Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิรติ กีรติกานต์ชัย
•
ติดตาม
30 เม.ย. 2020 เวลา 10:55 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เทคนิคถ่ายภาพ-สังเกตการณ์ฝนดาวตกให้ "ปัง"
ฝนดาวตกคนคู่ Geminids meteor shower ณ อช.ดอยอินทนนท์ ภาพโดย วิรติ กีรติกานต์ชัย
1.รู้จักความหมาย
ฝนดาวตกคือกระแสธารฝุ่นที่มีต้นกำเนิดจากดาวหางและดาวเคราะห์น้อยที่โคจรตัดผ่านเส้นทางโคจรของโลก
แล้วตกลงด้วยแรงดึงดูดของโลก เกิดการเผาไหม้เป็นลูกไฟสว่างในชั้นบรรยากาศ
Animation ของต้นกำเนิดฝนดาวตกจาก www.amsmeteors.org
2.ชื่อและที่มา
ฝนดาวตกมีชื่อเรียกลงท้ายว่า -ids -อิสด์ ฝนดาวตกที่มีศูนย์กลางการกระจายมาจากกลุ่มดาพื้นหลังใด ก็จะได้ชื่อต้นเรียกตามกลุ่มดาวนั้นแล้วลงท้ายด้วย-อิสด์ เช่น ฝนดาวตกที่มีศูนย์กลางการกระจายจากกลุ่มดาวคนคู่ Gemini จะมีชื่อว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids) ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ Perseids มีศูนย์กลางการกระจายจากกลุ่มดาวเพอร์เซอุส (Perseus) เป็นต้น
สายธารสะเก็ดดาวมีมากมายอยู่ทั่วระบบสุริยะ Image credit : Accuweather.com
รู้จักกลุ่มดาวสากล 88 กลุ่มดาว
https://www.iau.org/public/themes/constellations/
แผนที่เฉพาะกลุ่มดาว แสดงชื่อ รายละเอียด ความสว่างและตำแหน่ง
3.สถานที่ เวลาและฤดูกาล
สถานที่เหมาะสม คือสถานที่มืดสนิทปราศจากแสงรบกวน เมฆหมอก ควัน เวลาที่เหมาะสมคือช่วงเวลาของคืนเดือนมืดหรือก่อนจันทร์ขึ้นหรือหลังจันทร์ตกหรืออย่างน้อยศูนย์กลางการกระจาย Radiant ไม่ร่วมทิศกับแสงและอุปสรรคในการติดตามฝนดาวตก ฤดูฝนในประเทศไทยจะมีเมฆฝนเป็นอุปสรรค ให้ติดตามพยากรณ์อากาศ ล่วงหน้า หากปลอดภัยในวันที่ฝนดาวตกพีคจะได้ชมปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์นี้กันหรืออาจขยับขยายไปชมไปถ่ายภาพฝนดาวตกในต่างประเทศที่ปลอดฝนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี
ดาวตกตัดผ่านกลุ่มดาวนายพราน
4.ตัวช่วยที่ใช้ได้ดี
เช็ควันเวลาฝนดาวตกแต่ละชุดจากเว็ปไซต์
www.timeanddate.com
วางแผนแล้วชวนกันออกไปชมไปถ่ายภาพกัน
https://www.timeanddate.com/astronomy/meteor-shower/
www.timeanddate.com เป็นเว็ปไซต์ตัวช่วยที่ง่ายและแม่นยำ
มีแบบจำลองการกระจายของฝนดาวตกพร้อมตำแหน่งอ้างอิง
5. ความถี่ ***
ความถี่ในการตกสู่ชั้นบรรยากาศของฝนดาวตก ZHR มีปัจจัยจาก ขนาด เส้นทางและคาบของต้นกำเนิด ส่งผลปริมาณฝุ่นบนเส้นทางโคจรของโลก
เช่น ฝนดาวตกเจมินิดส์มีความถี่สูงสุด 120-150 ดวงต่อชั่วโมงก็เพราะคาบของวัตถุต้นกำเนิดคือดาวเคราะห์น้อย 3200 Phaethon มีคาบสั้นเพียงสี่ปีเศษ หมายความว่าดาวเคราะห์น้อยนี้จะมาเติมอนุภาคฝุ่นบนเส้นทางโคจรของทุกทีสี่ปีนั่นเอง ในขณะที่ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ (นายพราน) มีกำเนิดจากดาวหางฮัลเลย์ซึ่งมีคาบ 76 ปี แม้ว่าดาวหางฮัลเลย์จะมีขนาดใหญ่มาก แต่ด้วยคาบที่ยาวนาน ทำให้ฝนดาวตกกลุ่มดาวนายพรานนี้มีค่อยๆมีอัตราการตกลดลงเรื่อยๆจากปี คศ. 1986 (พ.ศ.2529) เป็นปีล่าสุดที่ดาวหางฮัลเลย์มาเยือนโลก
