
บริษัทลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายลงให้มากที่สุด สิ่งแรก คือ การลดเงินเดือนของพนักงานและผู้บริหารลงอยู่ราวๆ 10-75% ตามแต่ระดับชั้นความอาวุโส ถ้าใครได้เงินเดือนมาก % ลดลงก็มากหน่อย เเต่ไม่มีการปลดพนักงาน หรือ ลดเงินเดือนพนักงานระดับล่าง ยังคงต้องการรักษาพนักงานทุกคนไว้ให้ได้นานที่สุด เพราะ บริษัทยังคงมีเงินสดอยู่จำนวนหนึ่ง ณ ตอนนี้
การหยุดบินจะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าชั่วโมงบิน ค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาส่วนแปรผัน ค่าใช้จ่ายในสถานี
การเข้าทำธุรกรรมขายเครื่องบินและเช่ากลับ จำนวน 9 ลำ และขาย 1 ลำ ที่เพิ่งจบเคสตอนต้นปี ซึ่งมีเงินสดสุทธิที่ได้รับภายหลังการชำระคืนเงินกู้และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประมาณ 3,600 ล้านบาท ทำให้สามารถพยุงบริษัทไปได้อีกประมาณ 2-3 เดือน ถ้าเริ่มนับจากเดือนมีนาคม เมษายน ก็รวมๆ 2 เดือนแล้ว
1
คุณโจยังบอกว่า ธุรกิจนี้มีต้นทุนคงที่ ที่สูงมาก คือ เครื่องยนตร์ ตัวเครื่องบิน (สองตัวนี้ราคาพอๆ กัน) เเละเงินเดือนพนักงาน โดยเฉพาะนักบินกับวิศวกร เป็นทรัพยากรที่มีราคาเเพงมากในการทำธุรกิจสายการบิน
กลยุทธ์ของเเอร์เอเชีย คือ low price (ราคาไม่แพง ใครๆ ก็บินได้) เน้นเรื่อง volume ถ้า volume หายไป กำไรจะมีปัญหาทันที เพราะ margin ต่ำ
สอง อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาได้จริงหรือ? และเมื่อไหร่?
คุณธรรศพลฐ์คาดการณ์ว่า 30% น่าจะเป็นช่วงเดือนกันยายน 50% น่าจะเป็นช่วงต้นปีหน้า และ 100% น่าจะเป็นหนึ่งปีนับจากนี้
การบินหลังโควิด จะต้องมีเรื่อง Social Distancing ซึ่งที่นั่งจะต้องหายไปอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งจะต้องเว้นที่ว่างตรงกลางของที่นั่งเอาไว้ ขายตั๋วที่นั่งได้แค่ริมหน้าต่าง และริมทางเดิน) ทำให้ต้องมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างเเน่นอนในธุรกิจการบิน จะไม่เห็นสงครามราคาแน่นอนหลังจากนี้ เพราะต่างคนก็ต่างเจ็บตัวกันมา ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ลดลงตั้งแต่ปีถึงสองปีที่แล้ว จนมาเจอกับ Covid-19 ที่หยุดทุกอย่าง
ซึ่งแน่นอน ราคาก็อาจจะปรับขึ้นเล็กน้อย สมมุติเที่ยวบินในประเทศ ราคา 1,200 บาท อาจจะปรับเป็น 1,400 - 1,450 บาท ซึ่งก็ยังเป็นราคาที่สมเหตุสมผล เพราะ ทางสายการบินมีต้นทุนในการบินต่อ 1 เที่ยว อีกทั้งยังขายตั๋วได้ไม่เต็มเครื่องหลังจากกลับมาบิน
ซึ่งคงต้องดูเป็นระยะๆ ไป สำหรับความต้องการในการบิน เบื้องต้น น่าจะเปิดเที่ยวบินในประเทศก่อน แต่ก็ต้องติดตามข่าวจากรัฐบาลหากจังหวัดไหนยังมีการปิดเมืองอยู่ เราก็ยังบินไม่ได้
เป็นข้อคิดของมืออาชีพ ทำธุรกิจจริง คิดเผื่อพนักงาน น่าสนใจไม่น้อยครับ เพราะธุรกิจ Hospitality การท่องเที่ยว การบริการ สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โดนผลกระทบก่อนใครเพื่อน เราคงต้องมาติดตามกันต่อไป ว่าบททดสอบใหญ่ ครั้งนี้ ไทยแอร์เอเชีย และ ไทยแอร์เอเชีย X จะสามารถฟันฝ่ากับมรสุมลูกนี้ไปได้หรือไม่..
1
Reference:
K. Wuthivet : Head of BP - Finance and Asset Management
The Standard : The Secret Sauce
โฆษณา