30 เม.ย. 2020 เวลา 12:06 • การศึกษา
เรียนภาษาอังกฤษทำไมยากจัง ไม่มีหลักการที่เข้าใจง่ายกว่านี้เหรอ มีค่ะ ^_^
8
เคล็ดลับการเรียนภาษาให้เข้าใจง่าย โดยส่วนตัวแล้วใช้วิธีนี้ค่ะ เราควรต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่เราต้องเรียนหรือทำความเข้าใจมีอะไรบ้างแล้วจัดหมวดหมู่ของมันให้ถูกต้องค่ะ จริงๆแล้วอยากจะบอกทุกคนว่า ไม่ว่าเรียนภาษาอะไรก็มีหลักการเบื้องต้นที่คล้ายๆ กันหมด คือ
1. เรียนรู้องค์ประกอบหลัก ถ้าเล่นเกมส์ก็คือต้องเรียนรู้หน้าที่และบทบาทของแต่ละตัวละครหลัก คือตัวที่ขับเคลื่อนเกมส์และเรื่องราว เรียนภาษาก็คือการเรียนรู้องค์ประกอบของภาษา (words, phrases, clauses, and sentences) และคำศัพท์นั่นเอง ในแทบทุกภาษาถ้าเราเข้าใจองค์ประกอบที่จำเป็นต้องมีในการประกอบกันขึ้นเป็นประโยค และจำศัพท์ได้ประมาณ 500 คำขึ้นไปก็พอสื่อสารได้แล้ว
2. เรียนรู้กฏกติกา ในเกมส์ยังต้องเรียนรู้เลยว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ ทำแบบไหนจะได้บูทเลเวล การเรียนภาษาเราเรียกกฏกติการการใช้ภาษาตรงนี้ว่าหลักไวยากรณ์(Grammar) หรือก็คือกฏการใช้ที่ตกลงกันไว้นั่นเอง
3. เรียนรู้วัฒนธรรมหรือแบบแผนการใช้ภาษานั้นๆตามบริบทของสังคมค่ะ นี่อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาษาไม่เหมือนการเรียนอย่างอื่นๆ เพราะเราไม่ควรลืมว่าภาษาคือเครื่องมือในการสื่อสารของคนในสังคมใดสังคมหนึ่ง มันย่อมมีรากฐานของความเชื่อและวิถีปฏิบัติ ของคนในสังคมนั้นๆโอบล้อมอยู่ ง่ายๆเลยผู้หญิงสวยของชาวตะวันตกกับเอเชียก็ไม่เหมือนกันแล้วค่ะ การชมว่าสาวสวยคนนี้น่ารักจัง ฝรั่งเค้าก็ไม่ใช้กัน คำว่า “น่ารัก” เค้ามักจะใช้กับเด็กมากกว่า เห็นไหมละคะว่าวัฒนธรรมหรือค่านิยมของสังคมหนึ่งๆ มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาในการสื่อสารมากเพียงใด
แล้วรู้อย่างใดอย่างหนึ่งในทั้ง 3 ข้อนี้ได้ไหม
ลองคิดตามดูว่า ถ้าเรารู้ว่าการสร้างประโยคในภาษาอังกฤษต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ประธาน(ผู้กระทำ)และกริยา(อาการของการกระทำ) เรารู้ศัพท์แค่ a dog, a cat, eat, go, sit, see, love, like
งั้นลองสร้างประโยคเลยแล้วกัน A dog eat. A cat love. (หมากิน, แมวรัก) ก็น่าจะได้อยู่นะ ^_^
ใครเรียนกฏการใช้ภาษามาก็จะแย้งว่าไม่ได้สิ ประโยคที่ไม่ครบความเค้าไม่จัดเป็นประโยค หมากินอะไรอะ แมวรักใครหรืออะไรอะ แล้วเขียนก็ไม่ตรงตามกฏการใช้ Tenses ใดๆเลย จะถูกได้อย่างไร
เห็นไหมละคะ นี่เป็นกรณีที่เรารู้แต่อย่างแรกไม่สนใจอย่างที่สอง ไม่ต่างอะไรกับการที่เราไปอยู่ต่างประเทศแต่ไม่สนใจเรียนกฏการใช้ภาษาของเค้า พอถามว่าทำไมใช้แบบนี้เราก็ตอบไม่ได้หรอก ที่เราสื่อสารได้เพราะได้ยินเจ้าของภาษาเค้าพูดอย่างไร ใช้อย่างไร ก็ใช้อย่างนั้น (เอ๋..แล้วถ้าเราไปเจอเจ้าของภาษาที่ใช้ผิดหล่ะ เราจะรู้ไหมเนี่ย ไม่รู้อะดิ 555)
เอาง่ายๆ ถ้ามีคนถามว่า Do you understand? กับ Are you understand? อันไหนถูก
ตอบได้ไหมเอ่ย...คนส่วนใหญ่จะบอกว่า...เดี๋ยวขอนึกก่อนนะอันไหนคุ้นหู ซวยหล่ะคนไทยส่วนใหญ่ใช้อันที่ 2 ฝรั่งจะบอกว่า Do you understand? ถูกค่ะ เพราะฉนั้นคราวหน้าก็ใช้ได้อย่างมั่นใจแล้วนะคะ **ทำไมถึงถูกนั้น มันเป็นเรื่องของกฏการใช้ Verbs และ Tenses ค่ะ เดี๋ยวเอาไว้มาเล่าครั้งต่อไปนะคะ**
1
จะเห็นได้ว่ากฏการใช้ภาษาหรือไวยากรณ์ (Grammar) จะมีความสำคัญในการช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมประโยคนี้จึงผิด ประโยคนี้จึงถูก และมักใช้เป็นหนึ่งในเกณฑ์การวัดความเชี่ยวชาญทางภาษาซึ่งเราก็เจอในหลายๆแบบทดสอบทั้งของนานาชาติ (TOEIC, TOEFL, IELTS) และที่นิยมมากคือการทดสอบในประเทศไทย เด็กไทยเราเลยเก่ง grammar แต่สื่อสารไม่ได้ (เวรกรรม T-T... อดบ่นไม่ได้ ที่จริงเราแก้ได้ด้วยการให้เด็กเราหัดพูดมากขึ้น) แต่ทั้งนี้การเรียนรู้กฏไวยากรณ์ทางภาษาก็ยังสำคัญมากๆ หากต้องการยกระดับความเชี่ยวชาญมากขึ้น ถึงขนาดเขียนและพูด ได้อย่างไม่อายฝรั่งที่ได้รับการศึกษาดีๆ เลยเชียว
2
แล้วกรณีที่รู้แต่หลักไวยากรณ์หล่ะ ฮะฮะ อยากจะบอกว่าผู้เขียนเคยใช้ประโยคนี้ค่ะ I’m hot. คืออยากจะบอกว่าฉันรู้สึกร้อน ฝรั่งมองหน้าแล้วยิ้ม ตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงผิดเพราะมันถูกหลัก grammar นี่น่า คนที่เข้าใจเห็นได้ชัดว่าใช้ผิดใช่ไหมหล่ะ เพราะจริงๆต้องใช้ว่า It’s hot. เพราะสิ่งที่ร้อนจริงๆ คือ อากาศ ค่ะ จะเห็นได้ว่าเราต้องเข้าใจการใช้คำศัพท์และบริบททางวัฒนธรรมด้วย เพราะการพูดว่า I’m hot จริงๆ แล้วเป็นการชมตัวเองว่าฉันนั้นช่างมีเสน่ห์ร้อนแรง ^_^
การใช้ภาษาอังกฤษให้ถูกต้องเชี่ยวชาญ ต้องอาศัยความเข้าใจทั้ง 3 ข้อดังที่กล่าว คือ องค์ประกอบทางภาษาและคำศัพท์ กฏการใช้(กฏไวยากรณ์) และความเข้าใจบริบททางวัฒนธรรม มาประกอบ หากใครเรียนๆไปแล้วงง เริ่มหลงทาง จับต้นชนปลายไม่ถูก ดูคลิปดูวีดีโอเยอะแยะก็ไม่แน่ใจว่าเค้าพูดถึงเรื่องอะไรกัน กลับมาคิดถึงหลักการ 3 ข้อนี้ค่ะ จัดมันให้เป็นหมวดหมู่ ว่าสิ่งที่เราเรียนรู้มาเป็นเรื่องอะไรอยู่ในหมวดไหนกันแน่ค่ะ แล้วเราจะไม่รู้สึกว่าเรื่องมันเยอะหรือยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ จับหลักการแล้วค่อยๆ เติมรายละเอียดก็จะไม่งงค่ะ
1
เอาหล่ะพอหอมปากหอมคอ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเริ่มมองภาพออกว่าการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้รวดเร็วนั้นควรทำความเข้าใจเรื่องอะไรบ้าง แต่บอกเคล็ดลับนิดนึงว่า เริ่มไปทีละข้อค่ะ ถ้าเราเริ่มเข้าใจองค์ประกอบหลักและรู้คำศัพท์มากพอที่จะสื่อสารได้แล้ว เดี๋ยวเราจะเริ่มสนใจเรื่องกฏการใช้และบริบททางวัฒนธรรมเอง
โพสแรกขอปูพื้นฐานความเข้าใจไปก่อนนะคะ Post ต่อไปจะแบ่งปัน “เคล็ดลัด ที่ไม่ลับ” ให้ค่ะ ว่าเรียนภาษาอังกฤษอย่างไรให้ “เข้าใจ สอบได้ ใช้เป็น”
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านคะ มีข้อสงสัย หรือติชมก็ทักทายกัน หรือทิ้งคอมเมนท์ไว้ได้เลยค่ะ ยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น
ขอบคุณภาพดีๆจาก pixels.com
เนื้อความในบทความนี้เขียนขึ้นจากความเข้าใจและประสบการณ์ส่วนตัวในการเรียนภาษาอังกฤษ การอยู่ต่างประเทศนานหลายปี และการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษมามากกว่า 5 ปี ของผู้เขียนเอง ขอรับรองว่าไม่ได้คัดลอกส่วนใดมาจากเว็ปเพจ บล็อก หรือหนังสือใดๆทั้งสิ้น
ใครอยากเอาไปใช้ก็ได้ค่ะไม่หวง แค่อ้างอิงที่มาให้หน่อยก็พอ
อยากให้คนไทยเก่งหลายๆภาษา เราจะได้รับรู้ข้อมูล เรียนรู้เรื่องราวรอบโลกได้อย่างไร้ขีดจำกัดค่ะ
โฆษณา