หลายหน่วยงานได้จัดทำปฏิทินฝนดาวตกโดยอ้างอิงจากองค์การอุตกาบาตสากล
ปัจจุบันอัตราการตกสูงสุดประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมงฝนดาวตกที่น่าตื่นตาตื่นใจคือฝนดาวตกที่อัตราการตกหนาแน่น โดยเราสามารถตรวจสอบได้จากหน่วยงานต่างๆ ที่เก็บข้อมูลและสร้างแบบจำลองเช่น IMO / AMO / NASA
/สมาคมดาราศาสตร์ไทยและสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์กรมหาชน) โดยให้สังเกตจากอัตราตกสูงสุด(PEAK) ว่ามีจำนวนเท่าไหร่และในเวลาใดเพราะหลายครั้งที่เวลาที่ตกสูงสุดเป็นช่วงเวลา(ท้องถิ่น)กลางวัน ช่วงกลางคืนจึงมีอัตราการตกน้อยลงกว่าจนทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้
ฝนดาวตกหลักในแต่ละปีจะมีอยู่ 10-12 ชุดตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม
Download ปฏิทินฝนดาวตก 2020
โดย IMO
https://www.imo.net/files/meteor-shower/cal2020.pdf
Download คู่มือฝนดาวตก 2563
โดย อจ.พงศธร กิจเวช
https://1drv.ms/b/s!AqZMZTCy63wqtTCG0wRjJjFh5Guw
บรรยากาศกิจกรรมฝนดาวตก ณ สถานีเรดาร์ อช.ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
6.ความเร็ว ทิศทางและความสว่าง
ความเร็วของฝนดาวตกแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ฝนดาวตกที่มีความเร็วสูงจะยากต่อการสังเกตคือดูไม่ทัน ให้ลองทำสองวิธีดูคือ
6.1.นอนบนพื้นราบ มองตรงและ สังเกตช่วงที่ศูนย์กลางกระจายอยู่สูงจากขอบฟ้ามากที่สุดคืออยู่ใกล้จุดจอมฟ้า Zenith
6.2.อาจมองในทิศตรงข้ามกับศูนย์กลางการกระจาย ดาวตกลูกโตๆ อย่างไฟร์บอลจะช้าลงเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศเข้ามา จึงมีโอกาสที่้ราจะสังเกตได้
ชัดเจนและถ่ายภาพได้สวยงาม
สำหรับความสว่างเรามาตรฐานเดียวกันกับการสังเกตวัตถุท้องฟ้าคือหน่วย โชติมาตร (Magnitude) ตัวเลขเริ่มจากลบ(สว่างมากที่สุด) ไปถึงบวก(สว่างน้อยที่สุด)
เริ่มจากดวงอาทิตย์มีอันดับความสว่าง -26.74 ดวงจันทร์เต็มดวง -12.74 ดาวซิเรียส(ซิริอุส) -1.42 ดาราจักรแอนโดรเมดา 3.44 สายตาคนปกติสามารถมองเห็นวัตถุที่มีอันดับความสว่างได้มืดที่สุดประมาณ 6 ดาวตกที่มีอันดับความสว่างมากกว่า -3 เราเรียกลูกไฟหรือ Fireball พวกที่ระเบิดกลางอากาศนั้นเรียกว่า Bolideและ Superbolide อาจเห็นได้แม้เป็นเวลากลางวัน
อันดับความสว่าง Apparent Magnitude
7.สีสันของฝนดาวตก
ขึ้นอยู่กับธาตุและสารประกอบในอนุภาคฝุ่นและหินนั้นว่าประกอบด้วยอะไร เมื่อเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศแล้วได้สีของสเปคตรัมของธาตุนั้นดังนี้
* สีเหลืองเกิดจากเหล็ก (iron)
* สีแสดหรือสีเหลืองเกิดจากโซเดียม (sodium)
* สีม่วงเกิดจากโพแทสเซียม (potassium)
* สีแดงเกิดจากซิลิเกต (silicate)
* สีน้ําเงินหรือสีเขียวเกิดจากทองแดง (copper)
หากสภาพอากาศดี ฟ้าเปิด ปราศจากมลภาวะทางแสง เราอาจเห็นสีสันอันสวยงามของฝนดาวตกได้
8.การถ่ายภาพฝนดาวตก
อุปกรณ์
-กล้อง DSL/Mirrorless/CCD camera
-เลนส์มุมกว้าง/แคบ รูรับแสงกว้าง
-ขาตั้งกล้องที่แข็งแรง
-สายลั่นชัตเตอร์หรือไทม์เมอร์ (Timer)
-มอเตอร์ตามดาว(Optional)
-แผ่นไล่ฝ้า
-Memory card / Powerbank / Camera battery
ดาวตกเป็นปรากฏการณืธรรมชาติ ส่วนเส้นแสงดาวเกิดจากการถ่ายภาพสะสมเวลาต่อเนื่อง จุดของดวงดาวจะต่อเชื่อมเป็นเส้นแสง
การถ่ายภาพ
-ถ่ายภาพฉากหน้าไว้จำนวนหนึ่ง 10-20 ภาพ ด้วย ISO ต่ำ 800-1600 ก่อนหรือหลังการถ่ายฝนดาวตก เพื่อทำ Stacking ฉากหน้าที่มีคุณภาพ
อาจถ่ายฉากหน้าเป็น Panorama เพื่อให้ได้บริเวณท้องฟ้ามุมกว้างเพื่อรองรับการกระจายของฝนดาวตกที่ศูนย์กลางการกระจายจะเคลื่อนตัวไปตามทรงกลมฟ้า
-จัดองค์ประกอบตามต้องการ โดยทั่วไปให้เล็งที่ไปศูนย์กลางการกระจาย Radiant
-กรณีไม่ใช้มอเตอร์ตามดาว ถ่าย Exposure -15-20 วินาที ถ่ายต่อเนื่อง ด้วย ISO สูง 2000-6400 ตามความเหมาะสม จำเป็นต้องใช้ ISO สูงเพื่อเก็บภาพดาวตกที่มีความสว่างน้อยหรือมีขนาดเล็ก
-กรณีใช้มอเตอร์ตามดาวอาจลด ISO ลงแต่เพิ่ม Exposure(Speed shutter) เป็น 120-300 วินาทีตามความเหมาะสม ถ่ายต่อเนื่องเช่นนั้น
-กรณีมีความชื้นให้ใช้แผ่นความร้อนไล่ฝ้า ติดตั้งที่เลนส์ก่อนถ่ายภาพ
-ถ่ายภาพด้วย Raw file / 14 bit depth
-White balance : 4000-5000 หรือ Auto WB
เส้นแสงดาวเหนือพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ กองทัพอากาศ อช.ดอยอินทนนท์
การโพรเซสภาพ
1.รวมภาพฉากหน้าทั้งมุมกว้างปกติหรือพาโนรามา
2.รวมภาพท้องฟ้า
3.รวมภาพฉากหน้ากับท้องฟ้าเข้าด้วยกัน ใช้เทคนิค Mask Layer
4.นำภาพฝนดาวตกจากการถ่ายภาพจำนวนมากมาจัดวางตามจริงบนส่วนของท้องฟ้า ใช้เทคนิค Mask Layer
5.โพรเซสสีและรายละเอียด ใช้เทคนิค Luminosity mask
(รายละเอียดโปรดติดตามต่อไป)
ดาวตกระดับไฟร์บอล Fire ball มีความสว่างมาก หากเป็นโบลไลด์ Bolide จะมีการะเบิดกลางอากาศร่วมด้วย
ข้อมูล-ที่มา
www.imo.net
www.amsmeteors.org
www.space.com
www.iau.org/
คู่มือฝนดาวตก 2563 โดย อจ.พงศธร เวชกิจ
เรียบเรียงโดย
นายวิรติ กีรติกานต์ชัย
นักวิชาการอิสระด้านดาราศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
ผู้ประสานงานชมรมคนรักในดวงดาว
ผู้อำนวยการโรงเรียนเอกปัญญา
ฑูตสะเต็ม สสวท. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ
Expert Account :
Pantip.com
Etc.
กิจกรรมอบรมสังเกตการณ์และถ่ายภาพดาราศาสตร์ โดยชมรมคนรักในดวงดาว
2 บันทึก
14
8
1
2
14
8
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย